คิดเห็นแชร์ : รับมือตลาดเงินปี 2020 ด้วยกลยุทธ์ใหม่ ได้อะไรมากกว่าที่คิส

Income Investor หรือนักลงทุนที่นำรายได้จากสินทรัพย์มาเป็นค่าใช้จ่าย คงจะชินกับการถือพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้เอกชน แต่จะทำอย่างไร ถ้าผลตอบแทนกำลังลดต่ำลง ขณะที่ความเสี่ยงกลับเพิ่มสูงขึ้น

คำถามนี้เป็นโจทย์หลักในงานสัมมนา PIMCO Income Strategy Outlook เมื่อสัปดาห์ก่อน จัดขึ้นโดย บลจ.PIMCO หนึ่งในผู้บริหารสินทรัพย์ที่เชี่ยวชาญด้านการลงทุนในตราสารหนี้มากที่สุดของโลก

ผู้จัดการกองทุนอย่าง ดร.อัลเฟรด มูราต้า (Alfred Murata) บินตรงจากแคลิฟอร์เนียมาให้มุมมองถึงกรุงเทพฯ จึงขอนำบางส่วนของการสัมมนามาแชร์ พร้อมกับการวิเคราะห์ในมุมมองของผม

ประเด็นที่น่าสนใจคือ PIMCO เชื่อว่าตลาดจะผันผวนขึ้น ขณะที่ผลตอบแทนในตราสารหนี้จะลดลง เพราะไม่เชื่อว่าความวุ่นวายในตลาดการเงินจะมีบทสรุปในปี 2020 ขณะที่ยีลด์ปัจจุบันแม้จะต่ำมาก แต่อาจลดลงอีก ด้วยเหตุผลหลักสี่ข้อ คือ

Advertisement

(1) ความไม่แน่นอนจากการค้าโลก ส่งผลให้นักลงทุนไม่อยากรับความเสี่ยงและเข้าถือบอนด์ (2) นโยบายการเงินทำได้แค่ลดดอกเบี้ย หรือเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในระบบ ซึ่งจะทำให้เกิด (3) ภาวะผลตอบแทนต่ำต่อเนื่อง แต่ (4) ราคาสินทรัพย์เสี่ยงจะไม่ปรับฐานเพราะ “ถูก” เมื่อเทียบกับบอนด์ แต่ก็ขึ้นไม่ได้เพราะ “แพง” เมื่อเทียบกับอดีต

ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แค่ยืนยันว่านักลงทุนสถาบันใหญ่ในสหรัฐ ก็มองไม่เห็นผลตอบแทนที่สูงขึ้นในปีหน้า     ถ้าอยากได้ความปลอดภัยก็ต้องลดยีลด์ แต่ถ้าอยากได้ยีลด์ก็ต้องยอมรับความเสี่ยง

แล้วความเสี่ยงแบบไหนที่ควรรับ หรือไม่ควรรับ? PIMCO ให้มุมมองที่รับได้กับ “ความซับซ้อน” ของผลตอบแทน มากกว่า “ดูเรชั่น” หรือ “เครดิต”

Advertisement

ดร.มูราต้าให้เหตุผลว่าความเสี่ยงปกติของตราสารหนี้มีปัญหา เนื่องจากตลาดมองดอกเบี้ยในอนาคตต่ำเกินไปส่งผลให้ดูเรชั่นหรืออายุที่เพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ “ได้ไม่คุ้มเสี่ยง” เช่น ยีลด์เฉลี่ยของบอนด์ทั่วโลก       (วัดจาก Bloomberg Barclays Global Aggregate) ที่ดูเรชั่น 7.1 ปี มีผลตอบแทนเพียง 1.3% หรือคิดเป็นยีลด์ต่อปีเพียง 0.18% ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ทำให้ “คุ้มกว่า” ที่จะลงทุนแค่ระยะสั้นและรอให้ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นก่อน

ความเสี่ยงถัดมาอย่างเครดิตก็ดูน่ากลัวเกินไป เพราะบริษัทในฝั่งสหรัฐ มีหนี้สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ มูลค่าของตลาดเครดิตปรับตัวขึ้นจาก 2.5 มาเป็น 6.9 ล้านล้านเหรียญ อัตราส่วนหนี้ต่อทุนสูงขึ้นจาก 1.8 เท่าเป็น 2.7 เท่า และกว่าครึ่งเป็นแค่เรตติ้งระดับ BBB ซึ่งไม่ปลอดภัยถ้าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

การลงทุนที่ PIMCO แนะนำจึงเป็นตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS)

แม้ผลตอบแทนจะซับซ้อนกว่าบอนด์เพราะมีเรื่องการจ่ายเงินต้นคืนก่อนกำหนด แต่เมื่อเทียบกับยีลด์ที่ต่ำเตี้ยทั่วตลาด MBS จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ถึง 0.8% อีกทั้ง MBS เป็นสินทรัพย์ที่เคลื่อนไหวใกล้เคียงกับพันธบัตรรัฐบาลมากที่สุดในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐเข้าใกล้ภาวะถดถอย เรียกว่าทั้งลดความผันผวนและเพิ่มผลตอบแทนได้พร้อมกัน

ส่วนนักลงทุนฝั่งเอเชียอย่างผม มีทั้งเห็นต่างและเห็นด้วยกับ ดร.มูราต้า

อย่างแรก ถ้าไม่ใช่คนที่มีต้นทุนเป็นดอกเบี้ยสหรัฐ การเปรียบเทียบผลตอบแทน MBS กับบอนด์ยีลด์จะเป็นสิ่งที่ไม่ตรงไปตรงมาทันที

เนื่องจากยีลด์ที่ได้จาก MBS มักนิ่ง ไม่ต่างจากดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคาร

อย่างที่สอง ไม่ใช่การลงทุนที่ใช้ประโยชน์จากนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างเต็มที่ เพราะถ้าเชื่อว่าเศรษฐกิจถดถอยไม่เกิดขึ้น สภาพคล่องที่สูงก็จะกดดันให้เกิดการชำระเงินต้นของ MBS เร็ว เครดิตอาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่า

แต่ถ้าเชื่อว่าวิกฤตเกิดแน่ ขณะที่นโยบายการเงินจะผ่อนคลายด้วย ดีที่สุด อาจเป็นการทนถือพันธบัตรรัฐบาลไปก่อน แล้วค่อยกลับมาที่ MBS เมื่อดอกเบี้ยถึงระดับต่ำสุดไปแล้ว

สิ่งที่ผมเห็นตรงกับ PIMCO คือเรื่ององค์ประกอบของผลตอบแทน เพราะปี 2020 น่าจะเป็นปีที่การลงทุนแบบปกติให้ยีลด์ไม่ได้เหมือนปกติ

ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลแทบจะเท่ากันทุกช่วงอายุ เหมือนผลไม้ที่ถูกคั้นน้ำออกไปแล้ว ไม่ว่าจะมองมุมไหน      นักลงทุนสาย Income ต้องปรับตัว ถ้ารับความเสี่ยงได้น้อย อาจลองเพิ่มระดับความเสี่ยงไปถือ MBS หรือตราสารหนี้ของหน่วยงานภาครัฐ ถ้ารับความเสี่ยงด้านสภาพคล่องได้ ก็จะมีตัวเลือกเพิ่มเติม กองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือสินทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาด แต่ถ้ารับความเสี่ยงของตลาดทุนได้ ก็อาจได้เวลามองหาหุ้นปันผลมาแทนที่ตราสารหนี้ดูบ้าง

หลายคนที่ไม่เคยออกจากพันธบัตรรัฐบาล อาจรู้สึกเสี่ยง และบางคนได้ยินชื่อ MBS ก็อาจกลัวเพราะชวนให้นึกถึงวิกฤตปี 2008 แต่ผมเชื่อว่าการไม่รับความเสี่ยงก็มีต้นทุน ทางที่ดีที่สุดจึงไม่ใช่การเอาแต่หนี แต่ต้องเปิดใจลองลงทุนแบบใหม่ดูบ้าง อย่างน้อยก็ได้ประสบการณ์เพิ่มขึ้นแน่นอน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image