สหรัฐตัดสิทธิ ‘จีเอสพี’ กุ้งส่งออกไทยวูบ 2 หมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม นายเอกพจน์ ยอดพินิจ ที่ปรึกษาประธานหอการค้าสุราษฎร์ธานี และที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้ง จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นนักธุรกิจเลี้ยงกุ้ง เปิดเผยว่า การประกาศตัดสิทธิภาษี (จีเอสพี) สินค้าส่งออกของไทยจากประเทศสหรัฐอเมริกา จะส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทย เนื่องจากปัจจุบันไทยส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าส่งออกถึงร้อยละ 40 ของสินค้าส่งออกทั้งประเทศหรือประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเมื่อไทยถูกตัดสิทธิทางภาษีจีเอสพี จะส่งผลต่อการแข่งขันกับประเทศเวียดนาม เนื่องจากจะทำให้สินค้าจากไทยมีราคาสูงกว่า และแน่นอนการส่งออกจะลดน้อยลง และส่งผลกระทบต่อเกษตรผู้เลี้ยงกุ้งอย่างแน่นอน

นายเอกพจน์กล่าวว่า ก่อนนี้รัฐบาล คสช.เราต้องเผชิญกับการกีดกันทางการค้ามาครั้งหนึ่งแล้ว หลังถูกสหรัฐประกาศลดระดับมาตรฐานการค้ามนุษย์ โดยอ้างเหตุการใช้แรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมการประมง ซึ่งรัฐบาล คสช.ได้เข้าใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดจนสามารถปลดล็อกและยกระดับให้อยู่ในระดับเทียร์ 2+ และถือว่าดีที่สุดในรอบ 9 ปี จนสหรัฐไม่สามารถนำไปกล่าวอ้างเพื่อกีดกันทางการค้าได้

“การตัดสิทธิภาษีจีเอสพีของสหรัฐในครั้งนี้โดยการอ้างคุณภาพแรงงานมองว่าเป็นการใช้เทคนิคเพื่อกีดกันทางการค้า อย่างที่รัฐบาลสหรัฐเคยใช้กับหลายๆ ประเทศที่ได้ดุลการค้าต่อเนื่อง ทางที่ดีรัฐบาลไทยต้องก้าวเดินด้านนโยบายอย่างระมัดระวัง และใช้โอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียน นำปัญหานี้เข้าร่วมมือกับประเทศสมาชิกให้เป็นหนึ่งและเข้มแข็งอย่างกลุ่มอียู เพราะเชื่อว่าหากทำกับไทยสำเร็จ สหรัฐก็จะทำกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ อีก โดยเฉพาะช่วงนี้ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ เรายิ่งต้องระวังตัว” นายเอกพจน์กล่าว

นายเอกพจน์กล่าวอีกว่า ก่อนนี้หน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ มีประเด็นเกี่ยวกับการใช้แรงงานในโรงงานเถื่อนเพื่อแกะเปลือกทำความสะอาดกุ้ง ก่อนเข้าโรงงานแปรรูป เพื่อลดภาระทางด้านแรงงาน แต่ปัจจุบันทุกโรงงานจะต้องมีโรงงานแกะเปลือกทำความสะอาดกุ้งด้วยตัวเอง และแรงงานทุกคนต้องเข้าสู่ระบบจัดการแรงงานที่ถูกต้องทางกฎหมาย จึงมั่นใจว่าปัจจุบันประเทศไทยไม่มีปัญหาด้านการจัดสวัสดิภาพแรงงานตามที่สหรัฐกล่าวอ้าง และเชื่อว่านี่คือสงครามทางเศรษฐกิจที่สหรัฐกำลังกดดันไทย ซึ่งเป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่รัฐบาลไทยมีมติแบนสารเคมี 3 ชนิดที่นำเข้าจากสหรัฐ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image