เอกชนเผยปีนี้ส่งออกข้าวไทยได้แค่ 9 ล้านตัน

นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี.) เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวของไทยในปี 2562/63 คาดว่าจะทำได้ 8.5-9 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายทั้งปีที่คณะกรรมการข้าวครบวงจรกำหนดไว้ที่ 10 ล้านตัน ทั้งนี้ เป็นเพราะไทยถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากประเทศคู่แข่ง อาทิ อินเดีย ที่มีผลผลิตมาก สามารถส่งออกข้าวนึ่งได้มากขึ้น, ปากีสถาน เมียนมา ส่งออกปลายข้าวขาวได้มากขึ้น และเวียดนามส่งออกข้าวหอมในราคา 400-500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งต่ำกว่าไทยที่มีราคาสูงกว่าอยู่ที่ 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จากราคาข้าวหอมมะลิที่มีราคา 1,100-1,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ทำให้เวียดนามขณะนี้เข้าไปเจาะตลาดข้าวหอมในแอฟริกาและตะวันออกกลาง อย่างสมบูรณ์แบบไปแล้ว

นายสุเมธ กล่าวต่อว่า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้านการแข่งขันของไทย รัฐบาลต้องให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มให้มากขึ้น เพื่อใช้ปลูกแทนข้าวขาว ที่ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มไม่ต้องการแล้ว โดยเรื่องนี้เวียดนามได้เตรียมพร้อมมานานกว่าไทย มีการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์และส่งเสริมให้ปลูกแทนข้าวขาวไปแล้วกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังได้ตั้งเป้าจะส่งออกปี 2562/63 ให้ได้ 3 ล้านตันเพิ่มขึ้น จากปีนี้ที่จะส่งออกได้ 2.5 ล้านตัน อีกด้วย

นายสุเมธ กล่าวต่อว่า ในส่วนของไทยมีข้อได้เปรียบเรื่องความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์ที่มากกว่า แต่พันธุ์เหล่านั้นต้องนำมาปรับปรุง อย่างข้าวพันธุ์ กข.79 มีความเหมาะสมที่จะนำมาปลูกในพื้นที่ภาคกลาง แต่ขณะนี้เมล็ดพันธุ์ยังมีจำกัด ซึ่งมั่นใจว่าศักยภาพของไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านข้าว ยังพอจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ทันประเทศคู่แข่ง

“ข้าวเวียดนามและกัมพูชา เป็นข้าวหอมปานกลาง อร่อยสู้ของไทยไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถเจาะตลาดสหรัฐได้ ดังนั้น ไทยต้องทำแบรนด์ดิ้ง ใช้ข้าวหอมมะลิเป็นตัวผลักดันคู่กับการโฆษณาอาหารไทย เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษ์ที่ดี วิธีการนี้จะทำให้ผู้บริโภครู้จักและเชื่อมั่นในข้าวไทยมากขึ้น” นายสุเมธกล่าว

Advertisement

สำหรับ มูลค่าการส่งออกข้าวในขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ แต่ในเบื้องต้นพบว่าได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า เป็นไปได้ที่ปีนี้มูลค่าการส่งออกจะลดลง ขณะที่ผลผลิตข้าวของไทยในปี 2562/63 ในส่วนของข้าวหอมมะลิคาดว่าจะมีประมาณ 8.4-8.5 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงเล็กน้อยจากน้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่นาข้าวภาคเหนือและอีสาน เสียหาย 1 ล้านไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่อุบลราชธานีพบว่ามีความเสียหายโดยสิ้นเชิง ส่วนการส่งออกข้าวในปี 2563/64 ยังน่าเป็นห่วงเพราะคาดว่าจะต้องเจอกับปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกับปี 2562

นายสุเมธกล่าวว่า ในส่วนของข้าวตราฉัตร ในปี 2562/63 มีการส่งออก 1 ล้านตัน อยู่ในอันดับที่ 4-5 ของการส่งออกทั้งหมด มีส่วนแบ่งการตลาด 4-5 เปอร์เซ็นต์ และเป็นผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิอันดับ 1 ของไทย มูลค่าการส่งออกรวม 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2563/64 คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น 10-15 % โดยจะเพิ่มการทำตลาดข้าวหอมให้มากขึ้นตามความต้องการของตลาด จากปัจจุบันการส่งออกของข้าวตราฉัตรมีสัดส่วนข้าวหอมมะลิประมาณ 5 แสนตัน ที่เหลือเป็นข้าวหอมปทุมธานี ประมาณ1-2 แสนตัน ข้าวนึ่ง 2 แสนตัน ปลายข้าวหอมมะลิ 6-7 หมื่นตัน และข้าวเหนียว 4-5 หมื่นตัน

ขณะที่การขายข้าวตราฉัตรตลาดในประเทศ มีมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เป็นผลจากแผนเชิงรุก เน้นข้าวสุขภาพมากขึ้น โดยข้าวกข.43 มาแรงมาก ส่วนการรับซื้อผลผลิตข้าวจากเกษตร บริษัทยังใช้วิธีการส่งเสริมเกษตรกรร่วมกับกรมการข้าวเพื่อควบคุมการใช้พันธุ์และกระบวนการเพาะปลูกทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพและปริมาณที่สอดคล้องกับความต้องการ

อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิตข้าวในอนาคตไทยต้องเตรียมพร้อมในด้านความยั่งยืน ที่คาดว่าต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ จะหยิบมาใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้า กรณีการทำนาของไทยยังปล่อยก๊าชมีเทนที่มากกว่าประเทศอื่นๆ อาทิ ญี่ปุ่น เป็นต้น ดังนั้น ไทยต้องปรับวิธีการทำนาใหม่ หากสหรัฐฯประกาศใช้เป็นมาตรการคาดว่าประเทศอื่นๆ จะดำเนินการตามไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image