นักวิเคราะห์ชี้ สหรัฐตัดสิทธิจีเอสพีไทย ไม่กระทบหุ้นไทยบางกลุ่ม

นายเอนกพงศ์ พุทธาภิบาล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า กรณีสหรัฐอเมริกาประกาศตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) ในสินค้าไทย จำนวน 573 รายการ อาทิ อาหารทะเล ผัก ผลไม้ น้ำตาล อุปกรณ์เครื่องครัว ซึ่งมีมูลค่ากว่า1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563 เป็นต้นไป โดยจากการที่ได้สอบถามไปยังบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อมูลและคำตอบว่า การที่สหรัฐตัดสิทธิจีเอสพีไทยไปนั้น ไม่ได้กระทบกับหุ้นในกลุ่มเกษตรและอาหารของไทย

นายเอนกพงศ์กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยได้ติดต่อสอบถามไปยัง บจ.ที่เกี่ยวข้องพบว่า แทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิดังกล่าวเลย อาทิ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ใช้สิทธิจีเอสพีในกลุ่มสินค้าทูน่า กุ้ง อาหารสัตว์เลี้ยง ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯอยู่แล้ว สอดคล้องกับที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ใช้สิทธิจีเอสพีในการส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐเช่นเดียวกัน ในขณะที่บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือเอสทีเอ เปิดเผยว่า ก็ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะยางพาราและถุงมือยางไม่ได้ถูกตัดสิทธิจีเอสพี และการส่งออกไปขายในสหรัฐ ปัจจุบันก็ไม่ได้เสียภาษีดังกล่าวด้วย ส่วนบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือเคเอสแอล ได้เปิดเผยว่า แม้สินค้าประเภทน้ำตาลและน้ำเชื่อมจะโดนตัดสิทธิจีเอสพีไป แต่ในปัจจุบันเคเอสแอลก็ได้ส่งออกน้ำตาลไปยังสหรัฐน้อยมาก คิดเป็น 1,000 ตันต่อปี หรือแค่ 0.1% ของรายได้รวมทั้น โดยลูกค้าหลักของเคเอสแอลคือประเทศในแถบเอเชีย อาทิ จีนและอินโดนีเซีย

นายอเนกพงศ์กล่าวว่า สำหรับสงครามการการค้าระหว่างสหรัฐและจีน (เทรดวอร์) ที่มีความผ่อนคลายมากขึ้น จากการเจรจาทางเทคนิคในบางส่วนของข้อตกลง เป็นไปได้อย่างเรียบร้อย โดยสหรัฐจะนำเข้าไก่ปรุงสุกและผลิตภัณฑ์ปลาดุกจากจีน ในขณะที่จีนจะยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าสัตว์ปีกจากสหรัฐฯ ทำให้ประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไก่ไทยจำกัด ซึ่งคาดว่าบริษัท จีเอฟพีที จำกัด หรือจีเอฟพีที จะมีรายได้จากการส่งออกชิ้นส่วนไก่ไปจีนเพียง 3% ของรายได้รวม ส่วนบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทีเอฟจี จะมีรายได้เพียง 2% ของรายได้รวม และซีพีเอฟจะมีรายได้เพียง 0.1% ของรายได้รวม เนื่องจาดแม้จะมีคู่แข่งในการส่งออกไก่ไปจีนเพิ่มขึน้ แต่ตลาดหลักกว่า 85% ในการส่งออกไก่ของไทยคือญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป

“คาดว่าปัจจุบันประเทศไทยจะมีการส่งออกไปจีนประมาณ 5 หมื่นตันต่อปี หรือ 5% ของปริมาณการส่งออกไก่ของไทยทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นสินค้าผลิตภัณฑ์พลอยได้ของไก่ เช่น เท้าไก่ และปีกไก่ ซึ่งเป็นสินค้าที่ประเทศจีนต้องการมากที่สุด โดยล่าสุดประเทศจีนก็กำลังตรวจโรงงานชำแหละไก่ในไทยเพิ่มเติมอีก 19 โรงงาน ซึ่งหากผ่านมาตรฐานก็จะอนุมัติให้ส่งออกไก่สดแช่แข็งและชิ้นส่วนไก่สู่จีนได้ จากปัจจุบันที่ไทยได้รับอนุมัติให้ส่งออกไก่สดแช่แข็งไปจีนได้แล้ว 7 โรงงาน” นายอเนกพงศ์กล่าว

Advertisement

นายอเนกพงศ์กล่าวว่า ทำให้ตลาดส่งออกไก่ยังดูดี และต้นทุนปลาทูน่าลด ซึ่งจะเป็นแรงส่งหลักของกำไรบจ.ไทยในปี 2562-2563 โดยคาดว่ากำไรจากการดำเนินงานในปี 2562 จะฟื้นตัวถึง 31.5% ส่วนปี 2563 จะฟื้นตัว 21.4% จากธุรกิจการส่งออกไก่และสุกรฟื้นตัว ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ยังได้ผลบวกจากต้นทุนวัตถุดิบปลาทูน่าที่ปรับลดลงด้วย และล่าสุดยังเห็นสัญญาณบวกจากราคาหมูในเวียดนาม ที่ฟื้นตัวถึง 80% ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลบวกต่อธุรกิจหมูในเวียดนามของบริษัทฯบจ.ไทยด้วย

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image