ปธ.สมาคมแบงก์มองโอกาส กำเนิด ‘5จี’ ไทย

เริ่มเห็นเค้าโครงเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น สำหรับการเดินหน้าขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5จี จะเป็นโครงการสร้างพื้นฐานใหม่รองรับการขยายตัวเศรษฐกิจที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญเพิ่มมากขึ้น

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมรายชื่อคณะกรรมการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5จี แห่งชาติ นำเสนอต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และจะมีการเปิดเผยราคาเริ่มต้นการประมูลของคลื่นจะนำมาใช้รองรับ 5จี วันที่ 30 ตุลาคม 2562 นี้

สำนักงาน กสทช.ตั้งเป้าหมายช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จะมีการเปิดประมูลคลื่น เป็นการประมูล 4 คลื่น พร้อมกัน ได้แก่ 700 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ คาดได้ผู้ชนะการประมูลและออกใบอนุญาต 5จี ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ก่อนเริ่มลงทุนโครงข่ายในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563 และจะเริ่มเปิดให้บริการ 5จี ในบางพื้นที่ช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ที่มีความต้องการได้

หาก 5จี เกิดขึ้นได้ตามแผนงานดังกล่าว สำนักงาน กสทช.คาดว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจาก 5จี ในช่วงปี 2563-2578 จากการคำนวณผลจากงานวิจัยของ IHS Makrit ในปี 2578 จะอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาท

Advertisement

ภาคธุรกิจจะมีมูลค่าเพิ่มมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต การค้าและการเงิน และโทรคมนาคม ตามลำดับ และรองลงมา อาทิ บริการสาธารณะ การขนส่ง การศึกษา การแพทย์ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการนำ 5จี มาใช้ก่อเกิดประโยชน์ต่อภาคการเงิน เช่นเดียวกับภาคส่วนอื่น “มติชน” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ปรีดี ดาวฉาย” ประธานสมาคมธนาคารไทย ถึงมุมมองการเดินหน้าขับเคลื่อน 5จี ของประเทศไทย

ปรีดี แสดงความเห็นว่า คาดหวังว่าประเทศไทยจะมีการนำเทคโนโลยี 5จี เข้ามาใช้ได้โดยเร็ว เพราะปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปจากเดิมต้องใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ หากธุรกิจหรือประเทศใดไม่ปรับตัวเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยี จะไม่สามารถแข่งขันได้ในโลกยุคใหม่ ขณะนี้ประเทศไทยได้เปรียบและมีความพร้อมหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในเดินหน้าขับเคลื่อนไปสู่ 5จี และจังหวะนี้เป็นจังหวะเหมาะสม ประเทศไทยก็มีศักยภาพและความพร้อม ในส่วนรัฐบาล และ กสทช.เดินหน้าผลักดันอย่างเต็มที่ ขณะที่ผู้ให้บริการเครือข่าย (โอเปอเรเตอร์) เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะเติบโตไปข้างหน้าพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตื่นตัว รวมทั้งประชาชนในปัจจุบันมีความรู้และพร้อมที่จะใช้บริการ

Advertisement

“ประเทศไทยมีความได้เปรียบเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจมายาวนานหากเทียบประเทศเพื่อนบ้านอื่นในอาเซียน ช่วงก่อนหน้าการส่งออกของไทยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ แต่พอมาช่วงหลังการเติบโตของการส่งออกชะลอลง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นมีการส่งออกมามากขึ้น ด้านค่าจ้างแรงงานของไทยปรับสูงขึ้น แต่เพื่อนบ้านได้เปรียบจากค่าจ้างแรงงานถูก ทั้งนี้ เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในอดีตมีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในไทยสูงแต่ทุกวันนี้เม็ดเงินเข้ามาในไทยน้อย และทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงไป ภาพที่เกิดขึ้นทำให้ต้องกลับมามองโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยทั้งระบบว่าต้องมีการปรับปรุง พัฒนาด้านใดเพิ่มเติม เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ก็จะเห็นได้ว่ามีเรื่อง 5จี ที่เป็นความหวัง หากมีการปรับเปลี่ยนไปสู่ 5จี จะช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจได้ประโยชน์ ยกระดับความสามารถการแข่งขันขึ้นมาอีกระดับหนึ่งในยุคที่เป็นเศรษฐกิจดิจิทัล” ปรีดี ระบุ

ปรีดี กล่าวว่า ทุกวันนี้เราคุ้นเคยกับการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์มากขึ้น เพราะพร้อมเพย์มาเปลี่ยนรูปแบบการโอนเงินให้ง่ายและสะดวกมากขึ้น เช่นเดียวกับ 5จี ที่มีศักยภาพและความสามารถใช้ประโยชน์ได้มากมาย 5จี จะก้าวกระโดดจากเทคโนโลยี 4จี ในปัจจุบัน ทั้งความเร็วความสามารถในการรับส่งข้อมูล การเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก จะทำให้เกิดอินเตอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (ไอโอที) การพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ทำให้เกิดรถยนต์ไร้คนขับได้ จากที่เคยทำไม่ได้ หากผู้ประกอบการธุรกิจใช้ประโยชน์จาก 5จี จะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของประเทศให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้

ในส่วนของภาคการเงินได้ประโยชน์จากการส่งข้อมูลต่างๆ รวดเร็วขึ้น โดยปรีดีระบุ ต่อไปการเปิดบัญชีใหม่ไม่จำเป็นต้องไปธนาคาร สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นและยืนยันตัวตนได้ จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เคยให้กับธนาคารใดธนาคารหนึ่งไว้ และต่อยอดนำประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นพัฒนาบริการทางการเงินแก่ลูกค้า และนำมาพัฒนาระบบการบริหารต่างๆ ในองค์กร ทำให้ต้นทุนลดลงไปได้
อย่างไรก็ดี การเดินหน้า 5จี เรื่องที่เป็นประเด็นที่โอเปอเรเตอร์จับตาใกล้ชิด คือ ราคาประมูลว่าจะเป็นอย่างไร เพราะโอเปอเรเตอร์แต่ละรายต่างยังมีภาระการลงทุนก่อนหน้านี้อยู่เป็นทุนเดิม ประเด็นนี้ปรีดียืนยันว่า ภาคการเงินพร้อมจะเป็นแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการที่จะประมูลคลื่น รวมทั้งการลงทุนพัฒนาโครงข่ายรองรับ

ปรีดี กล่าวทิ้งท้ายว่า จะต้องผลักดัน 5จี ให้เกิดขึ้น เพราะหากช้ากว่านี้จะเกิดความเสียหาย ปัจจุบันผู้บริโภคมีความรู้และพร้อมที่จะรับเทคโนโลยีใหม่ ขณะที่ภาครัฐออกมารุกมากขึ้น ส่วนโอเปอเรเตอร์พร้อมลงทุน แต่ก็ต้องพิจารณาเพราะราคาประมูลที่สูงเกินไปก็ต้องส่งผ่านไปยังค่าบริการ ไปยังผู้บริโภค ผู้บริโภคไม่อยากจ่าย การนำไปใช้ไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ทุกอย่างต้องอยู่ในระดับที่เกื้อกูลกันเพื่อให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้

ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของความคิดเห็นต่อการขับเคลื่อน 5จี ของประเทศ ผู้สนใจสามารถเข้ารับฟังแนวคิดจากตัวแทนภาครัฐและเอกชนได้ในการเสวนา “Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN” ในวันพุธที่ 30 ตุลาคม 2562 เวลา 08.30-12.30 น. ณ ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image