‘ฐากร’ ชงปัญหา-อุปสรรค 4 ข้อต่อคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จีแห่งชาติ คาดประมูล 16 ก.พ.ปีหน้า มั่นใจเปิดบริการ ก.ค.63 (ชมคลิป)

‘ฐากร’ชงปัญหา-อุปสรรค 4 ข้อต่อคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จีแห่งชาติ คาดประมูล 16 ก.พ.ปีหน้า มั่นใจเปิดบริการ ก.ค.63

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม เวลา 10.20 น. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)กล่าวในงานสัมมนา Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ จัดโดยเครือมติชนว่า พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กำกับดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ให้นโยบายมาแล้วว่า 5จีต้องเกิดขึ้นภายในปี2563 ให้ได้ และก่อนที่ 5 จีจะเกิดขึ้น กสทช.รวบรวมปัญหาอุสรรค 4 ข้อ ที่เป็นอุปสรรคทำให้ 5จีไม่เกิดในไทย ประกอบด้วย 1.ราคาประมูลคลื่นความถี่ที่สูงเกินไป 2.กฎกติกาไม่เอื้ออำนวยให้เอกชนลงทุน 3.การใช้งาน 3จี และ4จี ยังไม่เต็มประสิทธิภาพของระบบ และ4.การทำงานของหน่วยงานภาครัฐหรือรัฐบาลยังไม่ทำงานเชิงรุกที่จะทำให้ 5จีเกิดขึ้นในไทย ซึ่งกสทช.นำเสนอปัญหาและอุปสรรค 4 ข้อต่อคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ซึ่งปัญหาและอุปสรรคทั้ง 4 ข้อดังกล่าวไทยต้องผ่านให้ได้ เพื่อก้าวไปถึง Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN และทำให้เอกชนสนใจเข้ามาร่วมประมูล

“ขณะนี้การจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จีแห่งชาติ กำลังอยู่ระหว่างการเสนอรายชื่อคณะกรรมการ มีรัฐมนตรีกระทรวงเกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวกำหนดนโยบายและเข้าไปดูแผนการลงทุนและการใช้ประโยชน์ 5จี เพื่อสนับสนุนให้ใช้งาน 5จี จากภารรัฐ สาธารณะสุข และภาคเศรษฐกิจต่างๆ ดังนั้นเอกชนไม่ต้องกังวลว่าประมูลไปแล้วจะไม่มีคนมาใช้งาน”นายฐากร กล่าว

นายฐากรกล่าวว่า สำหรับปัญหาอุปสรรคในข้อแรกเรื่องของราคาประมูลมองว่าสูงเกินไปไหม ผลการศึกษาเกี่ยวกับราคาเริ่มต้นหรือราคากลางพบว่าประมูลคลื่นความถี่ 2600 MHz(190MHz) มูลค่า 35,370 ล้านบาท มีจำนวน 19 ใบอนุญาตหรือเฉลี่ยราคาใบละ 1,862 ล้านบาท ส่วนความถี่ 26 MHz(2700MHz) มูลค่า 8,100 ล้านบาท มีจำนวน 27 ใบอนุญาต หรือเฉลี่ยราคาใบละ 300 ล้านบาท ซึ่งราคาดังกล่าวเป็นผลศึกษาจาก 4 สถาบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และมหาวิทยาลัยชาลเมอร์ส ออฟ เทคโนโลยี ของสวีเดน โดยเตรียมเสนอราคาดังกล่าวต่อที่ประชุมอนุกรรมการกลั่นกรองงานด้านโทรคมนาคม วันที่ 6 พฤศจิกายน เสนอคณะกรรมการกสทช. วันที่ 12 พฤศจิกายน เพื่อนำร่างประกาศไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

Advertisement

นายฐากรกล่าวว่า ในข้อ 2 กฎกติกาไม่เอื้ออำนวยให้เอกชนลงทุน ที่ผ่านมา กสทช ปรับเปลี่ยนกฎกติกา โดยจะมี Grace period ให้กับผู้ร่วมประมูลไม่ต้องชำระค่าประมูลเป็นระยะเวลา 3 ปี กำหนดไว้ว่าปีที่ 1 ให้ชำระค่าประมูล 10% ปีที่ 2-4 ไม่ต้องจ่าย ปีที่ 5 -10 จ่าย 15% แต่มีเงื่อนไขคือต้องนำเงินที่ไม่ต้องจ่ายไปลงทุน เช่น ลงทุนในอีอีซี 50% ของพื้นที่อีอีซี ภายใน 1 ปี และลงทุนในพื้นที่สมาร์ทซิตี้50% ของประชากรในสมาร์ตซิตี้ ภายใน 4 ปี โดยต้องเป็นเทคโนโลยีโดย 5จีที่ไปประมูลไป

นายฐากร กล่าวต่อว่า ส่วนข้อ 3 การใช้งาน 3จี และ 4 จี ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ พบว่า ไทย เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย การ์ตา เป็นประเทศที่ใช้ 4 จีเต็มประสิทธิภาพของระบบแล้ว โดยมีประเทศที่ยังใช้งาน 4จีไม่เต็มระบบแต่จะเปิดให้บริการ 5จี คือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ซึ่งถ้าดูการใช้งานดาต้าของไทย พบว่ามีค่าเฉลี่ย 9 GB ต่อคนต่อเดือน ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลอยู่ที่ 5 GBต่อคนต่อเดือน และเมื่อปี 2557 ไทยมีการใช้งานประมาณ 5 แสนเทราไบต์ ล่าสุดในปี2562 การใช้งาน 7.5 ล้านเทราไบต์ คิดเป็น 7,686 ล้านกิกะไบต์ ซึ่งพบว่าการใช้งานอินเตอร์เน็ต ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นกว่า 15 เท่า พบว่าหากประชาชนไปอยู่ในย่านที่มีการใช้งานหนาแน่น ทำให้การเข้าถึงระบบช้าลง ถ้าดูจากตรงนี้พบว่าคงไม่ประมูลไม่ได้แล้ว เพราะถนนต้องมีการขยายแล้ว

Advertisement

นายฐากร กล่าวต่อว่า สำหรับในข้อ 4 การทำงานองหน่วยงานภาครัฐหรือรัฐบาลยังไม่ทำงานเชิงรุกที่จะทำให้ 5จีเกิดขึ้นในไทย ที่ผ่านมากสทช. เดินหน้า 5จี มาโดยตลอด เราช้าได้ถ้าประเทศอื่นไม่เกิด เช่น ถ้าเวียดนามไม่เกิด มาเลเซียไม่เกิด ถ้าเขาเกิดจะทำให้มีการย้ายฐานการผลิต ทำให้ไทยถึงจุดวิกฤตทางเศรษฐกิจ โดยขณะนี้ภาครัฐกำลังเร่งจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี แห่งชาติ เพื่อดำเนินนโยบายในเรื่องการขับเคลื่อนเป็นการเฉพาะ ดังนั้นอยากให้เอกชนเข้าร่วมประมูล เพราะกสทช.ให้ผ่านทั้ง 4 ข้อแล้ว เมื่อรัฐบาลเดินหน้า 4 ข้อเต็มสูบ มั่นใจใจว่า 5จี จะเกิดขึ้นภายในไตรมาส 3 ของปี 63

นายฐากร กล่าวต่อว่า สำหรับกรอบเวลาทำงาน 5 จี ในวันที่ 6 พฤศจิกายน เสนอร่างประกาศต่อเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงาน วันที่ 12 พฤศจิกายน ผ่านที่ประชุม กสทช. เพื่อนำร่างไปเปิดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 13 พฤศจิกายน -12 ธันวาคม ซึ่งทุกคนสามารถเสนอความเห็นได้ หลังจากนั้นวันที่ 27 ธันวาคม ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา วันที่ 2 มกราคม 2563 ประกาศเชิญชวน วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ประมูลคลื่นความถี่ ออกใบอนุญาตปลายเดือนกุมภาพันธ์ และคาดว่าเปิดให้บริการภายในเดือน กรกฎาคม 2563

“อยากให้ 5จีเริ่มเปิดบริการเดือนกรกฎาคม 2563 เพราะญี่ปุ่นเปิดให้บริการ 5จี ในงานโอลิมปิกที่ญี่ปุ่น ดังนั้นอยากให้ไทยเปิดให้บริการเวลาเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันไทยต้องเดินหน้าให้เร็ว เพราะเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เดินหน้าขับเคลื่อน 5จี แล้ว ทราบมาว่า เวียดนามจัดสรรคลื่นแล้วเสร็จ แต่เพียงว่าขั้นตอนการเปิดให้บริการ ผมว่าไม่เป็นระบบเหมือนที่ไทยดำเนินการในขณะนี้”นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวต่อว่า ส่วนประโยชน์ของ 5จีจากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัย Surrey ของอังกฤษ ตั้งแต่ปี 2563-2573 จะมีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจปีละ 5.68% ของจีดีพีแบ่งเป็น 1.45% จากการใช้งานอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่ความเร็วสูง และ 4.23% จากระบบทำงานแบบอัตโนมัติ ซึ่งในส่วนของไทยขณะนี้เศรษฐกิจยังโตไม่ถึง 3% ดังนั้นถ้า 5 จีช่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ 5.68% ถือว่าสูงมาก นอกจากนี้ 5 จีทำให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้งานภาครัฐ ภาคเกษตร ภาคขนส่ง ภาสาธารณสุข ภาคการผลิต ซึ่งผลประโยชน์ไม่เฉพาะผู้ประกอบการโทรคมนาคมอย่างเดียว แต่ผลประโยชน์เกิดต่อประเทศไทยมหาศาล กสทช.และกระทรวงดีอีเอส อยากให้เกิดขึ้นในไทยเร็วที่สุด ถ้าเราช้าหรือหยุดอยู่กับแสดงว่าเราถอยหลัง ถ้าเราเดินหน้าเร็วแสดงว่าเราอยู่กับที่ ถ้าเดินหน้าเร็วที่สุดต้องเดินตามแผนกสทช. ข้างต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image