“สมชัย” เอไอเอส พร้อมหนุน 5จีไทย แม้ยังไม่ถูกเวลา แนะรัฐคิดใหม่แบ่งเงินประมูลคลื่นกลับมาลงทุน

“สมชัย” เอไอเอส พร้อมหนุน 5จีไทย แม้ยังไม่ถูกเวลา แนะรัฐคิดใหม่แบ่งเงินประมูลคลื่นกลับมาลงทุน

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เปิดเผยในงานสัมมนา “Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN จัดโดยเครือมติชน ที่ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ ว่า ขณะนี้ภาครัฐมีนโยบายที่ชัดเจนมากที่ต้องการผลักดัน 5จี ให้เกิดขึ้นในปี 2563 เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำอาเซียน เพราะหาก 5จี ไม่เกิดขึ้น ไทยจะตกขบวนรถไฟ จะเสียโอกาสและการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ซึ่งเอไอเอส ในฐานะเอกชนและผู้ให้บริการเครือข่าย(โอเปอเรเตอร์) พร้อมที่จะช่วยผลักดันและสนันสนุนให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม อย่างที่เคยให้ความเห็นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 ว่า 5จี ควรจะเกิดขึ้นของควรจะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือภายในปลายปี 2564 ควรจะเกิดขึ้นให้ถูกเวลา (Right Time) ถึงจะสามารถนำมาใช้และพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด โดยที่ผ่านมาเกาหลีใต้ได้เริ่มมีการทดสอบ 5จี โดยการติดตั้งอุปกรณ์บนเสาเดียวกับ 4จี แต่เมื่อศึกษาดูแล้วการติดตั้งเสา 5จี แบบสแตนด์อโลนน่าจะมีประสิทธิภาพดีกว่า ขณะที่ราคาของอุปกรณ์ 5จี ปีนี้ราคายังกว่า 300 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 10,000 บาท แต่หากปีหน้าราคาจะปรับลลงมาที่ 200 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6,000-8000 บาท และแนวโน้มราคาน่าจะลดลงอีก

นายสมชัย กล่าวว่า แม้ว่าไทยจะยังไม่ได้มีการนำ 5จี มาใช้ แต่โอเปอเรเตอร์ทุกรายได้เริ่มมีการทดสอบ 5จีไปแล้ว ยืนยันว่าไม่ได้ล่าช้าแต่อย่างใด โดยในส่วนของการนำ 5จี มาใช้ไม่น่าจะมีปัญหาแต่จะมีปัญหา เพราะการผลักดัน 5จี ของไทยเพื่อเป็นผู้นำในอาเซียนขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติท่ามกลางความผันผวนเศรษฐกิจทั่วโลก แต่กระบวนการคิดและการประมูลคลื่นของ กสทช. ยังคิดในรูปแบบปกติ หากพิจาณาตัวอย่างประเทศอื่นๆ รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ให้การสนับสนุนโอเปอเรเตอร์อย่างมหาศาล บางประเทศให้คลื่นฟรีเพื่อนำมาพัฒนา ทั้งนี้ โอเปอเรเตอร์ที่ลงทุนมากก็จะได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐด้วย สำหรับไทยด้วยข้อจำกัดของกฎหมายอาจจะไม่สามารถให้คลื่นฟรีเพื่อนำมาพัฒนาได้เพราะคลื่นความถี่เป็นสมบัติชาติต้องประมูล แต่การที่คิดแบบเดิมและมีการศึกษาราคาประมูลจากทั่วโลก ราคาที่ศึกษาออกมาก แม้ว่าราคาถูกกว่าราคาประมูลอื่นๆ ที่ผ่านมา แต่ท้ายที่สุดราคาประมูลที่จะออกมาไม่มีใครยืนยันได้ว่าเป็นราคาที่ใช่ และกสทช. จะให้ระยะเวลาผ่อนผันในการชำระเงิน

นายสมชัย กล่าวว่า ราคาที่ กสทช. กำหนดออกมาทำให้ราคาต่อใบอนุญาตต่ำลง ทำให้อาจจะมีผู้ประกอบการรายอื่นที่ไม่ใช่ผู้เล่นหลักหรือตัวจริงเข้ามาก่อกวนการประมูลแทนที่ราคาประมูลจะออกมาเหมาะสมกลับถูกปั่นขึ้นไปสูง เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลักแข่งขันกันอยู่แล้ว สะท้อนออกมาจากราคาประมูล 3จี และ 4จี ที่ผ่านมา ดังนั้น กสทช. จะต้องมีการเขียนเงื่อนไขผู้ที่จะเข้ามาประมูลให้ชัดเจน และหากเป็นผู้เล่นรายใหม่จะต้องวางเงินค้ำประกันจากธนาคาร(แบงการันตี) 100% เพื่อป้องกันว่าไม่ใช่ใครก้ได้ที่จะเข้ามาประมูลและอาจจะได้คนที่ไม่รับผิดชอบ ไม่อย่างนั้นผู้เล่นหลักต้องอมเลือดจากการประมูลที่เกิดขึ้น

Advertisement

“หากการผลักดัน 5จี เป็นโปรเจคพิเศษที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็วัทันกับเพื่อนบ้านเกิดในปี 2563 เวลาตามนี้เราจะต้องซื้อของแพง และการนำไปใช้(ยูสเคส) ไม่มาก แต่หากเป็นนโยบายของประเทศ โอเปอเรเตอร์ก็สามารถทำได้ แต่กระบวนการคิดต้องคิดใหม่ ต้องคิดอะไรที่รอบด้าน เพราะภาระจากการลงทุนที่จะเกิดขึ้นมหาศาลอย่างที่ผ่านมา โอเปอเรเตอร์จ่ายเงินให้ กสชท. ไปแล้วกว่า 160,000 ล้านบาท ภาระที่เกิดขึ้นเป็นฝันร้าย ซึ่งในส่วนของราคาประมูลที่ กสทช. ประกาศออกมาไม่คิดว่าถูกหรือแพง แต่กสทช. สามารถใช้อำนาจในการกำหนดเงื่อนไขผู้เข้าประมูล ต้องมีกระบวนการป้องกันไม่ใช้เข้ามาปั่นราคาและหนีไปซึ่งจะสร้างความเสียหายมาก ด้านวันเคาะราคาประมูลกำหนดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ก็น่าจะดี แต่หากเลื่อนมา 14 กุมภาพันธ์ 2563 เราจะได้รักกันมากขึ้น ทั้งนี้ อยากจะเสนอไปยังคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี แห่งชาติ ที่กำลังจัดตั้งขึ้น ว่า กรณีที่เอกชนประมูลคลื่น ตั้งใจลงทุน ควรแบ่งเงินในการประมูลกลับมาเพื่อนำมาใช้ในการลงทุนขยายโครงข่าย จะเป็นวิธีคิดแบบใหม่ แทนที่จะคิดว่าเงินที่กสทช. ได้รับจากการประมูลต้องนำส่งกระทรวงการคลัง แต่จะต้องบูรณาการหลายภาคส่วน ซึ่งหากเกิดขึ้นได้รัฐบาลอยากไปลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) อยากไปทำสมาร์ทซิตี้ก็มีคนทำแน่นอน เพราะหากประมูลราคาสูงแล้ว ยังต้องลงทุนสูงอาจจะไม่อยากเร่งลงทุน และเกิดการนำไปใช้จริงและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมตางๆ ไม่เกิดขึ้น” นายสมชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image