เฉลียงไอเดีย : สุพจน์ ธีระวัฒนชัย หัวเรือใหญ่เยอรมันตะวันแดง

เฉลียงไอเดีย : สุพจน์ ธีระวัฒนชัย หัวเรือใหญ่เยอรมันตะวันแดง

เฉลียงไอเดีย : สุพจน์ ธีระวัฒนชัย หัวเรือใหญ่เยอรมันตะวันแดง

เมื่อเอ่ยถาม สุพจน์ ธีระวัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง จำกัด ถึงจุดเริ่มต้นทุนธุรกิจจนกลายเป็นธุรกิจ ไมโครบริวเวอรี่ (Microbrewery) ที่ทำมานานกว่า 20 ปี ก็จะได้รับคำตอบว่า “จุดเริ่มต้นมาจากความจนและโอกาส”

คุณสุพจน์ขยายความว่า เคยล้มเหลวทางธุรกิจมาหลายอย่าง เคยทำเรียลเอสเตทในยุคที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟู จนถึง 2 กรกฎาคม 2540 ที่รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ถือเป็นช่วงหนักแสนสาหัส คนรวยกลายเป็นคนจนจำนวนมาก เป็นเรื่องน่าตกใจมากในสังคมไทยช่วงนั้น จึงนำจุดนี้ผนวกกับประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวมาตั้งแต่หนุ่มให้เป็นโอกาส

“ธุรกิจโรงเบียร์เกิดได้จากผลบุญเก่า รับถ่ายรูปรับปริญญาให้รุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แบบไม่คิดค่าตัว จนวันหนึ่งรุ่นน้องเชิญไปเลี้ยงขอบคุณที่ร้าน Paulaner ในซอยสุขุมวิท 24 เป็นร้านเบียร์นำเข้าร้านแรกๆ ในเมืองไทย ผมตะลึงบรรยากาศในร้าน ตอนนั้นไม่รู้จักโรงเบียร์ ได้ดื่มเบียร์สด รู้สึกว่าอร่อย ก็เดินดูร้าน ถามพนักงานไปเรื่อย และฝังใจตลอดมาจะมีร้านแบบนี้ จนวันหนึ่งนัดเจอรุ่นพี่บ้านเดียวกันที่สมุทรปราการที่กลายเป็นหุ้นส่วนโรงเบียร์ในเวลานี้ นัดกินร้าน Paulaner และด้วยวิสัยพ่อค้า รู้ได้ว่าขายได้แพงขึ้น เบียร์ขวด 80 บาท แต่เบียร์สด 120 บาทต่อเหยือก ประกอบกับเป็นช่วงพิษลอยตัวค่าเงินบาท หันไปทางไหนก็เจอที่ดินปิดป้ายขาย-ให้เช่า จึงได้ทำเลริมถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ประเดิมทุนตั้งต้นกำเนิดโรงเบียร์ที่ลงขันของรุ่นพี่รุ่นเพื่อน 40 ล้านบาท ถือฤกษ์เปิดบริการ 9 เดือน 9 ปี 1999

Advertisement

“เราทำไมโครบริวเวอรี่ เพราะผมมองเห็นช่องว่างจากพฤติกรรมคนไทยชอบกินข้าวนอกบ้าน ถ้าทำของดีขายไม่แพง ใช้กลยุทธ์ขายจิ๊กซอว์ 4 บ ได้แก่ บ-เบียร์ บ-บริการ บ-บริโภค และ บ-บันเทิง” คุณสุพจน์กล่าว

วัฏจักรของการทำธุรกิจย่อมมีขึ้นมีลง มีอุปสรรคต่างๆ นานา ไม่เว้นแม้กระทั่งโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

“มีหลายเหตุการณ์เข้ามากระทบอย่างมาก ธุรกิจโรงเบียร์มีความอ่อนไหวต่ออารมณ์ทางสังคมมากกว่าความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจ เหตุการณ์แรกที่ได้รับผลกระทบหนัก คือน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ปิดสาขารามอินทราเพื่อทำเป็นโรงผลิตอาหารและบรรจุน้ำเพื่อแจกจ่ายประชาชนและชุนชนต่างๆ ต่อมาวิกฤตการเมืองม็อบเสื้อเหลืองเสื้อแดง ต้องสั่งเด็กในร้านถอดเสื้อฟอร์มของร้านซึ่งเป็นสีแดงออกเมื่อเวลาออกนอกร้านเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด พร้อมจัดโครงข่ายแมงมุมให้พนักงานรู้ว่าจะเปิดหรือปิดร้านหากมีเหตุการณ์ไม่ปกติ”
คุณสุพจน์ยังเล่าต่อถึงวิกฤตทางธุรกิจอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวัน 300 บาททั่วประเทศ “ปีนั้นผมเสียลูกน้องมหาศาล โดยเฉพาะพ่อครัว เขากลับบ้านไปสมัครทำงานที่ห้างใหญ่ใกล้บ้านที่ต่างจังหวัด กว่าจะตั้งหลักได้ใช้เวลาถึง 6 เดือน”

แต่ขณะเดียวกันก็มีเรื่องดีๆ ให้เห็นในโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

“มีหลายเรื่องประทับใจ เรามีลูกค้า 3 เจเนอเรชั่นแล้ว ลูกค้าผมมีตั้งแต่มาวันแรกของการเปิดร้าน มีอากงคนหนึ่งมาตั้งแต่เดินไหวจนตอนนี้ลูกหลานต้องพามา อายุมากสุดถึง 80 ปี เร็วๆ นี้มีลูกของลูกค้าที่ตามพ่อแม่มาทานด้วยตั้งแต่เด็กจนตอนนี้เรียนจบมีงานทำ เอาบัตรประชาชนมาโชว์บอกว่าสั่งเบียร์ดื่มได้แล้วนะ ผมให้เขาเป็นวีไอพีเลย กลุ่มเหล่านี้คือเจเนอเรชั่น 4 ของโรงเบียร์เรา หรือเรื่องกลุ่มกระเป๋ารถเมล์เหมาโต๊ะ บอกว่าเพิ่งเก็บเงินไว้ฉลองกันได้ ผมก็เลี้ยงเบียร์แก้วแรก เหล่านี้คือความประทับใจเรื่องหนึ่งในหลายๆ เรื่อง”

เมื่อถามถึงอนาคตจะพยุงธุรกิจท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซาและประชาชนใช้จ่ายอย่างระมัดระวังกับการกินดื่มนอกบ้าน

“ผมยึดมาตลอด 20 ปี คือ คำว่า ‘เนื้อแท้’ นั่นคือทำเบียร์ต้องอร่อยได้มาตรฐาน ทำอาหารต้องอร่อย ทำบันเทิงต้องไม่เหมือนคนอื่น การบริหารต้องพัฒนาและไม่ขายแพง บางคนอาจมองแพงแต่อยากให้ประเมินในสิ่งที่เขาได้รับคือความคุ้มค่า คำว่าแพงหรือไม่ ผมมองที่ความพึงพอใจ”

คุณสุพจน์ถือเป็นผู้บริหารที่ลูกน้องได้เห็นหน้าทุกวัน ไม่แค่ต้องการให้งานออกมาดีที่สุด แต่เพราะ “วันนี้ หันไปผมไม่เจอคู่แข่ง ล้มตายไปหมดแล้ว ผมมองว่าน่ากลัว เพราะเราไม่มีเครื่องมือวัด เครื่องมือวัดกลายเป็นตัวเรา ผมใช้คำว่า พะวงอย่าหลงเงา ภาวะหลงเงาคือภาวะคิดว่าตัวเราสวยตัวเรางาม หลงปลื้มกับคำชม ธุรกิจก็เหมือนมนุษย์เมื่อวัยผ่านไป ก็แก่ย่น ธุรกิจจึงต้องปรับตัวเสมอเพื่อให้สดใส ผมกำลังทำโปรเจ็กต์ให้พนักงานทุกฝ่ายได้แข่งกันเพื่อพัฒนา ย้ำว่าอย่าหลงกับเรื่องเดิมๆ”

จากหลักการข้างต้นของคุณสุพจน์ ทำให้วันนี้โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง จากธุรกิจโรงผลิตเบียร์ขนาดเล็กแห่งแรกในประเทศไทย กลายเป็นอาณาจักรใหญ่มีพนักงานเป็นพันคน มีสมาชิกเกือบหมื่นราย สร้างยอดขายเบียร์ประมาณ 900,000 ลิตรต่อปี ขาหมูทอดตะวันแดงขายกว่า 136,000 ขาต่อปี ใช้แซลมอนสดจากนอร์เวย์ปีละ 17 ตัน

และกำลังจะพ้นปี 2562 สามารถสร้างรายได้ 1,000 ล้านบาท พร้อมกับการขยายสาขาอีก 1-2 แห่ง จากที่มีอยู่ 3 สาขา เพื่อก้าวสู่ปีที่ 21 อย่างมั่นคง

นวลนิตย์ บัวด้วง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image