รัฐแคลิฟอร์เนีย เปลี่ยนระเบียบเครื่องประดับที่มีโลหะ เริ่มใช้1มิ.ย.63

นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ได้แก้ไขร่างกฎหมาย Senate bill (SB) 647 ของประมวลกฎหมายว่าด้วยสุขภาพและความปลอดภัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Health and Safety Code) ว่าด้วยการแก้ไขคำนิยาม และการเพิ่มข้อกำหนดสำหรับสารที่เป็นอันตรายในเครื่องประดับสำหรับเด็กที่มีสารตะกั่วและสารแคดเมียมเป็นสารประกอบ และเครื่องประดับสำหรับผู้ใหญ่ที่มีสารตะกั่ว ทั้งนี้ ระเบียบฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

โดยมีรายละเอียดสรุปดังนี้ 1. เครื่องประดับสำหรับเด็ก ประกอบด้วย 1.1 แก้ไขคำนิยามของ “เด็ก” ให้หมายถึง บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี จากเดิม 6 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับคำนิยามเครื่องประดับสำหรับเด็กของประเทศแคนาดา 1.2 แก้ไขค่าการเคลือบผิวของสารตะกั่ว (surface coatings) ไม่เกิน 0.009% (90 ppm) โดยน้ำหนักของสารตะกั่ว และค่าสารตะกั่วในชิ้นส่วนของเครื่องประดับที่สามารถสัมผัสได้ (accessible components) ไม่เกิน 0.01% (100 ppm) โดยน้ำหนักของสารตะกั่ว และเพิ่มเติมข้อกำหนดค่าการเคลือบผิวของสารแคดเมียมที่สามารถละลายน้ำได้ ไม่เกิน 75 ppm

นายกีรติ กล่าวว่า 2. เครื่องประดับสำหรับผู้ใหญ่ ประกอบด้วย 2.1 แก้ไขปรับลดค่าสารตะกั่วสำหรับการชุบผิวโลหะที่ใช้เคลือบด้วยไฟฟ้า (electroplated metal) โลหะที่ไม่เคลือบผิว (unplated metal) และการย้อมหรือการเคลือบผิว (dye or surface coating) ไม่เกิน 0.05% (500 ppm) ของน้ำหนักตะกั่ว 2.2 แก้ไขปรับลดค่าสารตะกั่วที่เป็นส่วนประกอบในพลาสติก หรือยาง ไม่เกิน 0.02% (200 ppm) ของน้ำหนักตะกั่ว

นอกจากนี้ ระเบียบฉบับนี้ได้กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายจะต้องแสดงรายละเอียดเพิ่มเติมในใบรับรองสำหรับเครื่องประดับ ดังนี้ 1. ระบุรายละเอียดต่างๆ ของเครื่องประดับให้ครอบคลุมแต่ละผลิตภัณฑ์ในใบรับรอง 2.เครื่องประดับที่ได้รับการรับรองจะต้องมีระเบียบหรือมาตรฐานอ้างอิง 3. ระบุชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายที่ได้รับการรับรอง 4. ระบุข้อมูลการติดต่อสำหรับผู้ที่เก็บบันทึกผลการทดสอบของเครื่องประดับ รวมถึง ชื่อ ที่อยู่ อีเมลและหมายเลขโทรศัพท์ของบุคคลนั้น 5. ระบุวันที่ผลิตเครื่องประดับ หรืออย่างน้อยระบุเดือนและปี

Advertisement

6. ระบุสถานที่ผลิตเครื่องประดับ เมืองหรือเขตปกครองรัฐ (ถ้ามี) และประเทศที่ผลิตผลิตภัณฑ์หรือการประกอบขั้นสุดท้าย หากผู้ผลิตรายเดียวกันมีโรงงานมากกว่าหนึ่งแห่งในเมืองเดียวกัน จะต้องระบุที่อยู่ของโรงงานด้วย 7.ระบุวันที่หรือสถานที่ที่เครื่องประดับถูกทดสอบเพื่อวัตถุประสงค์ในการออกใบรับรอง และ 8. ระบุห้องปฏิบัติการของบุคคลที่สาม ที่ทำการทดสอบเพื่อวัตถุประสงค์ในการรับรองรวมถึงชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของห้องปฏิบัติการ

นายกีรติ กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติการส่งออก พบว่า ไทยมีการส่งออกสินค้ากลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับภาพรวมย้อนหลังปี 2559-2561 มูลค่า 44,127.8, 39,818.0 และ 43,520.9 ล้านบาทตามลำดับ และใน 8 เดือนแรกปี 2562 มีการส่งออกสินค้ากลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับไปสหรัฐฯ มูลค่า 26,198.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.75 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าดังกล่าว อยู่ในลำดับที่ 4 ของการส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image