‘มาร์คุส-ดีแทค’ มอง5จี โอกาสมากกว่าอุปสรรค

ขณะนี้โรดแมป 5จี ประเทศไทย จะมีแนวทางการขับเคลื่อนอย่างไร เพื่อนำไทยไปสู่ยุค 5จี เต็มรูปแบบ และทุกฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุด ก็มีหลากหลายเสียงกล่าวถึงเรื่องนี้ มติชนŽ สัมภาษณ์พิเศษ นายมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ที่ได้แสดงความคิดเห็นอีกแง่มุม

“ดีแทคมีความมุ่งมั่น และเตรียมพร้อมจะเดินหน้าไปสู่โครงข่าย 5จี อย่างแน่นอน ตัวของดีแทคเองรู้สึกตื่นเต้นมากว่า การเข้ามาของ 5จี จะสามารถสร้างโอกาสอะไรเพิ่มเติมได้อีกบ้าง โดยมองได้สองมุม คือ

1.มุมของผู้ใช้งานทั่วไป เชื่อว่าอันนี้มาแน่นอน ขณะนี้เริ่มเห็นการให้บริการแบบที่เป็นเทคโนโลยีที่นำภาพเสมือนในรูปแบบ 3 มิติ จำลองเข้าสู่โลกจริงผ่านกล้องและการประมวลผลที่จะนำวัตถุมาทับซ้อนเข้าเป็นภาพเดียวกัน (เออาร์) ความเป็นจริงเสมือน (วีอาร์) หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับบอร์ดแบนด์แบบที่เข้ามาใช้กับผู้บริโภค พูดถึงความเร็วหรืออะไรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

2.ส่วนของอุตสาหกรรม เริ่มเห็นว่ามีการพูดถึงเกี่ยวกับในหลายอุตสาหกรรม สามารถนำ 5จี เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมเหล่านั้นก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตหรือภาคการเกษตร จะเริ่มเห็นโมเดลในรูปแบบของบีทูบีทูซี หมายความว่าจะเป็นการส่งสินค้าจากบริษัทสู่ลูกค้าที่เป็นกลุ่มองค์กร และกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มองค์กรก็จะนำสินค้าหรือบริการไปจำหน่ายแก่ลูกค้าที่เป็นกลุ่มลูกค้าทั่วไปได้ ซึ่งเชื่อว่าจะเห็นบริการเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นแน่นอนหาก 5จี เกิดขึ้นในประเทศไทย

Advertisement

ขณะเดียวกันก่อนไปถึง 5จี เต็มตัว ในวันนี้ต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อน 5จี จะเข้ามาจริง อย่างดีแทคมองเรื่องสเปกตรัม (คลื่นความถี่) ที่ต้องเตรียมคลื่นความถี่ให้พร้อมรองรับการใช้งานก่อน อีกเรื่องคือเครือข่าย (เน็ตเวิร์ก) ที่มองว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย หากมีแค่คลื่นความถี่แต่ไม่มีตัวที่นำส่งสัญญาณคลื่นเหล่านั้นมาใช้งานหรือสร้างการเชื่อมโยง

ปัจจุบันดีแทคจะใช้เน็ตเวิร์กแบบชุมสาย คือ เป็นการใช้ระบบจัดเก็บแบบคลาวด์ (Cloud) และบริหารจัดการด้วยซอฟต์แวร์ เป็นการทำงานแบบหากต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร สามารถเปลี่ยนแปลงระบบตรงกลางแล้วก็ปล่อยไปได้เลย ไม่ต้องมานั่งเปลี่ยนทีละจุดๆ
ดีแทคถือเป็นผู้ให้บริการ (โอเปอเรเตอร์) เจ้าเดียวที่ทำได้

อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของไฟเบอร์จะเป็นตัวส่งสัญญาณ จะต้องลงทุนอีกมหาศาลเพื่อที่จะสามารถส่งสัญญาณไปทั่วประเทศได้ ต้องเตรียมความพร้อมกับเรื่องพวกนี้ให้มากที่สุด

Advertisement

สิ่งที่สำคัญอีกข้อเป็นเรื่องของการทดสอบ ไม่ใช่ว่าเมื่อ 5จี สามารถปล่อยสัญญาณออกมาถึงผู้บริโภคได้ ผู้บริโภคมีคลื่นในมือก็สามารถใช้ได้ทันที เพราะจริงๆ แล้วจะต้องมีการทดสอบในหลายๆ ส่วน ลักษณะรูปแบบการทดสอบก็มีการทำอย่างหลากหลายรูปแบบ ในส่วนของดีแทคเองก็มีการทดสอบแล้วในหลายๆ ประเทศ อาทิ โซนยุโรป โดยในทุกๆ การทดสอบจะต้องมีการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจว่า จะมีการทำการทดสอบอะไร

จริงๆ แล้วก็เหมือนกับอุตสาหกรรมที่ต้องมีความชัดเจนว่า หากคุณอยู่ในภาคการผลิตแล้ว คุณเป็นอุตสาหกรรมอะไร จะผลิตอะไร คุณมีโจทย์เรื่องอะไร และจะนำ 5จี ไปใช้ในส่วนใดของบริษัท โอเปอเรเตอร์ไม่สามารถเป็นคนคิดเองได้ว่า ต้องการทำการเกษตร หรือต้องการทำในส่วนการผลิต ทำให้โอเปอเรเตอร์จะต้องจับคู่พันธมิตรทางธุรกิจกับธุรกิจที่ตรงข้ามกับดีแทค เพื่อหาแนวคิดว่าหากอยู่ในภาคการเกษตรจะทำอะไรร่วมกันได้และจะสามารถนำ 5จี เข้าไปใช้กับภาคการเกษตรได้บ้าง ซึ่งตรงนี้เป็นลักษณะของการทำงานร่วมกันŽ

เมื่อถามถึงอุปสรรคการทำ 5จี ในประเทศไทย ผู้บริหารดีแทคระบุว่า จริงๆ แล้ว มองว่าโอกาสมีมากกว่าอุปสรรค ตอนนี้อยากให้มุ่งและมองไปที่โอกาสมากกว่า เชื่อว่าความร่วมมือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในการจัดการกับอุปสรรคที่มีทั้งหมด มองว่าการที่รัฐบาลผลักดันให้ 5จี เป็นวาระแห่งชาติ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ดูแลเกี่ยวกับ 5จี เป็นหลักขึ้นมา ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว

ยกตัวอย่างอย่างมาเลเซีย จัดตั้งอินเตอร์เนชันแนล 5จี ขึ้นเพื่อจัดการเรื่องการวางแผนระยะสั้นและระยะยาว ในการนำ 5จี เข้ามาในประเทศ รวมเอาคนกว่า 160 รายในทุกภาคส่วน อาทิ ภาคอุตสาหกรรม โอเปอเรเตอร์ และผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ 5จี มาทำงานร่วมกัน เพื่อวางแผนดำเนินงานในระยะสั้นและระยะยาว ถือว่าเป็นสิ่งที่ไทยได้เดินมาถูกทางแล้ว

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ ต้องไม่ลืมว่าการนำ 5จี เข้ามาใช้ในประเทศไทย จะต้องมีการลงทุนอย่างมากมายมหาศาล ทำให้รัฐบาลต้องมองภาพออกให้เห็นเป็นภาพที่มีขนาดใหญ่ มีความกว้างไกลในระยะยาว เพื่อให้เห็นว่าแผนการลงทุนที่ควรเป็นจะต้องเป็นอย่างไร ส่วนตัวเองมองว่าแผนการลงทุนจะต้องเป็นระบบและมีความโปร่งใสที่สำคัญคือคลื่นความถี่จะต้องมาในช่วงเวลาที่เหมาะสมและถูกต้อง ไม่เร็วไปหรือไม่ช้าไป ขณะเดียวกันก็ต้องมาในราคาที่เหมาะสมด้วย

ปัจจัยสำคัญอีกเรื่องเป็นเรื่องของอินฟราสตรัคเจอร์ แชร์ริ่ง เป็นเรื่องของการใช้อินฟรา
สตรัคเจอร์ร่วมกัน เพราะอย่างที่บอกว่าการเข้ามาของ 5จี จะต้องมีการลงเสาสัญญาณจำนวนมหาศาล มีจำนวนมากกว่าเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ผ่านมาในอดีต เพราะฉะนั้นจะต้องมาพูดถึงการลงทุนและการสร้างเสาสัญญาณ จะใช้เวลาทำได้ทันหรือไม่ รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ด้วย สุดท้ายเป็นเรื่องการชักจูงของภาครัฐ จะทำให้คนอยากร่วมลงทุนด้วย


“ที่ผ่านมาโอเปอเรเตอร์มักถูกแซวว่า มีการขอโรดแมปเรื่องคลื่นความถี่อีกแล้ว ต้องบอกว่ามีความสำคัญมากจริงๆ เพราะโอเปอเรเตอร์ก็มีความต้องการโรดแมป เพื่อนำมาวางแผนในการลงทุนและมองให้รอบด้านจริงๆ เพราะโรดแมปหมายถึงเม็ดเงินที่มหาศาลมาก รวมถึงสิ่งสำคัญคือ อยากเห็นว่าในภาพของผู้ใช้งานจะเป็นอย่างไร เพื่อให้มั่นใจว่าหากลงทุนไปแล้ว ซื้อของไปแล้ว สร้างเสาไปแล้ว จะมีคนต้องการใช้งานจริงๆ ปัจจุบันการจะขออนุญาตสร้างเสาสัญญาณขึ้นมาสักหนึ่งเสา จะต้องมีการขออนุญาตเป็นสิบๆ ขั้นตอน เป็นการขอสร้างเพิ่มแค่เสาเดียว แต่นี่เรากำลังพูดถึงการเพิ่มเสาสัญญาณเป็นหลาย 1,000 เสา หลาย 10,000 เสา กำลังจะเข้ามาในอนาคต จึงต้องการการส่งเสริมจากภาครัฐ ในการดูว่าขั้นตอนของภาคราชการทั้งหมดนั้น จะทำยังไงได้บ้างในการลดขั้นตอนให้น้อยลงและใช้เวลาให้น้อยลง เพื่อให้เมื่อถึงเวลาในการสร้างเสาสัญญาณจะสามารถไปได้เร็ว เพื่อให้ 5จี ไปถึงมือผู้ใช้งานได้เร็วขึ้น”

ผู้บริหารดีแทคยังระบุอีกว่า เมื่อได้ฟังสัมมนา Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEANŽ ที่เครือมติชนได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมแล้วเห็นภาพของโรดแมป แต่อย่างที่ นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู ขึ้นกล่าวในงานสัมมนาว่าการจะพัฒนา และทำให้ 5จี ประสบความสำเร็จได้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดในการปฏิบัติ ไม่ใช่แค่พื้นฐานกายภาพใหญ่เพียงอย่างเดียว สิ่งที่สำคัญในตอนนี้ต้องการเห็นรายละเอียดและเงื่อนไขในการประมูลงาน ดีแทคเองก็มีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมกระบวนการต่างๆ ภาครัฐจะเปิดรับฟังความคิดเห็น เพราะคิดว่าตรงนี้จะเป็นสิ่งที่สำคัญและดีมาก ภาครัฐได้มีการรนำขึ้นความถี่มาเสนอครั้งละมากๆ เช่นนี้ เพื่อให้โอเปอเรเตอร์เห็นภาพใหญ่มากขึ้น

แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นการบรรจุคลื่นความถี่ย่าน 3.5 กิกะเฮิรตซ์ ลงในแผนงาน เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามต่อไป เป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาลให้ระยะเวลาในการผ่อนผันบางช่วง เพราะก็เห็นหลายๆ ตลาดทำแบบนี้ รวมถึงอาจจะลองมองในบางตลาดที่ให้คลื่นความถี่กับโอเปอเรเตอร์ไปฟรี แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อให้โอเปอเรเตอร์เอาเงินไปลงทุนทำในเรื่องของโครงข่าย 5จี หรือส่วนที่เกี่ยวเนื่องด้วยมากกว่า

นอกจากนี้ ผู้บริหารดีแทคยังได้แสดงความเห็นต่อประเด็นอุปสรรค 4 ข้อต่อการเกิด 5จี ในไทย คือ ราคาประมูลคลื่นความถี่ที่สูงเกินไป กฎกติกาไม่เอื้ออำนวยให้เอกชนลงทุน การใช้งาน 3จี และ 4จี ยังไม่เต็มประสิทธิภาพของระบบ และการทำงานของหน่วยงานภาครัฐหรือรัฐบาลยังไม่ทำงานเชิงรุกนั้น ในส่วนของการที่ราคาประมูลคลื่นความถี่ที่สูงเกินไป คิดว่าเป็นเรื่องดี ที่เห็นว่าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึงรัฐบาลพยายามที่จะรับฟังและแก้ปัญหาในแต่ละข้อที่ผู้เล่นได้บอกไป

ส่วนเรื่องการใช้งาน 3จี และ 4จี ถึงแม้ว่าความจริงจะมีการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพมากแล้วก็ตาม แต่หากมองถึงรายละเอียดการใช้งานจริงจะเห็นว่า ยังไม่ถูกใช้งานในวัตถุประสงค์ทางด้านธุรกิจอย่างแท้จริง และเต็มที่เหมือนประเทศอื่นๆ รวมถึงยังไม่มีการใช้งานในบริการใหม่ๆ มากขึ้น ขณะนี้ยังมีการใช้งานในบริการเดิมๆ อาทิ การคุยกันมากกว่า ส่วนเรื่องการทำงานของหน่วยงานภาครัฐหรือรัฐบาล ที่ยังไม่ทำงานในเชิงรุกเพื่อทำให้ 5จี เกิดขึ้นในไทย แม้ว่ารัฐบาลหรือ กสทช.จะบอกว่า พยายามทำอย่างเต็มที่แล้ว แต่จริงๆ ก็ยังมีอะไรที่ต้องทำเพิ่มมากขึ้นอีก เช่น เรื่องของการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือ และการสร้างความต้องการในการใช้งานจริงๆ ของภาคธุรกิจ ขณะนี้ยังไม่เห็นเรื่องนี้ชัดเจนมากเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นรัฐบาลควรต้องเร่งสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมตรงนี้ให้มากขึ้น

เมื่อถามถึงราคาคลื่นที่ กสทช.เปิดเผย จากผลศึกษาจาก 4 สถาบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และมหาวิทยาลัย
ชาลเมอร์ส ออฟ เทคโนโลยี ของสวีเดน โดยราคาเริ่มต้นหรือราคากลางพบว่า ประมูลคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า 35,370 ล้านบาท มีจำนวน 19 ใบอนุญาต หรือเฉลี่ยราคาใบละ 1,862 ล้านบาท ส่วนความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ มูลค่า 8,100 ล้านบาท มีจำนวน 27 ใบอนุญาต หรือเฉลี่ยราคาใบละ 300 ล้านบาท

ผู้บริหารดีแทคระบุเรื่องนี้ว่า หากจะให้ตอบคำถามหรือสรุปว่าราคาถูกหรือแพง น่าจะเป็นการสรุปที่เร็วไป โดยเฉพาะการที่จะบอกว่าเป็นราคาที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะอย่างไรก็ตาม ต้องขอดูเงื่อนไขในการประมูลก่อน เนื่องจากหากกลไกการประมูลไม่ถูกต้อง ราคาการประมูลก็สามารถขยับขึ้นไปได้สูงมากๆ ทำให้เรื่องกลไกและเงื่อนไขการประมูลเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นตัวกำหนดเองว่าราคาสุดท้ายเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะการจะสามารถผ่อนผันการจ่ายค่าคลื่นออกไป จะต้องทำการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งส่วนตัวเองก็ยังไม่แน่ใจว่าสามารถทำความเข้าใจเงื่อนไขที่จะเปิดเผยมาได้ถูกต้องหรือไม่ ทำให้ต้องศึกษาว่ามีความต้องการของธุรกิจที่จะใช้ 5จี มากน้อยเท่าใด ซึ่งราคาที่โอเปอเรเตอร์ซื้อไปจะเป็นราคาที่ถูกต้องหรือไม่

พร้อมแสดงความเห็นว่าการที่ กสทช.ประกาศว่าประเทศไทยจะเกิด 5จี เร็วขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2563 ผู้บริหารดีแทคแสดงความเห็นว่า 5จี จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีความต้องการในการใช้งานจริงและลูกค้าเต็มใจที่จะจ่ายจริง โดยปี 2563 จะเป็นช่วงทดลองและทดสอบระบบ รวมถึงการสร้างยูสเคส (Use Case)

ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าไม่น่าจะช้าเกินไป หากจะมองว่าในปี 2564 จะเป็นปีที่สามารถสร้างเม็ดเงินได้จากการให้บริการ 5จี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image