“เฉลิมชัย” สั่งปลัดเรียกผู้เกี่ยวข้อง 3 สาร หารือรับมือผลกระทบ 6 พ.ย.นี้ 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบจากการยกเลิก (แบน)​ ใช้สารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซส ที่มีผล 1 ธันวาคม​ 2562 โดยให้นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน พิจารณาว่าหากต้องแบนสารเคมี 3 ชนิด ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด และในวันที่ 6 พฤศจิกายน​นี้ จะมีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแบนสารเคมี 3 ชนิด อาทิ เกษตรกร ผู้ประกอบการเอกชนที่นำเข้าผลผลิตด้านการเกษตร และผู้ผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น

“ผมไม่เคยดำเนินการในเรื่องใดๆ โดยใช้อารมณ์ ต้องพิจารณาด้วยหลักการ ผลกระทบ ว่าหากไม่มีสารเคมีที่เป็นสารทดแทน และใช้ได้ผล ในการจำกัดวัชพืช เมื่อมีการแบน เกษตรกรจะทำอย่างไร ส่วนตัวผมได้สอบถามไปทุกสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมี ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการแบนสารไปบ้างแล้ว แต่ต้องให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบ หารือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบและประเมินสถานการณ์ แล้วนำรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​กลาโหมต่อไป” นายเฉลิมชัยกล่าว

รายงานข่าวกล่าวว่า เมื่อหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา 3 สมาคมเกี่ยวกับการทำเกษตร ได้แก่ สมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร และสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ได้หารือเพื่อร่วมกันทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน​นี้ เพื่อขอให้นายกฯพิจารณาปลดล็อคการระงับทะเบียน วัตถุอันตราย สารเคมี ยาฆ่าแมลง หลังกรมวิชาการเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตรไม่อนุญาตให้มีการส่งออก หรือ นำเข้าสารเคมี ซึ่งทางกรมวิชาการเกษตร อ้างว่า น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวง​เกษตรฯได้สั่งให้ระงับไว้

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการสารเคมี 3 ชนิด เป็นที่น่าสังเกตว่าดำเนินการด้วยความรีบเร่ง แถมการทำลายสารเคมียังให้เป็นหน้าที่ของเอกชน เป็นผู้ทำลาย โดยค่าทำลายกำหนดไว้ประมาณ 100 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าสูงมาก และบริษัทที่ทำลายสารเคมีที่ได้รับอนุญาต มีเพียงบริษัทเดียวในประเทศไทย คือ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งต้องไปสืบกันเองว่า บริษัทนี้มีสานสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับใคร หากต้องทำลายสารเคมีใครจะได้ประโยชน์

Advertisement

นอกจากนี้ ในการสั่งแบนสารเคมี 3 ชนิด พร้อมกับการระงับทะเบียนสารเคมี ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งออกสารเคมี และไม่สามารถระบายสต็อก​ไปยังประเทศต้นทาง หรือประเทศผู้ผลิตได้ สารเคมี 20,000 ตัน จะต้องถูกทำลายในไทย นอกจากนี้ เมื่อทะเบียนสารเคมีถูกระงับ ไม่ได้เดือนร้อนแค่ ผู้ใช้สารเคมี 3 ชนิด ยังมีผู้ประกอบการที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบเพื่อมาทำอาหารสัตว์ และเคมีด้านการเกษตร ซึ่งเมื่อใกล้ฤดูกาลปลูกข้าวโพด จะต้องใช้ยาคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนหว่าน เพื่อป้องกันศัตรูพืช หาไม่ดำเนินการตามขั้นตอนเดิม การลงทุนทั้งส่งออกและนำเข้าจะสะดุดทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image