ส่อง ‘ชิมช้อปใช้’ 1.3 หมื่นล้านคุ้มไหม?

หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “ชิมช้อปใช้” ถูกรัฐบาลชุดนี้หยิบมาใช้เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีไม่ให้ทรุดลงไปมากกว่าเดิม ขณะนี้เดินทางถึงเฟส 2 ที่เปิดให้ประชาชนมาลงทะเบียนเพิ่มเติม 3 ล้านคน โดยการลงทะเบียนแล้วเสร็จไปเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

เมื่อรวมมาตรการเฟส 1 และ 2 มีประชาชนสนใจมาลงทะเบียนถึง 13 ล้านคน รัฐบาลตั้งเป้าหมายการใช้จ่ายโครงการนี้ 5-6 หมื่นล้านบาท โดยมีเงินนำร่องในกระเป๋า 1 ที่รัฐบาลแจกให้คนละ 1,000 บาท จำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท

ที่เหลือกระทรวงการคลังคาดหวังว่าประชาชนจะควักจ่ายกระเป๋า 2 เพิ่มอีก 4-5 หมื่นล้านบาท โดยมีแรงจูงใจคือคืนเงินจากการใช้จ่ายให้ 20% หากใช้จ่ายถึง 5 หมื่นบาท และคืนให้ 15% สำหรับการใช้จ่ายไม่เกิน 3 หมื่นบาท

หากประชาชนควักเงินใช้จ่ายเต็มจำนวน 5 หมื่นบาท จะได้รับเงินคืนถึง 8,500 บาท แต่ถ้าใช้เพียง 3 หมื่นบาทรับเงินคืน 4,500 บาท ถือเป็นการคืนเงินที่ให้มากกว่าโปรโมชั่นของบัตรเครดิต ดังนั้น ภาครัฐมองว่าน่าจะจูงใจให้ประชาชนที่มีกำลังใช้จ่ายมาร่วมใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4 โดยโครงการนี้มีกำหนดถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562

Advertisement

แต่ผลล่าสุดของการใช้จ่ายจนถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน มียอดการใช้จ่ายรวม 1.06 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ร้านชิม 1.46 พันล้านบาท ร้านช้อป 6.17 พันล้านบาท ร้านใช้ 141 ล้านบาท และร้านค้าทั่วไป 2.89 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ตัวเลขการใช้จ่ายกว่า 1 หมื่นล้านบาท ข้างต้นส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายจากกระเป๋า 1 ที่รัฐบาลแจกให้ ส่วนในกระเป๋า 2 ที่ประชาชนต้องควักจ่ายเพิ่มมียอดเพียง 473 ล้านบาท ยังห่างไกลเป้าหมายถึง 100 เท่า ทั้งที่ชิมช้อปใช้เริ่มในเฟส 1 มานานกว่า 1 เดือน ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา และปรับในเรื่องการคืนเงินให้สูงขึ้นในกระเป๋า 2 แต่ยังไม่ทำให้คนควักเงินมาใช้

การใช้จ่ายกระเป๋า 2 ที่ยังต่ำมากนั้น มาจากหลายปัจจัย โดยปัจจัยแรกๆ ที่เป็นปัญหามาตั้งแต่เฟส 1 คือ ร้านค้ากลัวที่จะถูกตรวจสอบภาษี จะเห็นได้จากจำนวนร้านค้าที่สมัครเข้าร่วมโครงการในระยะแรกๆ น้อยมาก แต่พอกระแสชิมช้อปใช้เริ่มฟีเวอร์ ร้านค้ากลัวตกขบวน ก็แห่มาสมัครเข้าร่วมโครงการในช่วงสุดท้าย จนทำให้ยอดร้านค้าเข้าร่วมโครงการสูงถึง 1.77 แสนแห่ง

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีเสียงบ่นจากประชาชนที่ลงทะเบียนว่าร้านค้าไม่ยอมรับกระเป๋า 2 โดยร้านค้าอ้างว่าไม่สะดวก ยุ่งยาก บางรายบอกตรงๆ กับลูกค้าว่ากลัวถูกตรวจสอบภาษี

แม้ผู้บริหารกระทวงการคลังให้สัมภาษณ์ยืนยันหลายครั้งว่าชิมช้อปใช้ไม่ได้เชื่อมกับระบบภาษีของสรรพากร ส่วนผู้บริหารกรมสรรพากรให้ย้ำหลายหนแล้วว่ากรมจะไม่ไปยุ่งในระบบชิมช้อปใช้ เพราะกรมมีข้อมูลในเรื่องการตรวจสอบภาษีจากแหล่งอื่นมากพอแล้ว แต่ร้านค้าไม่คลายข้อกังวล และยังปฏิเสธการรับกระเป๋า 2 มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทางกระทรวงการคลังจึงส่งทีมลงไปชี้แจงทำความเข้าใจกับร้านค้า เพื่อให้ร้านค้าไม่กลัวที่จะรับกระเป๋า 2

นอกจากนี้ พบว่ากลุ่มที่ลงทะเบียนเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 20-30% ซึ่งในกลุ่มนี้คงไม่มีกำลังมาใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่มาลงทะเบียนเพราะต้องการเงิน 1,000 บาท และยังพบว่าผู้ลงทะเบียนบางคนแม้ไม่ได้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ก็ไม่พร้อมที่จะควักเงินใช้จ่ายเพิ่มเติม จึงทำยอดใช้จ่ายกระเป๋า 2 ไม่สูงอย่างที่กระทรวงการคลังวางเป้าหมายไว้

อย่างไรก็ตาม ชิมช้อปใช้สร้างกระแสให้กับสังคมมากพอสมควร ประชาชนทั้งประเทศรู้จักมาตรการนี้ ถ้าวัดผลสำเร็จจากจำนวนผู้ลงทะเบียนพบว่าประชาชนแย่งกันลงทะเบียนวันละ 1 ล้านคน หมดภายในเวลา 2-3 ชั่วโมง ทำให้ฝ่ายการเมืองติดใจที่จะสร้างกระแสต่อเนื่อง

แม้เฟส 1 ยังดำเนินการไม่ครบตามกำหนด คือเดิมกำหนดหมดอายุมาตรการวันที่ 15 พฤศจิกายน สั่งให้ขยายมาตรการในเฟส 2 ต่อทันที โดยเสนอเข้า ครม.เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา

ชิมช้อปใช้เฟส 2 ดำเนินการไปแค่สัปดาห์เดียว สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็แย้มว่าอาจจะมีเฟส 3 ตามมา เบื้องต้นมองกันไว้คือขยายจำนวนคนจาก 13 ล้านคน ให้มากขึ้นไปอีกด้วยการแจกเงิน 1,000 บาท เหมือนเดิม นอกจากนี้ ยังมองว่าต้องทำอย่างไรจะกระตุ้นการใช้กระเป๋า 2 ให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายวางไว้

เดิมทีกระทรวงการคลังเสนอเรื่องการลงทะเบียนในเฟส 2 ว่าจะไม่แจกเงิน 1,000 บาท เพื่อให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการใช้จ่ายจริงๆ แต่ทางฝ่ายการเมืองไม่ยอม เพราะมองว่าการแจกเงิน 1,000 บาท เป็นความต้องการของประชาชน จึงทำให้ขณะนี้การใช้จ่ายกระเป๋า 2 ยังไปไม่ถึงไหน น่าจะเป็นบทเรียนให้ฝ่ายการเมืองหันมามองใหม่ว่าการแจกเงิน 1,000 บาท อาจไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่คาดหวังไว้ ดังนั้น ในเฟส 3 ที่จะดำเนินการใหม่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนเงื่อนไข

อย่างไรก็ตาม หากมองในด้านอื่นที่ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจ การที่มีผู้มาลงทะเบียนในระบบถึง 13 ล้านคน ถือเป็นบิ๊กดาต้าที่ใหญ่มาก ซึ่งภาครัฐสามารถใช้ข้อมูลตรงนี้ เช่น การใช้จ่ายเงิน ข้อมูลการซื้อสินค้าในร้านค้า เพื่อไปต่อยอดการดำเนินนโยบายในอนาคต

นอกจากนี้ โครงการนี้ถือเป็นความสำเร็จในอีกด้านของนโยบายสังคมไร้เงินสด ด้วยทำให้ระบบการชำระเงินด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (อีเพย์เมนต์) ของกระทรวงการคลัง เดินหน้าต่อไปได้ เพราะในอนาคตหากรัฐจะมีมาตรการด้านเศรษฐกิจใหม่ๆ ออกมาในกลุ่มที่ลงทะเบียนชิมช้อปใช้ 13 ล้านคน อาจจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับประโยชน์เหมือนกับการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยก่อนหน้านี้ หากรัฐจะมีมาตรการอะไรออกมาใช้ประโยชน์จากการลงทะเบียนดังกล่าว

ในแง่วงเงินนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะไม่ถึงเป้าหมาย 5-6 หมื่นล้านบาท แต่ในแง่จำนวนผู้ลงทะเบียนและการสร้างระบบบิ๊กดาต้าขนาดใหญ่ที่ได้กลับมา ก็ยังมีคำถามว่าคุ้มค่าไหมกับเงินงบประมาณที่ลงไป 1.3 หมื่นล้านบาท ที่ใช้ออกไป?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image