ชุมชนต้นแบบพลังงานสร้างอาชีพ

นโยบายพลังงานเพื่อทุกคน หรือเอนเนอร์จี้ ฟอร์ ออล (Energy For All) นอกเหนือจากการส่งเสริมตั้ง
โรงไฟฟ้าชุมชน ที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พยายามผลักดัน เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้นแล้ว ชุมชนที่มีขนาดเล็กลงมาในพื้นที่ห่างไกล ก็จะสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง

เมื่อเร็วๆ นี้ นายสนธิรัตน์พร้อมคณะ เดินทางเยี่ยมชมโครงการพลังงานสร้างอาชีพแบบผสมผสาน ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและพลังงานทางเลือกกาญจนบุรี ที่ ต.ท่ามะขาม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติโดยใช้แนวคิดการเชื่อมโยงใช้พลังงานแบบผสมผสานในกระบวนการผลิตต่างๆ โดยใช้ทั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งพลังงานขยะ เพื่อมาบริหารจัดการในกิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์อาทิ การตัดแต่งผักปลอดสารพิษส่งโรงพยาบาล การใช้ตู้เย็นพลังงานร่วมแสงอาทิตย์ ร้านกาแฟพลังงานร่วมแสงอาทิตย์ โครงงานผลิตดินเผาใช้น้ำมันจากพลาสติก โครงงานผลิตน้ำแข็งจากพลังงานแสงอาทิตย์ โครงงานผลิตน้ำมันจากพลาสติก แปลงเกษตรปลอดสารพิษโดยใช้น้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์

นางทิวาพร ศรีวรกุล ปราชญ์ชาวบ้านได้ริเริ่มแนวคิดจัดการสร้างแหล่งเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเคมี มาเป็นเกษตรธรรมชาติ เน้นการวางแผนการใช้ชีวิตที่จะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น เริ่มแรกจัดตั้งเป็นศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขามเมื่อปี 2547 เน้นแนวคิดพึ่งพาตนเอง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มุ่งเน้นลดต้นทุนปัจจัยการผลิตโดยการทำปุ๋ยหมัก เลี้ยงสุกรหลุม การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น แปรรูปน้ำฝักข้าว เป็นต้น

Advertisement

ต่อมา ปรับแนวทางพัฒนาเพิ่มเติม เพราะอาชีพเกษตรกรรมมีผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่แน่นอนจากโรคพืชที่มีความรุนแรงมากขึ้น และเมื่อได้ผลผลิตออกมาก็ไม่สามารถแข่งขันกับพืชผลที่ผลิตจากแปลงที่ใช้สารเคมี หรือการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้ จึงปรับนำข้อดีการเกษตรแบบผสมผสาน มาเป็นการทำอาชีพแบบผสมผสานภายใต้ชื่อ ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร และพลังงานทางเลือกเพราะเห็นความสำคัญของพลังงานเป็นตัวแปรหลักของต้นทุนการผลิตในผลิตภัณฑ์ต่างๆ หากจะพึ่งพาพลังงานทดแทนเพียงด้านเดียว มีความยุ่งยากทางเทคนิค ด้านการจัดหาวัตถุดิบในการผลิต และผลผลิตที่ได้ก็แข่งขันด้านราคากับการผลิตพลังงานจากอุตสาหกรรมไม่ได้ แต่หากจัดหาพลังงานภายนอกด้านเดียวก็มีต้นทุนไม่คงที่ และแนวโน้มจะสูงขึ้น จึงมีแนวคิดการเชื่อมโยงพลังงานกับการดำเนินชีวิตเข้าด้วยกัน โดยใช้พลังงานผสมผสานหลายรูปแบบเพื่อบริหารจัดการต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ของชาวบ้านให้แข่งขันในตลาดได้ดังตัวอย่าง ร้านกาแฟของศูนย์มีการใช้พลังงานไฟฟ้าร่วม แสงอาทิตย์กับน้ำมันที่ผลิตจากขยะพลาสติก เป็นต้น

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและพลังงานทางเลือก เป็นหนึ่งในโมเดลความสำเร็จที่ประยุกต์ใช้พลังงานแบบผสมผสานเพื่อลดต้นทุนการผลิตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งกระทรวงพลังงานเล็งเห็นความสำคัญของศูนย์ที่มีโอกาสในการต่อยอดพัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนต้นแบบได้ เพราะมีประสบการณ์ในการใช้เชื้อเพลิงแบบผสมผสานหลายเชื้อเพลิงอยู่แล้ว จะทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิต ใช้ และจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการในพื้นที่ของตนเองอย่างยั่งยืน

ศูนย์แห่งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจ ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดกาญจนบุรี แต่ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจระดับโลกเลยทีเดียว ยกตัวอย่าง 1 ในโครงการของศูนย์ การที่เอาขยะพลาสติกมาผ่านกระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) เป็นน้ำมันดีเซล แม้กระทั่งสหประชาชาติยังเข้ามาดูงานที่นี่ที่ผ่านมาตนไปดูงานต่างประเทศหลายแห่งก็มีหลายมิติแต่มิติที่ศูนย์ เป็นมิติที่สอดรับกับสภาวะความเป็นจริงของสังคมไทยและวิถีชีวิตแบบไทยๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็น

Advertisement

ภาคเกษตร การบริโภคน้ำแข็ง เราเป็นเมืองร้อนต้องเก็บรักษาด้วยความเย็น ที่นี่คือการผลิตพลังงานใช้เอง และไม่เพียงแค่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ยังสามารถสร้างเศรษฐกิจ และขณะเดียวกันก็ขยายสู่ภาคเกษตร และลดค่าใช้จ่ายในชีวิตความเป็นอยู่ตั้งแต่ชีวิตพื้นฐาน น้ำมันดีเซลที่ได้มาก็เป็นน้ำมันเพื่อนำไปใช้รเผาศพ เป็นวิถีชีวิตเกิดแก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น จะนำแนวคิดของศูนย์แห่งนี้กลับไปหารือกันเพื่อตั้งเป็นต้นแบบและจะขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ ชีวิตพี่น้องประชาชนจะดีขึ้น เราก็จะมีเศรษฐกิจแข็งแรงในที่สุดŽ นายสนธิรัตน์กล่าว

ขณะที่ นางทิวาพร ศรีวรกุล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและพลังงานทางเลือก และมีนายยุทธการ มากพันธุ์หรือที่คนส่วนใหญ่จะเรียกติดปากว่า “เอก” บุตรชาย เป็นผู้จัดการศูนย์ เป็นคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการซึมซาบการทำงานมาจากนางทิวาพรผู้เป็นแม่ และนำมาต่อยอดพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยี ใช้พลังงานทางเลือกมาปรับใช้ในการผลิตด้านการเกษตร ในเรื่องของการแปรรูปให้เกิดมูลค่าเพิ่ม

นางทิวาพรเปิดเผยว่า การที่นายสนธิรัตน์มองเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากพลังงานทางเลือกต่างๆ เป็นเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรทำอย่างยิ่ง ทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีรายได้ทุกวัน ลดรายจ่าย ใช้พลังงานที่มีอยู่ แสงแดด สายลม ให้เกิดประโยชน์จริงๆ โรงไฟฟ้า-โซลาร์เซลล์ชุมชน เป็นโครงการที่ดีมาก เป็นการช่วยเหลือประชาชนหรือชุมชนที่ไม่ได้รับโอกาสโดยตรง คนชายขอบ คนหมู่บ้านห่างไกล คนอยู่ในพื้นที่หวงห้ามของรัฐ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ ที่ไม่มีสิทธิได้ใช้ไฟฟ้า ก็จะลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งจะช่วยให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยตัวของเขาเอง

ด้านนายยุทธการกล่าวว่า บนพื้นที่ 16 ไร่ และความได้เปรียบในความหลากหลายของทรัพยากร ที่นี่มีน้ำใช้ตลอดปี มีแสงแดดเพียงพอ มีดินที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุ และมีต้นไม้หลายพันธุ์เขียวขจี จุดแข็งเหล่านี้สามารถต่อยอดได้ พลังงานทางเลือกสามารถช่วยลดต้นทุนได้ จึงลงทุนนำโซลาร์เซลล์มาติดตั้ง ผลิตไฟฟ้าใช้ในศูนย์ ขนาด 20 กิโลวัตต์ชั่วโมงนำไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มาสูบน้ำ ใช้รดน้ำในแปลงผักปลอดสารพิษ ปั่นไฟใช้ในห้องเย็นแช่ผัก และปั่นไฟผลิตน้ำแข็งขายราคาถูก และผลิตน้ำมันดีเซลจากขยะพลาสติก ได้แก่ ขวดพลาสติกใส ถุงแกง และยางรถยนต์ โดยขยะ 100 กก. ได้น้ำมันดีเซล 80 ลิตร มีประชาชนศรัทธานำขยะ
มาให้อย่างไม่ขาดสาย 20% ของน้ำมันดีเซลที่ผลิตได้ บริจาคให้วัดเทวสังฆาราม พระอารามหลวง (วัดเหนือ) สำหรับนำไปเผาศพไร้ญาติ

นายยุทธการกล่าวว่า ปัจจุบันโครงการดำเนินกิจกรรมไปได้ไม่น้อยกว่า 60% ของโครงการทั้งหมด มีรายได้หมุนเวียนทุกโครงการรวมกันไม่ต่ำกว่า 1,500,000 บาทต่อเดือน มีพนักงานลูกจ้างประจำรวม 15 คน ชุมชนที่ได้ร่วมกับโครงการไม่ต่ำกว่า 50 ครัวเรือน หากดำเนินกิจกรรมได้ครบตามเป้าหมาย คาดว่าจะมีรายได้หมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 3-5 ล้านบาทต่อเดือน สามารถสร้างงานให้กับคนในชุมชนได้ไม่ต่ำกว่า 35 อัตรา จะมีชุมชนที่มีส่วนได้กับโครงการไม่ต่ำกว่า 200 ครัวเรือน โครงการทำอาชีพแบบผสมผสาน ตอบโจทย์ความไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจที่ผันผวนได้ การที่ชุมชนสามารถพึ่งตนเองในด้านการประกอบอาชีพ โดยรัฐให้เครื่องมือสนับสนุนในลักษณะเต็มรูปแบบจะสามารถสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เช่น การเปิดตลาดหาตลาดใหม่ๆ ให้ชุมชน การให้องค์ความรู้ในด้านต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจและเป็นพี่เลี้ยงที่ดีในการสนับสนุนในด้านองค์ความรู้ของธุรกิจชุมชน การสร้างเครื่องมือ หรือมอบปัจจัยการผลิตแบบครบวงจร

“พลังงานทางเลือกช่วยได้ และต้องคิดต่อยอดด้วย จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด” นายยุทธการกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image