ดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุด! จับตารัฐใส่กระสุนกระตุ้นเพิ่ม ต่อลมหายใจเศรษฐกิจปีหน้า

ผลกระทบสงครามการค้า (เทรดวอร์) สหรัฐและจีน ที่กระทบกับการค้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ขยายตัวช้าลง ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงพร้อมกันในทุกภูมิภาค โดยองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) โลกจะขยายตัวเพียง 3.0% เป็นการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงินซับไพรม์ หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2551 ส่วนปี 2563 คาดขยายตัว 3.4% และยังได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศต่างๆ ลง ในส่วนของไทยคาดจีดีพีปีนี้ขยายตัว 2.9% และ 3.0% ในปี 2563 ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟยังเรียกร้องให้ทุกประเทศที่ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายทั้งการเงินและนโยบายการคลังให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อประคองการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นแรงหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหากไม่ทำอะไรเลยเศรษฐกิจโลกอาจจะฟื้นตัวช้ากว่าคาด

⦁เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตามคาด

สำหรับภาพเศรษฐกิจไทยเช่นเดียวกับทั่วโลกที่เห็นการชะลอตัวลง ประกอบกับปัจจัยในประเทศที่มีการจัดการเลือกตั้ง แม้จะทำให้จีดีพีไตรมาสแรก ปี 2562 อยู่ที่ 2.8% แต่ไตรมาสที่ 2 ลงไปต่ำอยู่ที่ 2.3% โดยคาดหวังว่าแรงหนุนเศรษฐกิจจะมาในช่วงครึ่งปีหลัง โดยในการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจการเงินล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 อยู่ในภาวะชะลอตัว โดยคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 2.9% การส่งออกที่ติดลบและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศชัดเจนมากขึ้น โดยพบว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมติดลบต่อเนื่องทุกไตรมาสและติดลบมากขึ้น เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ติดลบ พบว่าการจ้างงาน
ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำที่สุดแล้ว ต้องติดตามใกล้ชิดว่าแนวโน้มจะยังปรับลดลงอีกหรือไม่ เพราะทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อการบริโภคเอกชนได้ โดยขณะนี้เริ่มเห็นการบริโภคเอกชนชะลอตัวลง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวได้จากฐานต่ำในปีก่อน
ดอนกล่าวว่า สำหรับไตรมาสที่ 4 แนวโน้มเศรษฐกิจจะขยายตัวดีกว่าไตรมาสที่ 3 จากปัจจัยมาตรการกระตุ้นภาครัฐที่ออกมา ฤดูกาลท่องเที่ยว ทิศทางการส่งออกปลายปีที่จะปรับดีขึ้น และอาจจะมีผลดีอานิสงส์สงครามการค้าสหรัฐและจีนคลี่คลาย รวมทั้งการเร่งส่งออกหลังจากที่สหรัฐถอดถอนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) สินค้าไทย จะมีผลในเดือนเมษายน 2563 ส่วนผลกระทบคาดจะมีผลไม่มากนัก ราว 0.01% ของมูลค่าการส่งออกรวม ส่วนการลงทุนรัฐยังล่าช้าจากการลงทุนรัฐวิสาหกิจ ส่วนการลงทุนเอกชนหลังจากที่มีการลงนามสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) น่าจะทำให้แนวโน้มการลงทุนปรับดีขึ้น

⦁กนง.ลดดอกเบี้ยพยุงเศรษฐกิจ

Advertisement

จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและแรงกดดันค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปีซึ่งมีแรงกดดันให้ ธปท.มีการดูแลและบริหารจัดการให้อยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการแข่งขันได้ ในที่สุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธปท.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมรอบเดือนสิงหาคม โดยมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 1.75% ลงมาอยู่ที่ 1.50% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ เป็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังจากที่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาตั้งแต่ปี 2558 และปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ช่วงปลายปี 2561 ส่วนการประชุมในรอบเดือนกันยายน กนง.มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.50% เพราะ กนง.น่าจะรอติดตามผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจก่อน
หากดูจากแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาการเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านๆ มาต่างวิเคราะห์กันว่า ช่วงไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) กนง.จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกแน่นอน โดยการประชุม กนง.จำนวน 2 ครั้ง ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม มีส่วนหนึ่งเห็นว่า กนง.น่าจะมีการลดดอกเบี้ยนโยบายลงในเดือนพฤศจิกายน เพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และอีกส่วนหนึ่งคาดลดลงในเดือนธันวาคม เพราะ กนง.อาจจะรอ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขจีดีพีในช่วงไตรมาสที่ 3 ก่อน

⦁ดอกเบี้ยลงต่ำสุดรอบ10ปี

อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กนง.เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทิตนันทิ์ มัลลิกะ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ในฐานะเลขานุการ กนง.รายงานผลการประชุมว่า กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.50% มาอยู่ที่ 1.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ถือว่าเป็นการลดดอกเบี้ยลงมาต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่วิกฤตการเงินแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2551 หรือเป็นระดับที่ดอกเบี้ยต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจาก กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจชะลอตัวกว่าที่คาดไว้และและต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น การส่งออกสินค้าติดลบมากกว่าที่ประเมินไว้และจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดไว้ ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้า ซึ่งเริ่มส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ โดยการจ้างงานที่ปรับลดลงเร็วโดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออกการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ของครัวเรือนและรวมถึงแรงกดดันจากหนี้
ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่วนภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
ประเมินว่าจีดีพีปีนี้และปี 2563 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้และปี 2563 จะต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ โดยจีดีพีปีนี้คาดอยู่ที่ 2.8% และ 3.3% ในปี 2563 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดอยู่ที่ 0.8% และ 1.0% ในปี 2563 โดยจะปรับประมาณการในการประชุม กนง.เดือนธันวาคม ส่วนการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ในระดับต่ำเพียงพอหรือไม่ ต้องพิจารณาภาวะเศรษฐกิจและข้อมูล ทั้งด้านอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทั้งนี้ กนง.จะใช้หลายเครื่องมือในการดูแลเศรษฐกิจ เพราะขีดความสามารถในการทำนโยบาย (โพลิซีสเปซ) มีจำกัด และอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ

Advertisement

⦁ผ่อนคลายเกณฑ์หวังช่วยค่าบาทอ่อน

ในวันเดียวกัน วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.ได้แถลงข่าวด้วยตัวเองหลังการแถลงผลการประชุม กนง.เพื่อสร้างแรงส่งไปสู่ตลาดการเงิน และแสดงความจริงจังในการลงมาแก้ปัญหาการแข็งค่าเชิงโครงสร้างของเงินบาท โดยระบุว่า ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้เงินทุนไหลออกซึ่งจะช่วยปรับสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาทที่ให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้างจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงปัจจุบัน 9 เดือนแรก 2562 เกินดุลกว่า 2.64 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีเงินเข้ามาลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) กว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งจะช่วยให้การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น ทั้งในส่วนของผู้ส่งออก บุคคลธรรมดาและผู้ประกอบการค้าทองคำ โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562
อาทิ การยกเว้นการนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ อนุญาตให้ผู้ส่งออกที่มีรายได้ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อใบขน สามารถฝากเงินไว้ในต่างประเทศโดยไม่จำกัดระยะเวลา และจะขยายวงเงินเป็น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อใบขน ภายในระยะ 3 เดือนข้างหน้า การเปิดเสรีให้นักลงทุนรายย่อยสามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เองในวงเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี การโอนเงินออกนอกประเทศ เปิดเสรีการโอนเงินออกนอกประเทศได้ทุกวัตถุประสงค์ ยกเว้นบางรายการ สามารถซื้อขายทองคำในรูปดอลลาร์สหรัฐและเงินตราต่างประเทศได้ผ่านบัญชีเงินฝากสกุลต่างประเทศ (เอฟซีดี)

⦁แบงก์ลดดอกเบี้ยตาม-บาทอ่อนค่า

หลังจากที่ กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยลงทั้งสองครั้ง ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงทั้งสองครั้ง และครั้งล่าสุดได้มีการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลงด้วย โดยผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยให้ภาระการผ่อนชำระของประชาชนและธุรกิจลดลง ขณะที่การกู้สินเชื่อใหม่ก็มีต้นทุนถูกลง อาจจะทำให้เกิดความต้องการสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นได้ แต่ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวและอุปสงค์ในตลาดทั้งการบริโภคและการลงทุนยังไม่ชัดเจน รวมทั้งความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพราะต้องพิจารณาถึงคุณภาพสินเชื่อในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว จะต้องติดตามว่าผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจะมีแรงกระเพื่อมและมีแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากจุดนี้มากน้อยเพียงใด
ส่วนของการประกาศผ่อนคลายเกณฑ์หนุนเงินทุนไหลออก ค่าเงินบาทพบว่ามีการอ่อนค่าลงเล็กน้อยหลังจากที่ประกาศผ่อนคลายเกณฑ์ เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง แต่จะมีผลดีและสร้างสมดุลในระยะยาวซึ่งจะมีผลต่อค่าเงินบาทให้อ่อนลงได้

⦁ลุ้นเศรษฐกิจปี2563ฟื้นตัว

หากพิจารณามุมมองเศรษฐกิจไอเอ็มเอฟยังมองว่าในปี 2563 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวดีกว่าที่ 3.4% เทียบ 3.0% ในปีนี้ เช่นเดียวกับของสำนักเศรษฐกิจต่างๆ ของไทยที่ยังมีความหวังว่าแม้แนวโน้มเศรษฐกิจจะชะลอตัวแต่ในปี 2563 ยังมีภาพที่เป็นบวก โดย ธปท.ยังมีมุมมองว่าในภาพของจีดีพีที่ 3.0% จากปี 2562 ที่ 2.8% โดยจะมีแรงหนุนจากการลงทุนทั้งโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว เป็นต้น โครงการลงทุนเอกชนที่เกี่ยวเนื่องที่จะเกิดขึ้น การย้ายฐานการผลิตที่จะเข้ามาเป็นแรงหนุน รวมทั้งการจัดทำงบประมาณปี 2563 ที่จะคาดว่าจะสามารถเริ่มเบิกจ่ายได้ในช่วงต้นปีเป็นต้นไป การส่งออกที่แนวโน้มน่าจะดีขึ้นบ้าง

สำหรับ สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายและผ่อนคลายเงินทุนไหลออกควบคู่กันถือว่าเป็นการทำมาตรการที่ถูกต้องและถูกจังหวะเวลา น่าจะช่วยประคองจีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ที่ 2.9% ส่วนในปี 2563 คาดว่าจีดีพีขยายตัวที่ 3.0% และไม่ต่ำกว่า 3.0% และ พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัยกรุงไทยคอมพาส ธนาคารกรุงไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ 2.7% ส่วนปี 2563 คาดขยายตัว 3.2%

ทั้งนี้ มุมมองของ เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ากรอบการขยายตัวจีดีพีคาดอยู่ที่ 2.5-3.0% โดยปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงิน ได้แก่ ประเด็นทางการค้าและทิศทางของพัฒนาการเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งนี้ ทิศทางเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงอยู่ แม้ว่าจะมีความชัดเจนการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ประเด็นเบร็กซิทจะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ขณะที่ประเด็นความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องจากประเด็นค่าเงินบาทที่แข็งค่า ผลกระทบจากภาคการส่งออกที่ส่งผ่านมายังการจ้างงานและกำลังซื้อของครัวเรือนในประเทศ ซึ่ง ธปท.คงจะติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ประเมินว่า กนง.ยังคงมีพื้นที่ในการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับต่ำสุดในขณะนี้
สอดคล้องกับ พลายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระและอดีต กนง.ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า หากเศรษฐกิจยังชะลอตัวและความเสี่ยงจากสงครามทางการค้าที่เพิ่มขึ้น คาดว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ลงมาอยู่ที่ 1.25% และคาดว่าจะเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในปี 2563 มาอยู่ที่ 1.00% หากแนวโน้มเศรษฐกิจยังชะลอตัวต่อเนื่องคาดหวัง กนง.จะกล้าหาญในการลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก

⦁คลังเตรียมกระตุ้นศก.อีกรอบ

ขณะที่ ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า จีดีพีปีนี้และ 2563 จะขยายตัวที่ 2.8% เนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้าที่ยืดเยื้อและค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและเริ่มขยายผลกระทบต่อการจ้างงานและกำลังซื้อในประเทศ โดยในปีหน้าสถานการณ์สงครามการค้ายังคงอยู่และอาจกระจายตัวมากขึ้นจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้นในส่วนนโยบายการเงินคาด กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ตลอดทั้งปี แต่จะต้องติดตามว่าภาครัฐหรือฝ่ายนโยบายการคลังจะมีมาตรการกระตุ้นอะไรออกมาบ้าง โดยล่าสุด กนง.ได้มีการระบุในรายงานผลการประชุมว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจต้องช่วยกันทุกภาคส่วน หมายถึงการใช้นโยบายดอกเบี้ยอย่างเดียวเอาไม่อยู่แล้ว ต้องใช้นโยบายการคลังมาเสริมควบคู่กันเพื่อหนุนการขยายตัวเศรษฐกิจ
ฟากกระทรวงการคลัง อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นว่า พอใจที่ ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในครั้งนี้ รวมทั้งการปรับเกณฑ์เพื่อให้เงินทุนไหลออก เป็นสัญญาณที่ดีส่งผลต่อบรรยากาศเศรษฐกิจ แต่การดูแลเศรษฐกิจยังต้องมีมาตรการอื่นๆ ประกอบด้วย เพราะจะใช้เพียงมาตรการใดมาตรการหนึ่งคงไม่เพียงพอ ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวราว 2.8% ช่วงคาดการณ์ที่ 2.6-3.0% ขณะที่ปี 2563 อยู่ที่ 3.3% ช่วงคาดการณ์ที่ 2.8-3.8% จากการใช้จ่ายภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐ ผ่านงบประมาณปีงบประมาณ 2563 การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ ซึ่งคาดว่าการส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวเร่งขึ้นตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยและปริมาณการค้าโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น ทั้งยังต้องติดตามสถานการณ์สงครามการค้ายืดเยื้อ เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และเบร็กซิทที่ยังไม่ชัดเจนด้วย
ยังต้องลุ้นตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ สศช.จะมีการรายงานอย่างเป็นทางการออกมาในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ รวมถึงสถานการณ์ในช่วงปลายปีไปจนถึงปีหน้า หากแรงส่งไม่เพียงพอเศรษฐกิจปีหน้ายังร่อแร่ คงต้องงัดทั้งนโยบายการคลังออกมากระตุ้นอีก เสริมในส่วนที่นโยบายการเงินทำไปแล้วเพื่อประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไป

ทีมข่าวเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image