‘สศก.’เคาะตัวเลขจีดีพีเกษตรไตรมาส 3 ขยายตัว 1.1% คาดทั้งปีโต 1.5%

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาพรวเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3/2562 หรือระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2562 พบว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์​มวลรวม ​(จีดีพี)​ เกษตร ขยายตัว 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสาขาพืชซึ่งเป็นสาขาการผลิตหลักของภาคเกษตรกลับมาขยายตัว หลังจากที่หดตัวลงในไตรมาสที่ผ่านมา โดยผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน มังคุด เงาะ และมันสำปะหลัง สำหรับสาขาบริการทางการเกษตรและสาขาป่าไม้ยังขยายตัวได้ ขณะที่สาขาปศุสัตว์และสาขาประมงหดตัวลง

ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 0.5-1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยสาขาพืช สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากผลผลิตพืชสำคัญหลายชนิดและกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีทิศทางเพิ่มขึ้น ส่วนสาขาปศุสัตว์มีแนวโน้มชะลอตัวจากผลผลิตสุกรที่ลดลง โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การบริหารการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทั้งภาวะแห้งแล้งและการเกิดพายุฝนที่อาจส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร

นายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า สาขาพืช ไตรมาส 3/2562 สามารถขยายตัวได้ 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี สำหรับพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง สับปะรดโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และลำไย ด้านราคาสินค้าพืชที่มีอัตราคาผลผลิตสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสับปะรดโรงงาน ทุเรียน และลำไย ส่วนราคายางพาราลดลง เนื่องจากผลผลิตมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากพื้นที่เปิดกรีดยางใหม่, ปาล์มน้ำมันลดลง เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ มังคุดและเงาะมีราคาลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าความต้องการของตลาด

ขณะที่ สาขาปศุสัตว์ หดตัว 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลผลิตสุกรซึ่งเป็นสินค้าสำคัญลดลง แต่ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี และความต้องการบริโภคของตลาดเพิ่มขึ้น ด้านสาขาประมง หดตัว 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ลดลง และผลผลิตประมงน้ำจืด ได้แก่ ปลานิลและปลาดุกลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับความเสียหายจากพายุโพดุล

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image