“ก.ล.ต.” เปิดตัวตลาดทุนไทย สู่สายตาชาวโลกในงานสิงคโปร์ ฟินเทคฯ

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ที่ศูนย์จัดนิทรรศการสิงคโปร์ เอ็กซ์โป ประเทศสิงคโปร์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นำคณะเข้าร่วมงานนิทรรศการสิงคโปร์ ฟินเทค เฟสติวัล หรือ เอสเอสเอฟเอ็กซ์สวิทช์ (SINGAPORE FINTECH FESTIVAL: SFF x SWITCH 19) ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นงานมหกรรมเทคโนโลยีทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-15 พฤศจิกายน 2562 โดยภายในงานมีผู้ประกอบการร่วมจัดบูธแสดงผลิตภัณฑ์กว่า 1,000 ราย และมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 10,000 ราย

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้า ก.ล.ต. จะมีการประชุมนัดพิเศษว่าด้วยแผนขับเคลื่อนพิเศษของก.ล.ต.ในปี 2563-2565 ซึ่งหนึ่งเรื่องในภาพรวมทั้งหมดจะเป็นเรื่องของการนำเทคโนโลยีดิจิตอล เข้ามาใช้ในตลาดทุนไทย โดยจะนำความรู้ที่ได้จากการร่วมงานฟินเทคในครั้งนี้ ไปวิเคราะห์ร่วมกับแผนงานที่ได้มีการร่างภาพเบื้องต้นไว้แล้วว่า จะสอดรับหรือสอดคล้องกันได้หรือไม่อย่างไร รวมถึงก.ล.ต.ยังได้ประกาศตัวเองไว้ว่า จะมาร่วมงานฟินเทค (เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเงิน) ทุกปีอีกด้วย โดย โดยก.ล.ต.มีโครงการนำดิจิตอลเข้ามาขับเคลื่อน หรือเรียกว่าเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology DLT) ซึ่งจะใช้เป็นตัวกลางในการเชื่อมระบบบล็อกเชนในตลาดทุน ที่ผ่านมาก.ล.ต.ได้มีการตั้งคณะทำงานในส่วนนี้ไว้แล้ว โดยได้เชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทยเข้ามารวมอยู่ด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวจะนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเชน หรือสมาร์ทคอนแทค เข้ามาใช้กับตลาดทุนไทย ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง หรือตั้งแต่การออกเสนอขายหลักทรัพย์ทุกประเภท ทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร โดยเป็นเรื่องการบริหารจัดการกองทุน และระบบการชำระต่างๆ ซึ่งเป็นโครงการที่เรียกว่า โครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุนไทย โดยการแสดงผลิตภัณฑ์ของก.ล.ต.ในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่จะบอกและเปิดเผยให้กับคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมฟินเทค และอุตสาหกรรมดิจิตอล ในภาคการเงิน ได้เห็นแนวคิดของตลาดทุนไทย โดยมีก.ล.ต.เป็นผู้นำเสนอ และเป็นตัวแทนของทุกภาคส่วนในตลาดทุน

นางสาวรื่นวดีกล่าวว่า นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังได้ชวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวน 4 บริษัทมาร่วมจัดบูธแสดงผลิตภัณฑ์ภายในงานด้วย โดยให้สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงิน คัดเลือกบริษัทที่เกี่ยวข้องกับทั้งธุรกิจดังกล่าว สมาพันธ์และสมาคมละ 2 บริษัท ได้แก่ สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน เลือก 1. บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด ระบบ mobile point of sale (mPOS) สำหรับธนาคารชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ 2. บริษัท สมาร์ทคอนแทรคท์ (ไทยแลนด์) จำกัด ระบบสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้หลักการบันทึกธุรกรรมในบล๊อกเชนเพื่อการเข้าถึงและตรวจสอบได้ และสมาพันธ์เอสเอ็มอี เลือก 1. บริษัท GB Prime Corporation Co.,Ltd ระบบชำระเงินออนไลน์ 2. บริษัท GLOBAL FINTECH CO.,LTD. โดยการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในครั้งนี้ ก็ถือว่าตรงกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้โอกาสกับผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ให้มีโอกาสได้มานำเสนอผลงานของตนเองได้มากขึ้น

“เทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ เป็นจุดขายของบูธแสดงงานของก.ล.ต. ซึ่งตั้งแต่เปิดบูธจนถึงช่วงบ่าย ก็มีผู้คนให้ความสนใจบูธของก.ล.ต.เป็นจำนวนมาก เพราะมีระบบเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นจุดขาย สำหรับงานในวันนี้ ผู้อำนวยการธนาคารกลางสิงคโปร์ (เอ็มเอเอส) ได้บรรยายพิเศษถึงฟินเทค โดยให้คำนิยามไว้ 3 อย่างคือ การเข้าถึง และครอบคลุม นวัตกรรม และแรงบันดาลใจ ทำให้วันนี้การมาออกบูธของก.ล.ต. จึงสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานในเชิงรุกด้านการประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงบทบาทของก.ล.ต. โดยเฉพาะเรื่องของการสนุบสนุน การพัฒนา และการทำให้ทุกคนมีนวัตกรรมทางความคิดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังอยากเห็นการทำความรู้จัก การประสานงาน (เน็ตเวิร์คกลิ้ง) โดยตั้งแต่เช้าจนถึงช่วงบ่ายมีผู้ที่สนใจเข้าชมการแสดงในบูธของก.ล.ต. เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 50 รายแล้ว ซึ่งจะช่วยทำให้ตลาดทุนไทยอยู่บนพื้นที่ของตลาดทุนโลกได้ และมีศักยภาพมากขึ้น รวมทั้งต้องการให้ผู้ที่เข้าร่วมงานทุกราย นำความรู้จากเวทีวิชาการต่างๆ ไปใช้ประกอบการกำหนดนโยบาย การพัฒนา และกำกับดูแลต่อไป”นางสาวรื่นวดีกล่าว

Advertisement

นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายธุรกิจตัวกลาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ในเรื่องของเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ จะเป็นประโยชน์กับตลาดทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากในอดีตตลาดทุนมีการใช้งานเอกสารค่อนข้างมาก และมีการตรวจสอบที่ซ้ำซ้อน ทำให้บางครั้งอาจเกิดการตรวจสอบที่คลาดเคลื่อนได้ อาทิ ขั้นตอนการตรวจสอบต่างๆ เพราะมีขั้นตอนจำนวนมากที่จะต้องทำในตลาดทุนไทย ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าว จะเข้ามาช่วยลดปัญหาความซ้ำซ้อนในการทำงานได้ โดยก.ล.ต.ได้มีการกำหนดเรื่องดังกล่าวไว้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของก.ล.ต. รวมถึงอยู่ในแผนพัฒนาตลาดทุนไทยร่วมด้วย โดยจะมีการขอเงินงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (ซีเอ็มดีเอฟ) ซึ่งได้เตรียมยื่นเรื่องเสนอการของบลงทุนในเดือนธันวาคม 2562 แต่ยังไม่ได้มีการพิจารณาในด้านของตัวเลขที่ต้องการ โดยก.ล.ต.จะมีการแถลงข่าวในส่วนแผนพิมพ์เขียว (บลูปริ๊นซ์) ทั้งหมดของตลาดทุนไทย ในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีการหยิบยกเคสของตราสารการลงทุนดิจิตอลประเภทใดประเภทหนึ่งก่อน และจะดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2563

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image