ตะลุย! ออสเตรีย ส่องโรงงานผลิตรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน เปิดหวูดแน่…มีนาคม’63

สัปดาห์ก่อน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปดูโรงงานผลิตรถไฟฟ้าของ บริษัท ซีเมนส์ กันถึงกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เพื่อดูวิธีการผลิตชิ้นส่วน    รวมถึงการผลิตและประกอบตู้ขบวนรถไฟฟ้า ซึ่งแต่ละตู้จะต้องใช้ชิ้นส่วนประมาณ 2 พันชิ้น สายไฟหนักถึง 60 กิโลกรัม และต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี กว่าจะประกอบแล้วเสร็จในแต่ละขบวน

โรงงานของซีเมนส์ที่เมืองเวียนนา จะเป็นที่นำอุปกรณ์ชิ้นส่วนมาประกอบเป็นตู้ขบวนรถไฟฟ้า ส่วนโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนนั้นจะอยู่ที่เมืองกราซ ซึ่งอยู่ห่างออกไปใช้เวลาเดินทาง 2.30 ชั่วโมง ซึ่งโรงของซีเมนส์ที่นี่เองที่ผลิตขบวนรถไฟฟ้าให้กับบีอีเอ็ม ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที ช่วงเตาปูน-หัวลำโพง และล่าสุดได้ขยายบริการไปถึงบางแคแล้ว และในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หรือในช่วงต้นปี 2563 ก็จะขยายจากเตาปูน-ท่าพระ ซึ่งจะทำให้รถไฟฟ้าสายนี้วิ่งในลักษณะเป็นวงกลม ผ่านทั้งรอบนอกกรุงเทพฯและทะลุเข้าถึง    ใจกลางเมือง

วิทูรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการบีอีเอ็ม ได้เล่าให้ฟังว่า ที่นำคณะสื่อมวลชนมาก็เพื่อต้องการให้เห็นความพร้อม เพราะว่าตัวรถไฟถือเป็นตัวหลัก ก็อยากให้เห็นว่า 1.ความเชื่อมั่นในคุณภาพของตัวรถไฟที่เราใช้งาน เชื่อมั่นในโปรแกรม เรื่องความพร้อมการเปิดให้บริการเต็มที่ในเดือนมีนาคม 2563 ถ้าคุยกันที่เมืองไทยก็ไม่เห็นภาพ เอารูปมาให้ดูก็ไม่ชัดเจน เลยพามาเห็นตัวเป็นๆ ทั้งกระบวนการผลิต สิ่งต่างๆ ที่เขาใช้คนเกี่ยวข้องเยอะมาก ความพยายามเยอะ ต้องอาศัยการจัดการที่ดี

Advertisement

จริงๆ บริษัทใช้โรงงานของซีเมนส์ผลิตขบวนรถไฟฟ้ามาตั้งแต่ให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที รวม 35 ขบวน ที่ผ่านมาได้ทยอยรับมอบแล้ว 19-20 ขบวน เป็นการทยอยรับมอบทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละขบวน จะครบทั้งหมดในเดือนมีนาคม 2563 ที่เปิดให้บริการเลย ในระหว่างอยู่ที่โรงงานก็เป็นขบวนที่ 25 ที่กำลังจะส่งไปท่าเรือ เพื่อขนมาที่ท่าเรือแหลมฉบังของไทย

Advertisement

สำหรับความคืบหน้า การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ปัจจุบันติดตั้งระบบเสร็จหมดแล้ว อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ โดยตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ขบวนรถไฟได้เริ่มวิ่งทดสอบระบบจากเตาปูนไปท่าพระแล้ว คนของบริษัทก็ฝึกอบรมเสร็จแล้ว เข้าประจำการที่สถานีแล้ว โดยใช้พนักงานเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากเดิมมี 18 สถานี      ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 38 สถานี แต่อัตราค่าโดยสารยังเท่าเดิม คือเริ่มต้น 16 บาท สูงสุด 42 บาท

“ตอนนี้เราเดินรถอยู่ 2 สี คือ สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ในแง่ของการทำงานเราก็กลายเป็นผู้ให้บริการที่ดี ปลอดภัย เชื่อถือได้ให้กับประชาชน โดยที่ผ่านมา 15 ปี เราสามารถให้บริการได้ดีมาก ด้วยจำนวนรถไฟที่จำกัด แต่ก็ได้มาตรฐานทุกอย่างทั้งความปลอดภัย ความพึงพอใจของผู้โดยสาร    ถึงแม้อาจจะมีเรื่องผู้โดยสารหนาแน่นบ้าง เพราะมีข้อจำกัดเรื่องขบวนรถไฟ ตอนนั้นยังสั่งเพิ่มไม่ได้ 

เพราะยังไม่มีส่วนต่อขยาย พอสั่งเพิ่มได้เรื่องคอขวดก็น่าจะหายไป แต่ก็ไม่ถึงกับขึ้นไปนั่งสบายเลย แต่ก็บรรเทาปัญหาเดิมได้ โดยเราได้ยึดเส้นทางออกไปถึงนอกชานเมือง กทม. วิ่งเป็นวงกลม สามารถรับผู้โดยสารจากรอบนอกเข้ามาได้ ขาหนึ่งวิ่งออกไปถึงหลักสอง และสามารถรับผู้โดยสารชานเมืองเข้ามากลางเมือง กทม. ได้เลย ต่อเดียวจากหลักสองเข้าสีลมไม่ต้องแวะไหนแล้ว รวดเดียวเลย”

“วิทูรย์” ยังบอกอีกว่า เรื่องการเพิ่มความถี่ในการเดินรถนั้น พอโครงการเสร็จหมดเส้นทางจะยาวมากรวม 43 กิโลเมตร หากวิ่งทั้งเส้นจะใช้เวลาเกือบ 1.30 ชั่วโมง ในขณะที่จำนวนผู้โดยสารที่แน่นจริงๆ จะอยู่ช่วงกลางๆ ของเส้นทางเท่านั้น ดังนั้นจะต้องมีการบริหารจัดการเดินรถ โดยช่วงกลางๆ ก็ต้องเพิ่มความถี่มากกว่าที่อยู่รอบนอก ซึ่งขณะนี้ก็เพิ่มความถี่ โดยจะมีจุดกลับรถที่สถานีบางหว้า เพื่อรับผู้โดยสาร เมื่อทำแบบนี้ได้ ความถี่ในการรับผู้โดยสารในเมืองจะถี่ขึ้น สามารถให้บริการผู้โดยสารได้ดีขึ้น ส่วนเส้นทางด้านนอกความถี่น้อยหน่อย แต่ก็รับผู้โดยสารได้อย่างสบายๆ โดยปัจจุบันในกรุงเทพฯชั้นในระยะห่างของขบวนรถจะอยู่ที่ 3.25 นาที ในอนาคตก็น่าจะลดได้อีก

เรื่องการเพิ่มตู้ในแต่ละขบวนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้บริการ เพราะเมื่อเพิ่มตู้ก็ต้องเพิ่มประตูทางเข้าออกที่ชานชาลาด้วย ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก เพราะต้องไปปรับระบบอาณัติสัญญาณให้ประตูเปิดปิดตรงกันอันนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งมาก เนื่องจากต้องวิ่งวันละ 18 ชั่วโมง มีเวลาเฉพาะกลางคืนประมาณ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้นที่ทำได้ สถานีก็มีจำนวนมาก ถ้านับเตาปูนด้วยกว่าจะติดตั้งเสร็จใช้เวลามากพอสมควร ทั้งนี้ยังต้องคำนวณให้ชัดเจนว่าจะเพิ่มจาก 3 ตู้ เป็น 4 ตู้ต่อขบวนเมื่อไร อีกหน่อยมี 54 ขบวน ก็ประกอบอีก 54 ขบวนก็ใช้เวลาพอสมควร แต่ถ้าถึงเวลาก็ต้องทำ ต้องไปทีละขั้น ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ทำได้ เพราะเดิมไม่มีประตูกั้นที่ชานชาลา พอเพิ่มเป็น 4 ตู้ถึงได้ติดตั้งที่กั้น จึงไม่ใช่เรื่องยากเหมือนรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที

สำหรับจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที วันปกติอยู่ที่ 4.2-4.3 แสนคนต่อวันส่วนวันเสาร์และอาทิตย์ ก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ จากเดิมมี 2 แสนกว่าคน เดี๋ยวนี้ก็เกือบ 3 แสนแล้ว ส่วนวันอาทิตย์ เดิมไม่ถึง 2 แสนคน ตอนนี้ก็ 2 แสนกว่าคนแล้ว หากต่อเป็นวงกลม ก็คิดว่าเร็วๆ นี้จะถึง 5 แสนคน เพราะช่วงก่อนปิดเทอมมีวันหนึ่งเป็นวันศุกร์ผู้โดยสาร 4.7 แสนคนทีเดียว จึงตั้งเป้าหมายเบื้องต้นให้แตะ 5 แสนคนก่อน

การผลิตขบวนรถไฟฟ้าเพื่อใช้เองในประเทศไทยนั้น มองว่าต้องอาศัยปัจจัย คือ ทำมาแล้วจะมีคนซื้อหรือเปล่า ทำขายเฉพาะในไทยพอหรือไม่ จริงๆ ก็สามารถที่จะเริ่มจากการผลิตชิ้นส่วนเพื่อนำมาทดแทนก่อนได้ ต่อไปสิ่งที่ซับซ้อนขึ้น ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นก็ค่อยขยับไปเรื่อยๆ ต้องมีขั้นตอนการเรียนรู้และพัฒนา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ต้องการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างยิ่ง ซึ่งเรื่องนี้หากจะทำจริงก็ต้องพูดคุยกับผู้ผลิตทั้งประเทศด้วยว่าขีดความสามารถเป็นอย่างไร

“สำหรับผู้ผลิตในไทยที่เกี่ยวข้องกับรถไฟหรือรถไฟฟ้า ในบ้านเรามีอยู่ แต่ไม่ทราบว่าทำได้กี่เปอร์เซ็นต์ในจำนวนรถไฟทั้งขบวน เขาสามารถผลิตอะไรได้บ้าง ถ้าจะทำจริงต้องเป็นโปรเจ็กต์ระดับชาติเลย ต้องรวมกันทั้งหมด เพราะเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่มาก” วิทูรย์กล่าวทิ้งท้าย

หลังจากนี้ก็ทนนั่งนับนิ้วรอกันอีกนิด ไม่กี่เดือนข้างหน้า รับรองได้นั่งรถไฟฟ้ายาวจากเตาปูนถึงท่าพระแน่นอน!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image