‘สทท.’ แนะแนวคิดถนนคนเดินดี แต่ควรเจาะกลุ่มตลาดซบเซาก่อน

นายยุทธชัย สุนทรรัตนเวช รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ภาคเอกชนเสนอให้จัดถนนคนเดินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยจะมีการนำร่อง ที่ถนนข้าวสาร และถนนเยาวราช ว่า ตนเห็นด้วยในหลักการ แต่มองว่ารัฐบาลควรมุ่งไปที่ตลาดถนนคนเดินที่มีอยู่แล้วน่าจะมีผลดีมากกว่า อาทิ ถนนคนเดินหาดใหญ่ เป็นต้น เพราะตอนนี้จากปัญหาเศรษฐกิจซบเซาทำให้ประชาชนเลือกที่จะไปเดินน้อยลงกว่าเดิม ตนจึงอยากเสนอให้ภาครัฐมุ่งเน้นไปที่พื้นที่ที่มีปัญหาก่อน โดยการส่งเสริมเรื่องอัตลักษณ์ เพื่อสร้างสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวและประชาชนในระแวกใกล้เคียงอยากไปจับจ่ายใช้สอยอีกครั้ง

“อยากให้รัฐบาลมองข้ามตลาดที่เป็นที่รู้จักไปก่อน อย่างถนนข้าวสาร และถนนเยาวราช ล้วนแต่เป็นที่รู้จักของประชาชนและนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่หากจะปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นถนนคนเดิน โดยปิดถนนทั้งเส้นอาจจะไม่เหมาะสม รวมถึงการส่งเสริมให้มีถนนคนเดินในทุกจังหวัด จะต้องลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นจากชาวบ้านบริเวณนั้นก่อนว่าเห็นด้วยไหม เพราะในบางพื้นที่อาจต้องการความเป็นส่วนตัวมากกว่าที่จะเปลี่ยนชุมชนให้เป็นถนนคนเดิน ส่วนมาตรการร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย มองว่าเป็นมาตรการที่ดีแต่อาจจะไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก เนื่องจากจำนวนสิทธิ์มีเพียง 4 หมื่นสิทธิ์เท่านั้น” นายยุทธชัยกล่าว

ทั้งนี้ นอกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน เสนอให้มีการจัดเทศกาลดนตรี รวมถึงเทศการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตนอยากเสนอให้มีการเจาะกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (แอลจีบีที) ที่มีอยู่เกือบทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพสูงในการใช้จ่าย ในเมื่อประเทศไทยก็เริ่มมีการเปิดกว้างในเรื่องนี้นี้แล้ว เมื่อมีกิจกรรมจดทะเบียนใต้น้ำหรือจัดวิวาห์ในที่ต่างๆ ควรดึงคนกลุ่มนี้มาเข้าร่วมกิจกรรมด้วย โดยต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจให้กับประชานที่อยู่ใกล้พื้นที่การจัดงาน รวมถึงต้องสร้างทัศนะคติใหม่ให้กับประชาชนว่าคนกลุ่มนี้ ก็เป็นเหมือนนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาเที่ยวชมในประเทศไทยก็เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาพรวมการท่องเที่ยวในประเทศไทย ขณะนี้ ในส่วนของปริมาณนักท่องเที่ยวยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งขาเข้า และขาออก แต่ในส่วนของธุรกิจทัวร์ขนาดใหญ่ หรือทัวร์ที่ต้องใช้รถบัสเป็นพาหนะเริ่มได้รับผลกระทบ เนื่องจากนักท่องเที่ยวหันไปใช้บริการรถยนต์ส่วนตัว และบริการรถตู้ส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ เพิ่มขึ้นถึง 2-3 เท่า จึงอยากให้ภาครัฐเร่งช่วยเหลือธุรกิจประเภทนี้อย่างเร่งด่วน เพราะการจัดทัวร์ขนาดใหญ่ยังมีความจำเป็น และเป็นหนึ่งในช่องทางที่จะช่วยโปรโมท แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยได้ ซึ่งรัฐควรเริ่มจากการปรับหลักเกณฑ์ในการกู้ยืมผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ให้เอื้อต่อผู้ประกอบการให้มากขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image