สศช.หั่นเป้าจีดีพีปี’62 เหลือ 2.6% ต่ำสุดรอบ 5 ปี เหตุเทรดวอร์-บาทแข็ง-ส่งออกติดลบ

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562 นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ขยายตัว 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ขยายตัวดีขึ้น 0.1% จากไตรมาส 2 ของปี 2562 อยู่ที่ 2.3% รวม 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2562 เศรษฐกิจไทยโตที่ 2.5% โดยสศช.ได้ปรับประมาณการจีดีพีของทั้งปี 2562 ใหม่ คาดโตที่ 2.6% จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ที่ 3% ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 ที่ขยายตัวได้ 1% โดยมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องปรับลดประมาณการคือ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน (เทรดวอร์) ภาคการส่งออกยังไม่ดีเท่าที่ควร ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง และการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้ากว่าปกติ รวมถึงสถานการณ์ระยะสั้นที่เข้ามา อาทิ การที่รถยนต์เปลี่ยนรุ่นใหม่ในช่วงปลายปี โรงกลั่นบางแห่งหยุดซ่อม และปรับมาตรฐานน้ำมันใหม่

“ปัจจัยสนับสนุนที่ช่วยให้จีดีพีไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2 คือ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลปรับตัวดีขึ้นที่ 1.8% การลงทุนในภาคเอกชนดีขึ้น 2.4% การลงทุนของภาครัฐดีขึ้น 3.7% รวมถึงภาคการส่งออกก็ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับด้วย แม้จะดีขึ้น แต่ยังประเมินว่าจีดีพีรวมทั้งปี 2562 จะโตชะลอตัวที่ 2.6% จากปัจจัยการบริโภคของภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง เหลือ 4.2% จากเดิมอยู่ที่ 4.6% รวมถึงการส่งออกที่โตลดลง โดยหากรวมการส่งสินค้าทั่วไปกับทองคำ ในไตรมาส 3 โตที่ 0% จากไตรมาส 2 โตติดลบ 4.2% แต่หากไม่รวมทองคำ ไตรมาส 3 จะโตติดลบ 4.8% จากไตรมาส 2 ที่โตติดลบ 5.8% โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปี 2562 จะโตติดลบที่ 2% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะติดลบ 1.2% และคาดว่าปี 2563 จะขยายตัวได้ 2.3% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 0.8% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6.2%”นายทศพรกล่าว

นายทศพรกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าจะโตที่ 2.7-3.7% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของอุปสงค์ในประเทศ การปรับตัวดีขึ้นช้าๆ ของการส่งออก การดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงยังเป็นเรื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลก ที่คาดว่าจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งร่วมด้วย

นายทศพรกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีแนวทางในการบริหารจัดการเศรษฐกิจในปี 2562-2563 ได้แก่ การขับเคลื่อนภาคการส่งออกให้กลับมาโตไม่ต่ำกว่า 3% ผ่านการหาตลาดใหม่และการจัดโรดโชว์อย่างต่อเนื่องของภาครัฐและภาคเอกชน การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ การสร้างความเชื่อมั่นและการสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกขน รวมถึงการดูแลเกษตรกร กำลังแรงงาน ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) และเศรษฐกิจฐานราก

Advertisement

“คาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปี 2562 จะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นอย่างช้าๆ จากการอุปโภคและบริโภคของภาครัฐและภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงภาคการส่งออกที่เริ่มกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น โดยในปี 2562 หากจะทำให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมโตได้ที่ 2.6% จะต้องทำให้จีดีพีในไตรมาส 4 นี้ ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 2.8% ทั้งยังมองว่าโค้งสุดท้ายของปีนี้ จะต้องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมออกมา เพราะยังมีปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ยังวางใจไม่ได้ โดยมาตรการชิมช้อปใช้ สามารถกระตุ้นการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นได้จริง เพราะหากดูตัวเลขในไตรมาส 3 จะเห็นว่าปรับลดลงอยู่ที่ 4.2% จากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 4.6% ซึ่งหากไม่มีชิมช้อปใช้ออกมา ก็อาจจะทำให้ตัวเลขปรับลดลงมากกว่านี้ได้ สำหรับอัตราการว่างงาน ขณะนี้ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นระดับปกติของภาพรวมที่ผ่านมา หากเทียบกับจำนวนแรงงานทั้งหมดในประเทศไทย”นายทศพรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image