‘ธปท.’​เผยไตรมาส 3 หนี้เสียพุ่ง แต่ยังเชื่อไตรมาส 4 แบงก์บริหารได้

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาส 3 ของปี 2562 สินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ จึงส่งผลกระทบต่อการเติบโต โดยเฉพาะลูกหนี้ในธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ส่งผลให้การเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ลดลงอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ 3.8% จากไตรมาส 2 อยู่ที่ระดับ 4.2%

นายธาริฑธิ์์ กล่าวต่อว่า แบ่งเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.01% จากไตรมาส 2 อยู่ที่ 2.95% โดยมียอดหนี้เสียคงค้างกว่า 4.69 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ประมาณ 19,000 ล้านบาท ทั้งจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์ ลูกหนี้รายใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีหนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.75% จากไตรมาส 2 อยู่ที่ 4.52% โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่มีมูลค่า 100-500 ล้านบาท ที่มีทั้งเป็นการผิดนัดชำระตั้งแต่ 1-3 เดือน (เอสเอ็ม) และเป็นหนี้เสีย ซึ่งจะเป็นกลุ่มธุรกิจประเภท อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงปิโตรเคมี ซึ่งอาจเกิดการสะดุดชั่วคราว จึงต้องมีการปรับตัวในระยะสั้น ในช่วงที่เกิดสงครามการค้า จนทำให้การส่งออกปรับลดลง โดยต้องการให้สถาบันการเงินเข้าไปช่วยดูแลต่อไป

นายธาริฑธิ์์ กล่าวว่า ความสามารถในการหารายได้ของธนาคาร ในไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยพิเศษมาจากการขายเงินลงทุน ทำให้ไตรมาส 3 ธนาคารมีรายได้มากเป็นพิเศษ ส่วนเงินกองทุนและเงินสำรองก็ปรับเพิ่มขึ้น และอยู่ในระดับสูง จึงประเมินว่าธนาคารยังมีความสามารถในการรองรับความท้าทายจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากขณะนี้อยู่ในภาวะที่มีความท้าทายค่อนข้างมาก ทำให้สิ่งที่สถาบันการเงินจะต้องให้ความสนใจมากขึ้นในอนาคตคือ 1.สิ้นเชื่อของภาคธุรกิจบางส่วนที่ต้องเจอกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังมีศักยภาพ แต่อาจต้องเจอกับปัญหาสภาพคล่อง ทำให้ต้องมีการปรับตัวและเตรียมรับมือ ธนาคารจึงต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือกับธุรกิจกลุ่มนี้ 2.หนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น เพราะในภาวะที่มีความท้าทาย ธนาคารจะต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมความเปราะบางเพิ่มมากขึ้น

“การเติบโตของสินเชื่อชะลอตัวลง สาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยคือ การชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2562 โดยมีสาเหตุจากสงครามการค้า ที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ 2.ภาวะอัตราการกู้ยืมของตลาดพันธบัตรอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีธุรกิจเข้าทำการระดมทุน เพื่อนำเงินมาชำระคืนหนี้ 3.เป็นปัจจัยเฉพาะในไตรมาส 3 เนื่องจากที่ผ่านมา ในไตรมาส 1 และ 3 ของทุกปี ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อไม่มากนัก แต่จะปล่อยเพิ่มมากขึ้นในไตรมาส 4 ทำให้ในไตรมาส 4 อาจจะเห็นธนาคารปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดเล็ก และสินเชื่อรายย่อย ในส่วนของบัตรเครดิตมากขึ้นได้ โดยสินเชื่อที่เป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของสินเชื่อรวม มาจากสินเชื่อรายย่อย โตที่ 8.7% เพราะมีอัตราผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี ทำให้สถาบันการเงินพุ่งเป้าในการปล่อยสินเชื่อรายย่อยเพิ่ม จึงเห็นอัตราการเติบโตที่ดีเป็นพิเศษ ในขณะที่การเติบโตของสินเชื่อธุรกิจชะลอตัวลง อยู่ที่ 1.3% ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ”

Advertisement

นอกจากนี้ ยังได้หารือกับสถาบันการเงิน เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางในการปล่อยสินเชื่อแบบรับผิดชอบ โดยได้กำชับให้ทุกธนาคารพาณิชย์ดำเนินการตาม เพื่อไม่ให้การปล่อยสินเชื่อจากนี้ ทำให้เกิดการสร้างความเปราะบางให้กับกลุ่มลูกหนี้ ที่มีโอกาสเป็นลูกหนี้เสียได้ ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุด มีผลทำให้สถาบันการเงินปรับลดดอกเบี้ยตาม ประเมินว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มกำไร ให้สถาบันการเงินในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยไตรมาส 3 ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 96,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2561 สำหรับมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) หลังบังคับใช้มา 6 เดือน ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินดีขึ้น ลูกค้าสามารถซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้น การกู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาแรกโตที่ 8.8% ในขณะที่การกู้ซื้อสัญญาที่ 2 ลดลง 14% และสัญญาที่ 3 ลดลงกว่า 31.4% ทำให้การซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไรปรับลดลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image