“มนัญญา” จี้ขอความชัดเจนกรมวิชาการเกษตร ก่อน 27 พ.ย.นี้ (ชมคลิป)

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมชี้แจงและรับทราบนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรที่มีการรายงานว่าจะขอยืดการยกเลิกใช้ (แบน) สารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จากเดิมที่มีผลบังคับใช้ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 โดยขอให้ยืดเวลาออกไปอีก 6 เดือนนั้น ตนจะทำหนังสือขอความชัดเจนจากกรมวิชาการเกษตร โดยทางกรมฯจะต้องตอบกลับมาก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ ว่ายังติดขัดในเรื่องใดถึงต้องขอยืดเวลาออกไปตาม

“ส่วนกรณีที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เห็นด้วยกับกรมวิชาการเกษตรที่จะยืดเวลาในการแบน สารเคมี 3 ชนิด ออกไปอีก 6 เดือน ดิฉันมองว่าต้องกลับไปดูว่าเหตุผลในการลงมติครั้งแรกว่าคืออะไร แล้วจะมาขอให้ยืดเวลาออก ทุกอย่างต้องมีเหตุผลมารองรับ เพราะในส่วนที่ดิฉันดูแลก็ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้หมดแล้ว รวมถึงได้มีการพูดคุยกับสารวัตรเกษตรซึ่งก็พร้อมที่จะปฏิบัติงาน และในส่วนของสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศก็สามารถปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรแทนการใช้สารเคมีแล้ว แต่หาก ในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีการเปลี่ยนแปลงมติ ก็ถือว่าดิฉันมาส่งจนสุดมือแล้ว” นางสาวมนัญญากล่าว

นางสาวมนัญญา กล่าวต่อว่า ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินงานที่ดูเหมือนว่ากรมกับกระทรวงเกษตรฯ ยังไม่เดินไปในทิศทางเดียวกันนัก หลังจากนี้ ตนจะส่งหนังสือการแบ่งงาน ที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้ตนดูแลกรมวิชาการเกษตร และกรมที่เกี่ยวข้องไปให้ดูอีกครั้ง พร้อมแนบนโยบายของตนไปให้รับทราบอีกครั้งด้วย ส่วนในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ จะมีม็อบเกษตรกรไปขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หากพล.อ.ประยุทธ์ หรือเกษตรกร ต้องการให้ชี้แจงในเรื่องดังกล่าวตนพร้อมให้ข้อมูล และพร้อมรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำอยู่แล้ว ส่วนภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่ได้รับผลกระทบนั้น มองว่าเป็นเรื่องระหว่างประเทศจะต้องให้ทูตระหว่างประเทศเป็นผู้จัดการต่อไป

นอกจากนี้ ในส่วนของมาตรการรองรับหลังการแบนสารเคมี 3 ชนิด ขณะนี้ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ไปสำรวจความต้องการของเกษตรกรทั่วประเทศว่าต้องการให้ช่วยเหลือในเรื่องใดบ้าง ซึ่งจากการตรวจสอบล่าสุดพบว่าเกษตรกรมีความต้องการใช้เครื่องจักร อาทิ เครื่องตัดหญ้า รถแทรคเตอร์ และรถไถ เป็นต้น โดยรัฐจะอุดหนุน 90% สหกรณ์ 10% โดยสหกรณ์ต้องมีคุณสมบัติจึงจะมีการอุดหนุนตามเกณฑ์ดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ ได้เตรียมเสนอของบประมาณจากภาครัฐ โดยประเมินจากปริมาณของสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 1 แสนคน งบอยู่ที่ประมาณ 2 ร้อยล้านบาท และจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบให้ประชาชนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์ก็สามารถขอใช้เครื่องจักรได้อีกด้วย

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image