‘สนค.’ ชี้เงินเฟ้อเดือน พ.ย. ปรับตัวสูงขึ้น ครั้งแรกในรอบ 4 เดือน อยู่ที่ 0.21% คาดทั้งปีดันโต 0.7-1%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ระดับ 102.61 ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 0.21% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม อยู่ที่ลบ 0.13% ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน หลังจากชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยมีสาเหตุสำคัญจากหมวดพลังงาน ที่หดตัวในอัตราต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือน มาอยู่ที่ลบ 4.71% จากเดือนตุลาคม อยู่ที่ลบ 7.54% ในขณะที่หมวดอื่นๆ ยังขยายตัวและเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ซึ่งสอดคล้องกับเครื่องชี้วัด ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ 0.47% เฉลี่ย 11 เดือน เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.69% และเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้น 0.53% การขยายตัวของเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องและปรับตัวดีขึ้นในเดือนธันวาคมนี้

ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยบวกที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเดือนพฤศจิกายน ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านการบริโภคที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และการเพิ่มขึ้นของยอดการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายตัวเพิ่มขึ้นและส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ในส่วนของปัจจัยลบ อาทิ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง และยอดการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ยังมีแนวโน้มลดลง โดยส่วนหนึ่งน่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก และการชะลอการลงทุนของภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งชี้ว่าสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของประเทศยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพและสอดคล้องกับการเคลื่่อนไหวของอุปทานและอุปสงค์ในตลาด

อย่างไรก็ตาม คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ทั้งมาตรการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจรากหญ้า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย รวมทั้งโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 น่าจะมีความชัดเจนขึ้นและสามารถดำเนินการได้เต็มที่ น่าจะช่วยให้ปัจจัยด้านอุปสงค์เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญในระยะต่อไป

Advertisement

สำหรับ แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าอิทธิพลของพลังงานจะลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากราคาน้ำมันในปีนี้เริ่มใกล้เคียงกับปีก่อน ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในลักษณะปกติ ยกเว้นสินค้าเกษตร ซึ่งอาจมีความผันผวนอยู่บ้าง ทำให้เงินเฟ้อในเดือนธันวาคมน่าจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และทำให้เงินเฟ้อทั้งปีน่าจะอยู่ในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ 0.7-1% แต่เป็นไปได้สูงที่จะเติบโตอยู่ที่ 0.8% ส่วนการคาดการณ์เงินเฟ้อ ในปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 1%

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image