เอกชนยังไม่มั่นใจ เกรงการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐไม่ตอบโจทย์

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า กรณีการเคาะเกณฑ์กำหนดการรับซื้อข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เบื้องต้นหลังจากอ่านรายละเอียดของหลักการทั้งหมด ก็ดูเหมือนจะยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร ทำให้อาจจะต้องศึกษามากขึ้นว่า หลักการทั้งหมดมีความชัดเจนมากเพียงพอหรือไม่ โดยการที่ภาครัฐไม่มีข้าวอยู่ในสต๊อกเหลือเก็บ หรืออาจมีบางส่วนที่เป็นข้าวเก่าเหลืออยู่ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีคุณภาพสามารถส่งออกได้หรือไม่ ซึ่งหากไม่มีแล้วภาครัฐจะทำอย่างไรต่อ ขั้นตอนต่อไปจะต้องดำเนินการอะไรเพิ่มเติม

“การที่ภาครัฐจะเข้ามาเป็นผู้ค้าคนกลาง ในการประสานกับเอกชนและผู้ซื้อต่างประเทศ ไม่แน่ใจว่าภาครัฐจะขายของเก่งเท่าเอกชนได้อย่างไร จึงไม่คิดว่าหลักเกณฑ์สัญญาการซื้อข้าวใหม่ จะทำให้ได้ผลดีอะไรมากมายนัก โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งจากปัจจัยภายในและต่างประเทศ ทำให้การจะหามาตรการต่างๆ ออกมาผลักดันให้การส่งออกข้าวเติบโตเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นไปได้ยาก ซึ่งส่วนนี้ก็น่าเห็นใจรัฐบาล เพราะไทยมีข้อจำกัดหลักๆ เป็นเรื่องของราคา ที่ข้าวไทยส่งออกไป มีราคาแพงกว่าคู่แข่งครึ่งต่อครึ่ง ในขณะที่ข้าวคู่แข่งมีการพัฒนาต่อเนื่อง และขายในราคาที่ต่ำกว่าไทย ทำให้ราคากลายเป็นข้อจำกัดจริงๆ”นายชูเกียรติกล่าว

นายชูเกียรติกล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวไทย ในปีนี้ยังคงเป้าหมายการส่งออกที่ 8 ล้านตัน จากปี 2561 ที่ยอดรวมส่งออกทำได้ 11 ล้านตัน ส่วนปี 2563 เบื้องต้นยังตั้งเป้าไว้ว่าจะโตที่ 8 ล้านตันเท่าเดิม ถือเป็นการโตแบบทรงตัว เพราะมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบจำนวนมาก โดยเฉพาะการที่จีนมีข้าวในสต๊อกเยอะ และขายระบายออกมาในราคาที่ถูกกว่าไทยมาก

นายชูเกียรติกล่าวว่า ส่วนปัจจัยบวกอาจจะมีบ้าง อาทิ กำลังซื้อจากอินโดนีเซียที่หายไปปีกว่า อาจจะมีเข้ามาในปี 2563 มากขึ้น และการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการออกมาทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งเรื่องค่าเงินถือเป็นปัจจัยบวกสูงสุด เพราะตั้งแต่ต้นปี ข้อจำกัดในการแข่งขันด้านราคาขายของไทย เป็นผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถขายในราคาที่ต่ำลงได้ เพราะต้นทุนด้านค่าเงินมาในราคาที่สูงแล้ว

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image