10 อุตฯ สุดฮอต พร้อมจ้างแรงงาน 2.24 ล้านคน

กำลังได้รับความสนใจของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง ภายหลังปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ในอัตรา 5-6 บาท คาดว่าจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563

จำนวนนี้แบ่งเป็นอัตรา 6 บาท ใน 9 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และปราจีนบุรี และจังหวัดที่เหลืออีก 68 จังหวัด จะปรับขึ้น 5 บาท ซึ่งขณะนี้การแบ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยสามารถแบ่งออกเป็น 10 ระดับ คือ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงที่สุดคือ 336 บาท และต่ำที่สุดคือ 313 บาท

ลงลึกใน 10 ระดับ พบว่า ระดับที่ 1 ค่าจ้าง 336 บาท มี 2 จังหวัด คือ ชลบุรี และภูเก็ต ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 335 บาท มี 1 จังหวัด คือ ระยอง ระดับที่ 3 ค่าจ้าง 331 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ระดับที่ 4 ค่าจ้าง 330 บาท คือ ฉะเชิงเทรา ระดับที่ 5 ค่าจ้าง 325 บาท มี 14 จังหวัด คือ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี

ระดับที่ 6 ค่าจ้าง 324 บาท มี 1 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี ระดับที่ 7 ค่าจ้าง 323 บาท มี 6 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม ระดับที่ 8 ค่าจ้าง 320 บาท มี 21 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ พะเยา ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์ ระดับที่ 9 ค่าจ้าง 315 บาท มี 22 จังหวัด คือ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อุทัยธานี และอำนาจเจริญ ระดับที่ 10 ค่าจ้าง 313 บาท มี 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา โดยเฉลี่ยฐานของค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 321.09 บาท

Advertisement

การปรับฐานค่าจ้างในทางปฏิบัติไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มลูกจ้างที่รับค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจ้างงานทุกระดับที่วาดหวังว่าจะได้รับค่าจ้างขยับตามด้วย

แต่ในมุมของผู้ที่ควักกระเป๋าจ่ายเงินอย่างผู้ประกอบการย่อมเห็นต่าง โดยเฉพาะครั้งนี้เงื่อนไขสำคัญคือ เศรษฐกิจโลกถดถอยจนกระทบต่อการส่งออกของไทย

สุชาติ จันทรานาคราชŽ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสายแรงงาน แสดงความเห็นว่าการขึ้นค่าจ้างในอัตรา 5-6 บาทต่อวันครั้งนี้มองว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม
(เอสเอ็มอี) ไม่สู้ดีนัก จะเห็นว่ามีเอสเอ็มอีหลายโรงงานเลือกประคองธุรกิจหลังจากคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ลดลง ด้วยการปิดการผลิตบางส่วนแล้วเลือกจ่ายเงินให้แรงงาน 75% แทน นั่นเพราะต้องการรักษาแรงงานไว้
และคาดหวังอนาคตสถานการณ์คำสั่งซื้อจะกลับมา และทำให้กิจการดีขึ้นอีกครั้ง

“ค่าจ้างปัจจุบันมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 325 บาทต่อวัน หากพิจารณาในกลุ่มผู้ส่งออกที่กำลังเผชิญกับปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าระดับ 7-8% ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อแปลงเป็นต้นทุนค่าจ้างทำให้ผู้ประกอบมีต้นทุนค่าจ้าง
เพิ่มขึ้นประมาณ 25 บาทต่อวัน ดังนั้นการปรับขึ้น 5-6 บาทครั้งนี้ จึงทำให้ผู้ประกอบการส่งออกต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นรวมประมาณ 30 บาทต่อวัน ทำให้ต้องจ่ายค่าจ้างจริงๆ ประมาณ 355 บาทต่อวัน ขณะที่ส่งออกลดลง ดังนั้นธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีจึงเผชิญปัญหา เสี่ยงปิดกิจการแน่นอน”Ž สุชาติ สะท้อนปัญหา

จากปมปัญหาการขึ้นค่าจ้างที่มักสร้างความถูกใจและไม่ถูกใจในเวลาเดียวกัน แต่หากมองข้ามไปถึงการจ้างงานในอนาคตที่ไทยกำลังเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 มุ่งการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต
จะพบว่าอุตสาหกรรมแรงงานในกลุ่มดังกล่าวเนื้อหอมมากๆ ผู้ประกอบการพร้อมจ่ายค่าแรงในระดับสูง เพื่อให้ได้แรงงานคุณภาพตามประเภทอุตสาหกรรมที่ประกอบธุรกิจอยู่


อดิทัต วะสีนนท์Ž รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุว่า สศอ.ได้ศึกษาโครงการเตรียมศักยภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม รองรับอุตสาหกรรม 4.0 พบว่า ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายมีความต้องการแรงงานตั้งแต่ปี 2562-67 ปริมาณรวม 2.24 ล้านคน โดยปี 2563 มีความต้องการแรงงาน 351,957 คน และช่วงปี 2563-67 มีความต้องการแรงงาน 1.75 ล้านคน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาศักยภาพผลิตแรงงานป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เพียงพอ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นปัญหาใหญ่ที่นักลงทุนมีความกังวลอย่างมาก

“อนาคตไทยมีความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างมากด้วย ตัวเลขความต้องการรวม 2.24 ล้านคน ต้องการทั่วประเทศไม่ใช่แค่พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เท่านั้น ใช้การวิเคราะห์ทั้งใช้สมมุติฐานในกรณีต่างๆ อาทิ การขยายตัวของอุตสาหกรรม การทดแทนแรงงานต่างด้าวรวมทั้งการสัมภาษณ์เชิงลึกของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องไปผลิตแรงงานตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคต รวมทั้งยังช่วยให้นักเรียนนักศึกษา แรงงาน มีข้อมูลการวางแผนเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตามทิศทางความต้องการ”Ž อดิทัต กล่าว

ตัวเลขความต้องการแต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมายได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ มีความต้องการแรงงานรวม 235,711 ราย แบ่งเป็นระดับการศึกษาต่ำกว่า ม.6 มี 63,404 ราย วิชาชีพ 115,498 ราย อุดมศึกษา 56,807 ราย, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีความต้องการรวม 241,243 ราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6
มี 61,469 ราย วิชาชีพ 29,576 ราย อุดมศึกษา 150,198 ราย, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีความต้องการรวม 228,442 ราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 มี 18,275 ราย วิชาชีพ 125,643 ราย อุดมศึกษา 84,524 ราย, อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพมีความต้องการรวม 228,239 ราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 มี 209,752 ราย วิชาชีพ 8,673 รายอุดมศึกษา 9,814 ราย

ส่วนอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปมีความต้องการรวม 236,394 ราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 มี 97,867 ราย วิชาชีพ 69,736 ราย อุดมศึกษา 68,791 ราย, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ มีความต้องการรรวม 211,501 ราย แบ่งเป็นวิชาชีพ 74,025 ราย อุดมศึกษา 137,475 ราย, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ มีความต้องการรวม 213,486 ราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 มี 17,079 ราย วิชาชีพ 117,418 ราย อุดมศึกษา 78,990 ราย

นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ มีความต้องการรวม 215,751 ราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 มี 51,996 ราย วิชาชีพ 73,787 ราย อุดมศึกษา 89,968 ราย อุตสาหกรรมดิจิทัล มีความต้องการรวม 217,368 ราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 มี 17,389 ราย วิชาชีพ 54,342 ราย อุดมศึกษา 145,637 ราย, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร มีความต้องการรวม 221,446 ราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 มี 17,715 ราย วิชาชีพ 66,434 ราย อุดมศึกษา 137,297 ราย

โจทย์สำคัญคือการปรับตัวทุกภาคส่วน เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำอาจไม่สำคัญเท่ากับทักษะแรงงานที่มาพร้อมค่าจ้างระดับสูง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image