กรมเจรจาฯกางแผน63 ลุย2ด้าน เร่งเจรจาเปิดเสรี-หั่นภาษี-ลดขั้นตอนยุ่งยาก พร้อมกระตุ้นใช้ประโยชน์เอฟทีเอ  

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปี 2563 กรมได้กำหนดแผนงานสำคัญออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่ ด้านแรกคือการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทย ประกอบด้วย 1. เร่งทำงานร่วมกับสมาชิก RCEP อีก 15 ประเทศ เพื่อขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายความตกลง RCEP และหาข้อสรุปประเด็นคงค้างของอินเดียให้เป็นที่พอใจร่วมกัน ให้เสร็จภายในครึ่งแรกของปี 2563  เพื่อให้รัฐมนตรี RCEP ลงนามความตกลงร่วมกันในการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ตั้งเป้าปี 2563  2. เร่งเจรจาปิดรอบความตกลง FTA ที่ค้างอยู่ ทั้งไทย-ตุรกีตั้งใจสรุปผลการเจรจาปี2563 รวมถึง ไทย-ศรีลังกา และไทย-ปากีสถาน รวมถึงทบทวนสินค้าอ่อนไหวของอาเซียนกับ 3 ประเทศ คือ จีน อินเดีย และเกาหลีใต้

3. เตรียมการเข้าร่วมการเจรจา FTA กรอบใหม่ๆ และกรมได้ทำการศึกษา ระดมความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และเสนอคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินใจ  เช่น  ไทย-สหภาพยุโรป  ไทย-สหราชอาณาจักร (ภายหลังเบร็กซิท) ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(CPTPP)  ไทย-EFTA (ประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ลิกเทนสไตน์ และไอซ์แลนด์) ไทย-EAEU (ประกอบด้วยรัสเซีย เบลารุส คีร์กีซสถาน คาซัคสถาน และอาร์เมเนีย) เป็นต้น  สำหรับนโยบายให้เปิดเจรจารายมณฑลหรือรายรัฐนั้น เน้นเรื่องหารือลดอุปสรรคการส่งออกและนำเข้าระหว่างกัน ยกระดับหรือทบทวนปรับปรุงความตกลงFTA ที่ไทยทำแล้วกับหลายประเทศในปัจจุบัน เพื่อเปิดเสรีเพิ่มเติม หรือผนวกเพิ่มข้อบทใหม่ๆ ในความตกลง เพื่อให้เท่าทันสภาพแวดล้อมและรูปแบบทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เช่น อาเซียน-จีน  อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เป็นต้น

5. เข้าร่วมหรือเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการการค้า (JTC) กับประเทศคู่ค้า เพื่อเป็นเวทีความร่วมมือและเจรจาลดปัญหาอุปสรรคทางการค้าของไทย เช่น สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม สิงคโปร์ รัสเซีย บังคลาเทศ มัลดีฟส์ และโมซัมบิก เป็นต้น และ 6. สนับสนุนการปฎิรูปWTO ที่ไทยเสนอ เช่น จำกัดการอุดหนุน ลดปัญหาที่กระทบต่อการทำลายทะเล และเร่งรัดเลือกคณะทำงานด้านพิจารณาการอุทธรณ์ที่ครบวาระ 6 ใน 7 คน เพื่อให้สะสางงานอุทธรณ์ที่คงค้าง โดยในการประชุมครั้งหน้าครั้งที่ 12 คาซัคสถานเป็นเจ้าภาพ เดือนมิถุนายน

นางอรมน  กล่าวว่า ด้านที่ 2 การเสริมสร้างความรู้และความพร้อมรองรับการใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA ที่กรมทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร เช่น กรมส่งเสริมสหกรณ์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ เป็นต้น ซึ่งเป็นการจัดสัมมนาเผยแพร่และสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเอฟทีเอ  พบปะกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ และผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความเข้าใจ และสร้างความตื่นตัวในการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ

Advertisement

ซึ่งในแผนงานปี 2563  เช่น พบปะ เครือข่ายของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ใน 6 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครสวรรค์ สงขลา ระยอง และอุตรดิตถ์  พบปะกลุ่มสหกรณ์ในเครือข่ายของกรมส่งเสริมสหกรณ์ 4 จังหวัด ได้แก่ ตาก ชัยภูมิ ตราด และกระบี่  ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในปัตตานี และยะลา  โครงการจัดทัพโคนมไทยบุกตลาดต่างประเทศด้วย FTA และ การประกวดแผนธุรกิจของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เน้นเจาะตลาดอาเซียน และจีน สำหรับการประชุมกองทุนเยียวยาผลกระทบจากเอฟทีเอ นัดแรกเลื่อนไปจัดเดือนมกราคม 2563

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมี FTA 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เปรู ชิลี อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยในปี 2561 การค้าไทยกับ 18 ประเทศ มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อนหน้ากว่าร้อยละ 11 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก สำหรับช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม – ตุลาคม) การค้าไทยกับ 18 ประเทศ FTA มีมูลค่า 253,898.1  ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.4 ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก  โดยไทยส่งออก 128,271.2  ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 125,626.9 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น  รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น  สินค้านำเข้าสำคัญของไทย เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image