ตะลุยสวีเดนแลกเปลี่ยนทรรศนะ 5G เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยชั้นนำเทคโนโลยี

การประมูล 5G กำลังจะเกิดในไทยช่วงปี 2563 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำโดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ร่วมกับ นาย    จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการ ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำคณะ     ผู้บริหาร 2 หน่วยงานและสื่อมวลชนเดินทางไปสวีเดน

ร่วมประชุมกับทีมผู้บริหารของ The Swedish Post and Telecom Authority (PTS) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของสวีเดน รวมถึงเยี่ยมชมมหาวิทยาลัย Chalmers University of Technology เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านเทคโนโลยี มีนักเรียนไทย และชมยูสเคสในประเทศสวีเดน

การร่วมประชุมทีมผู้บริหารของ The Swedish Post and Telecom Authority (PTS) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของสวีเดน มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการประมูล 5G อย่างเข้มข้น เนื่องจากสวีเดนมีแผนที่จะเปิดประมูล 5G ในช่วงปี 2563 เช่นเดียวกับของไทย

Advertisement

นายฐากรระบุว่า สวีเดนมีแผนประมูล 5G ในช่วงปีหน้าเช่นเดียวกับไทย ซึ่งทางสวีเดนตื่นเต้นมากว่าไทยเดินหน้าเร็วมาก จากเมื่อ 5-6 เดือนก่อนยังดูช้าอยู่ แต่ขณะนี้ไทยสามารถเดินหน้าเรื่อง 5G จนกำหนดวันประมูลเรียบร้อยแล้วว่าเป็นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ในส่วนสวีเดนอาจเปิดประมูลไล่เลี่ยกับไทย หรือช้ากับไทยนิดหน่อย เพราะผู้ประกอบการ (operator) ยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนต่างๆ ที่จะตามมา เพราะเมื่อใครเปิดให้บริการเจ้าแรกๆ ต้นทุนจะสูงกว่าเจ้าอื่น

ทั้งนี้ กสทช.ชี้แจงไปว่าไทยคงรอไม่ได้ เนื่องจากประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน กำลังจะมีการเปิดให้บริการ 5G ทั้งในประเทศเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หากไทยให้บริการ 5G ล่าช้า อาจทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตของกลุ่มผู้ประกอบการไปยังประเทศในอาเซียนที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมดีกว่าไทย

ด้าน นางสาวแอนนา เบคเคียส หัวหน้ากลุ่ม การวิเคราะห์การใช้คลื่นความถี่ PTS ระบุว่า ขณะนี้ PTS กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรื่อง 5G Security ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เปิดประมูล 5G ล่าช้า เพราะสวีเดนอยากจะยกเครื่องเรื่องการกำกับดูแลความปลอดภัยโครงข่ายการให้บริการ (Network Security) โดยจะมีการออกมาตรการรองรับผลกระทบการใช้คลื่นความถี่กับสุขภาพ ซึ่งใช้เวลาในการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะมากว่า 6 เดือน และสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

จากที่ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน พบว่าอุปสรรคของการประมูลคลื่น 5G ของสวีเดน คล้ายคลึงกับไทย!

สวีเดนมีการเปิดประมูลคลื่น 700 MHz ปีที่ผ่านมา มีโอเปอเรเตอร์ 3 รายที่ประมูลได้ ส่วนรายที่ประมูลไม่ได้ก็ไปฟ้องศาล ซึ่งการประมูล 5G ในครั้งนั้นยังไม่ได้เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์กับผู้ใช้ทั่วไป แต่เป็นการเปิดให้บริการในภาคอุตสาหกรรม

ด้านนายจักรกฤษณ์ ตัวแทนจากทรู กล่าวว่า การเดินทางมาสวีเดน เพื่ออยากให้เห็นถึงเหตุผลการเกิด 5G ในไทย ซึ่ง 5G ไม่ได้เป็นสิ่งที่พร้อมสำหรับทุกประเทศ แต่จะพร้อมสำหรับประเทศที่เป็นผู้ผลิต และเป็นผู้ที่มีเทคโนโลยีที่สามารถใช้กับ 5G ได้ แต่เนื่องจากไทยอยากให้ 5G เกิดเพื่อผลักดันประเทศไปสู่แนวหน้า      ดังนั้นหากการประมูลคลื่นเป็นการประมูลแบบเดิม โดยใช้เงื่อนไขของราคา ทุกอย่างเหมือนเดิม ก็มีความเป็นไปได้ว่าผู้ประกอบการอาจจะไม่เข้ามาร่วมประมูล

ทั้งนี้ ประเทศสวีเดนเริ่มพัฒนา 5G ไม่ได้ใช้ราคาเป็นตัวตั้งต้นว่าต้องแพง เพื่อผลักดันให้เกิดขึ้น โดยในส่วนของไทยเองหลังจากเปิดราคาตั้งต้นประมูล 5G เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐเอื้อประโยชน์ให้เอกชน แต่อยากให้มองว่าถ้า 5G จะเกิดในไทยได้ ต้องเป็นความร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ กสทช. เอกชน ประชาชน รวมถึงฝ่ายการเมือง

สำหรับการเดินทางครั้งนี้ มีโอกาสได้เยี่ยมชม มหาวิทยาลัย Chalmers University of Technology เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านเทคโนโลยี มีนักเรียนไทย และคนใน กสทช.จบจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้หลายคน

กสทช.มีความร่วมมือกับ Chalmers University of Technology เพื่อพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมของไทยมานานหลายปี ซึ่งการมาเยี่ยมเยือนครั้งนี้ ได้มีการลงนามต่ออายุความร่วมมือระหว่าง กสทช.กับ Chalmers University of Technology ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

และมหาวิทยาลัย Chalmers University of Technology เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เสนอแนะราคาเริ่มต้นประมูล 5G ในไทยครั้งนี้กับ กสทช.ด้วย

ทั้งนี้ Chalmers University of Technology เน้นการเรียนการสอน เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยี ให้ลงไปวิจัยและทดลองในภาคปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีไปใช้งานได้จริง ซึ่งในการเดินทางไปกับคณะกสทช.และทรู ทางมหาวิทยาลัย Chalmers University of Technology พาชมห้องปฏิบัติต่างๆ ของนักศึกษา มีการทดลองทั้งในเรื่องเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เทคโนโลยีในรถยนต์

รวมถึงมีโอกาสไปเยี่ยมชมยูสเคส ในรถยนต์ และรถบรรทุกของบริษัท วอลโว่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย Chalmers University of Technology กับบริษัทเอกชน พบว่าสามารถใช้มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการสั่งการรถยนต์ เรือ รถแข่ง ได้ในลักษณะไร้คนขับ ตั้งแต่หมุนพวงมาลัย เร่งเครื่อง เบรก สตาร์ตเครื่อง ดับเครื่อง ทั้งนี้นักวิจัยคาดหวังว่าหากสวีเดนเปิดให้บริการ 5G เต็มรูปแบบจะช่วยพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image