ดิจิเทรนด์ฟอร์เวิร์ด : ทั่วโลกขาดแรงงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

“ไอเอสซีสแควร์” องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก สรุปผลการศึกษาแรงงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ประจำปี 2562 เพื่อให้เห็นภาพรวมของตลาดแรงงานด้านนี้ ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ จากการสำรวจบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กว่า 3,200 คนทั่วโลก โดยองค์กรต่างๆ สามารถนำข้อมูลจากรายงานนี้ไปใช้เป็นแนวทาง เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับสภาพตลาดแรงงานในปัจจุบันได้

ซึ่งในภาพรวม ตลาดแรงงานทั่วโลกพบว่ายังขาดแคลนบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์รวมแล้ว กว่า 4 ล้านตำแหน่ง โดยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกนั้นขาดแคลนมากที่สุด ในฝั่งบริหารองค์กร 65% ยังขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะและประสบการณ์ โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดเล็ก (มีบุคลากรน้อยกว่า 50 คน)

ในขณะที่ฝั่งผู้ปฏิบัติงาน 27% พบปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรที่จะช่วยให้ทำงานออกมาสัมฤทธิผล และอีก 24% พบปัญหาการจัดสมดุลระหว่างเรื่องงานกับชีวิตส่วนตัว สาเหตุจากปริมาณคนไม่เพียงพอกับงาน

ทั้งนี้ บุคลากรส่วนใหญ่ หรือ 38% จบปริญญาตรี รองลงมา 28% คือปริญญาโท โดยมากจบจากสายคอมพิวเตอร์หรือไอทีโดยตรง ในขณะที่บางส่วนจบจากสายอื่น เช่น วิศวกรรมหรือสายธุรกิจ อายุเฉลี่ยของ  ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ในสายนี้อยู่ที่ช่วง 35-44 ปี (33%) รองลงมาคือ 25-34 ปี (32%) คนทำงานเกินครึ่งเป็นเพศชาย รายได้เฉลี่ยต่อปีที่อเมริกาเหนือได้มากที่สุด ส่วนรายได้ในเอเชีย-แปซิฟิกกับยุโรปนั้นพอๆ กัน ในขณะที่รายได้ในฝั่งลาตินอเมริกานั้นได้น้อยสุด

Advertisement

สัดส่วนแรงงาน โดยรวมมีฝ่ายบริหารและตรวจประเมินมากกว่าฝ่ายปฏิบัติงานที่ต้องอาศัยความรู้เฉพาะทาง 63% กับ 37% โดยสายงานที่มีผู้ทำงานเยอะที่สุด 2 อันดับแรกคือ การดำเนินงานด้านความปลอดภัย 22% รองลงมาคือการบริหารความปลอดภัย 15% ขณะที่สายงานที่มีผู้ทำงานน้อยที่สุดคือการทดสอบเจาะระบบ และกฎหมาย 8% ทั้งคู่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image