คิดเห็นแชร์ : การออกแบบเมืองอัจฉริยะ (ตอน 3) (Smart Cities-Clean Energy)

ต่อเนื่องจาก 2 ตอนที่แล้วหลายๆ ท่านก็คงจะพอเข้าใจเกี่ยวกับคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับ Smart Cities และปัญหาของการพัฒนาเมือง Smart Cities ในด้านต่างๆ มาบ้างแล้ว ทีนี้ผมอยากให้ทุกท่านลองจินตนาการมากับผมนะครับว่าหากประเทศไทยมีต้นแบบในการจัดทำเมือง Smart Cites ได้จริงๆ รูปแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และประโยชน์ที่ได้จากการทำเมือง Smart Cities มีอะไรบ้าง

รูปแบบการพัฒนาโครงการเมืองอัจฉริยะ : สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย

1.การพัฒนาเมืองใหม่ คือ การพัฒนาก่อสร้างพื้นที่เมืองขึ้นใหม่ทั้งหมด การพัฒนาลักษณะนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดำเนินชีวิต สาธารณูปการ ที่อยู่อาศัย แหล่งงาน ย่านพาณิชยกรรม และพื้นที่พักผ่อน เพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรในประเทศ และมุ่งเน้นการสร้างฐานการผลิตและการบริการแห่งใหม่เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น เมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย เป็นต้น

2.การพัฒนาฟื้นฟูเมือง คือ การพัฒนา ปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเก่าแต่ชำรุดทรุดโทรมหรือมีศักยภาพไม่เพียงพอต่อการพัฒนาเมืองและประเทศในอนาคต การพัฒนารูปแบบนี้มีทั้งการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่เมืองเก่าชั้นในและพื้นที่ชานเมืองที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มศักยภาพ การพัฒนาอาคารประหยัดพลังงานในพื้นที่อยู่อาศัยและย่านพาณิชยกรรม การพัฒนาระบบผลิตและส่งจ่ายพลังงานหมุนเวียน และการติดตั้งระบบการควบคุมการให้บริการสาธารณูปโภค พื้นที่เมืองเดิมที่จะถูกคัดเลือกให้ได้รับการพัฒนาฟื้นฟูในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะมักเป็นพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างทรุดโทรมและไม่ตอบสนองต่อการพัฒนาเมืองในอนาคต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเมือง อาทิ พื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม ท่าเรือ สถานีรถไฟ สนามบิน โรงไฟฟ้า เป็นต้น เช่น เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น

Advertisement

3.การพัฒนาระบบบริหารจัดการเมือง คือ การพัฒนาเมืองที่ไม่มุ่งเน้นการพัฒนาเชิงกายภาพที่ทำให้รูปลักษณ์ของเมืองเปลี่ยนแปลง แต่เน้นการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการควบคุมการให้บริการสาธารณูปโภค การให้บริการข้อมูลแก่ประชาชน และการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ประโยชน์ของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
1.ประโยชน์ต่อด้านเศรษฐกิจ
การดำเนินการโครงการเมืองอัจฉริยะล้วนแต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการประหยัดพลังงาน และการมีระบบคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ที่สามารถลดต้นทุนของการดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งโดยมากใช้การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจดังกล่าว และจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับเมือง เพราะนอกจากระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่มีประสิทธิภาพจะช่วยดึงดูดธุรกิจต่างๆ ให้เข้ามารวมตัวอยู่ในพื้นที่เนื่องจากความได้เปรียบในการลงทุนแล้ว ความเป็นเมืองอัจฉริยะยังสามารถดึงดูดทักษะแรงงานขั้นสูง (High-skilled Worker) ให้เข้ามาในพื้นที่และช่วยส่งเสริมการลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ ได้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ประเทศต่างๆ จึงได้มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

2.ประโยชน์ต่อด้านสังคมและวัฒนธรรม
การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัยและทำงานอยู่ในพื้นที่โครงการเมืองอัจฉริยะ เป็นประเด็นสำคัญในแง่ของคุณประโยชน์ด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งการทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น ทำให้สามารถบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเวลาในการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม หรือสัมผัสกับวัฒนธรรมในการใช้ชีวิตได้มากยิ่งขึ้น มีโอกาสในการสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะมีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

Advertisement

2.1 การสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เป็นองค์ประกอบในเมืองอัจฉริยะสามารถพัฒนาต่อยอดในการที่จะช่วยยกระดับการศึกษา และการเผยแพร่ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนให้มีประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจำนวนมากจึงมุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ โดยการสร้างฐานข้อมูลทางการศึกษาเพื่อเยาวชน ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ของประชาชนทุกวัย ซึ่งจะส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนได้

2.2 การให้บริการด้านสาธารณสุข ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถช่วยในเรื่องของการบริการสาธารณสุขได้ เช่น จัดการข้อมูลประวัติ สิทธิประโยชน์ของผู้ป่วย การตรวจสอบและแจ้งเตือนการนัดหมายการบริการรักษาพยาบาล การปรึกษาแพทย์และปฐมพยาบาลเบื้องต้น การส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาล

2.3 การรักษาความปลอดภัยและการป้องกันสาธารณภัย เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสามารถประยุกต์ในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและการป้องกันสาธารณภัยได้ ไม่ว่าจะเป็นเชิงการรักษาความปลอดภัยจากอาชญากรรมด้วยระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) การควบคุมไฟแสงสว่างถนนเพื่อความปลอดภัย การจัดเก็บข้อมูลอาชญากรรมเพื่อจัดการพื้นที่เสี่ยง ระบบเรียนรู้และจดจำใบหน้า การแจ้งเตือนเหตุไฟไหม้และเหตุฉุกเฉินพร้อมระบบเปิดไฟสัญญาณจราจรเพื่ออำนวยความสะดวกให้รถฉุกเฉินเหล่านั้น และการแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ เป็นต้น

3.ประโยชน์ต่อด้านสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีประกอบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะมีความสามารถช่วยและประยุกต์ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งถือว่าเป็นการมุ่งเน้นที่จะสร้างสรรค์เมือง และวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาจมีเป้าหมายได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดพลังงาน ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาเมืองอัจฉริยะจะทำให้สามารถบริหารจัดการพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดการสูญเสีย และลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในระดับที่น้อยที่สุด การคมนาคมขนส่งเป็นอีกกิจกรรมที่สร้างผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมต่อพื้นที่เมือง

นอกจากนี้ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศยังสามารถออกแบบสำหรับการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมได้ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำระบบการติดตามข้อมูลมาใช้จริงในหลายเมืองของโลกแล้ว

ตอนหน้าจะยังเล่าให้อ่านต่อนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image