มจพ.แนะรัฐลดขั้นตอนซื้อ-ขายยาง ส่งเสริมสร้างนวัตกรรม ​เพิ่มรายได้เกษตรกร

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 15 ธันวาคม ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จ.บึงกาฬ ภายในงานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 บริเวณเวทีปราชญ์ชาวบ้าน จัดเสวนาเรื่อง “นวัตกรรม เพิ่มราคายางพารา” โดย รศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า ปัญหา​ยางพาราตกต่ำสามารถแก้ไขได้ แต่รัฐบาลต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงระบบการซื้อขาย อาทิ การกำหนดความร่วมมือระหว่างรัฐบาล​ หรือจีทูจี เพื่อลดขั้นตอนที่หลากหลายจนส่งผลกับราคายางภายในประเทศ นอกจากวิธีดังกล่าวแล้ว มองว่าไทยต้องเจาะกลุ่มตลาดใหม่ๆ อาทิ อินเดีย บราซิล​ และเกาหลีใต้​

รศ.ดร.ระพีพันธ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังต้องเน้นการสนับสนุนให้มีการนำยางไปทำนวัตกรรม​หรือผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในประเทศ อาทิ ถนนยาง, ล้อเครื่องบิน, หมอนรางรถไฟ. เครื่องนอน ซึ่งปัจจุบัน​นวัตกรรม​เหล่านี้มีการใช้ยางพาราอยู่ที่ประมาณ 5.6 พันตัน แต่หากยังไม่มีการพัฒนาหรือปรับวิธีการทำงาน คาดว่าอีก 2 ข้างหน้า ปริมาณผลผลิตยางในประเทศจะเพิ่มขึ้น แต่ราคายางพาราก็จะยังอยู่ในระดับเดิม หรือประมาณ 30-40 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะทำให้สถานการณ์​ราคายางอยู่ในระดับทรงตัว แต่ยังไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ระพีพันธ์ แดงตันกี

“มองว่าการที่รัฐบาล​มีโครงการประกันรายได้เกษตรกร ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น ดังนั้น ควรนำงบประมาณในส่วนนั้นมาสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐอุดหนุนผลิตภัณฑ์​ยางนำมาใช้ในหน่วยงาน อย่างน้อยถ้ามีการนำยางมาทำผลิตภัณฑ์​ต่างๆ ก็จะช่วยให้สต๊อกยางในประเทศลดลง ซึ่งการลดลงของจำนวนสต๊อกเพียง 1% ก็สามารถทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจ​ของประเทศ (จีดีพี)​ เพิ่มขึ้นได้ ฉะนั้นรัฐจะต้องเร่งผลักดันให้เกิดการใช้โดยด่วน” รศ.ดร.ระพีพันธ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image