“คิง เพาเวอร์” ซื้อ “ไทยแอร์เอเชีย” ผนึก ดิวตี้ฟรี-สายการบิน “เจ้าสัววิชัย” ไม่หยุดเพียงเท่านี้

"คิง เพาเวอร์" ซื้อ "ไทยแอร์เอเชีย" ผนึก ดิวตี้ฟรี-สายการบิน "เจ้าสัววิชัย" ไม่หยุดเพียงเท่านี้

“คิง เพาเวอร์” ซื้อ “ไทยแอร์เอเชีย” ผนึก ดิวตี้ฟรี-สายการบิน “เจ้าสัววิชัย” ไม่หยุดเพียงเท่านี้

กระแสความโด่งดังของ “เลสเตอร์ ซิตี้” หรือ “จิ้งจอกสยาม” ของเจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ที่สามารถก้าวขึ้นมาคว้าแชมป์พรีเมียร์ ลีก ฟุตบอลลีกสูงสุดของอังกฤษ มาครองในรอบ 132 ปี ของการก่อตั้งสโมสรยังไม่ทันจางหาย

ชื่อของเจ้าสัววิชัย และครอบครัว ก็กลับมาเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงธุรกิจอีกครั้งหนึ่ง เมื่อตัดสินใจเจียดเงินราวๆ 7,945 ล้านบาท ซื้อหุ้น “เอเชีย เอวิเอชั่น” หรือ AAV จาก “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” และครอบครัว เป็นสัดส่วนถึง 39%

หลังจากก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวออกมาเป็นระยะๆ พร้อมกันนี้เขาได้ส่งลูกชายและผู้บริหารคิง เพาเวอร์ เข้าไปนั่งเป็นกรรมการ รวมทั้งไว้วางใจให้ “ธรรศพลฐ์” บริหารไทยแอร์เอเชียต่อไป

“วิชัย ศรีวัฒนประภา” ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ จำกัด ผู้บริหารร้านค้าปลอดภาษี หรือดิวตี้ฟรี “คิง เพาเวอร์” ระบุว่า การเข้าไปลงทุนในสายการบินไทยแอร์เอเชียเป็นผนึกกำลังของ 2 ธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีศักยภาพในการทำการตลาดได้มากยิ่งขึ้น โดยที่ทั้ง 2 ธุรกิจสามารถจะต่อยอดและส่งเสริมซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี

Advertisement

การมาร่วมกันต่อยอดจะเป็นจังหวะที่ดีที่จะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเกิดโอกาสใหม่ๆ ของธุรกิจทั้งกับของฝั่งคิง เพาเวอร์และไทยแอร์เอเชีย

“การต่อยอดธุรกิจซึ่งกันและกันจะทำให้สามารถทำการตลาดได้ดียิ่งขึ้น นอกจากเป็นประโยชน์กับนักเดินทางท่องเที่ยวแล้ว การซินเนอร์ยีดังกล่าวยังจะช่วยให้ทั้ง 2 ธุรกิจสามารถการขยายฐานลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่คาดว่าจะเดินเข้ามาประเทศไทยอีกมหาศาลทั้งในปัจจุบันและอนาคต”

เขาย้ำว่า “ผมมองลงทุนในธุรกิจสายการบินมานานแล้ว โดยช่วงที่นกแอร์ก่อตั้งผมเข้าไปถือหุ้น 5% แต่ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นที่น้อยและไม่มีอำนาจบริหารเลยตัดสินใจขายออก การลงทุนในธุรกิจสายการบินนั้นหากธุรกิจเดิมไม่เอื้อจะทำได้ยากมาก ทั้งคิง เพาเวอร์ และไทยแอร์เอเชียมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นกลุ่มเดียวกันคือ นักท่องเที่ยวจีน จึงไม่ยากสำหรับการต่อยอดธุรกิจในอนาคต”

Advertisement

วิน-วิน ทั้งคิง เพาเวอร์ และแอร์เอเซีย และยิ่งจะทำให้ทั้ง 2 ธุรกิจเติบโตได้ดีขึ้นกว่าเดิม

ควบคู่กับการขยายธุรกิจมาสู่ธุรกิจสายการบิน ประธานคิง เพาเวอร์ ยังทุ่มเม็ดเงินลงทุนอีกไม่ยั้ง เริ่มจากงบฯ กว่า 5,000 ล้านบาท สำหรับการปรับโฉมครั้งใหญ่ คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ถนนรางน้ำ เพื่อรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีน และสร้างให้เป็นศูนย์กลางรับนักช็อปคนไทยและนักท่องเที่ยวนานาชาติกลุ่มเดินทางอิสระ (FIT) โดยจะเริ่มปิดปรับปรุงตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 เป็นต้นไป คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน

เช่นเดียวกับ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ ในบริเวณเดียวกัน เน้นลงทุนติดตั้งเทคโนโลยีล้ำสมัย สิ่งอำนวยความสะดวกและคอนเซ็ปต์ใหม่ๆ เข้ามาให้บริการห้องพัก ห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง ห้องอาหาร เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสบริการโฉมใหม่ เปิดเต็มตามรูปแบบเดือนตุลาคม 2559

ส่วน คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ภูเก็ต จะทุ่มงบฯ ลงทุนอีกกว่า 3,500 ล้านบาท ปรับแผนลงทุนใช้เงินเพิ่มจาก 1,200 ล้านบาท เป็น 3,500 ล้านบาท พัฒนาโครงการในที่ดิน 30 ไร่ ตกแต่งพื้นที่ร้านค้า ร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกให้เพียงพอรองรับนักช็อปเผื่ออนาคตไปถึงอีก 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังจะลงทุนเปิดดิวตี้ฟรีที่เชียงใหม่ ในรูปแบบคอมเพล็กซ์ดาวน์ทาวน์ ด้วยงบฯ 700-1,000 ล้านบาท เพื่อรองรับตลาดนักท่องเที่ยวจากเพื่อนบ้านหลายประเทศจะหลั่งไหลเดินทางเข้าภาคเหนือและเชียงใหม่จำนวนมาก รวมทั้งมีแผนจะพัฒนาเฟส 2 ของโครงการคิง เพาเวอร์ ศรีวารี คอมเพล็กซ์ ถนนบางนา-ตราด ที่ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวไปจับจ่ายวันละกว่า 10,000 คน

ไม่เพียงเท่านี้ คิง เพาเวอร์ ยังแสดงความสนใจเข้าไปลงทุนเปิดร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินอู่ตะเภาด้วย

นี่อาจจะเป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนของอาณาจักรคิง เพาเวอร์ ที่ “วิชัย” ใช้เวลาสร้างมา 26-27 ปี จนมีบริษัทและธุรกิจในเครือเกือบ 20 บริษัท ครอบคลุมทั้งธุรกิจดิวตี้ฟรี โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีก และมีสินทรัพย์มากกว่า 84,000 ล้านบาท และมีรายได้เฉียดๆ 1 แสนล้านบาทเข้าไปทุกขณะ

โดยที่ยังไม่นับรวมถึงรายได้ของสโมสรจิ้งจอกสยาม ที่จากนี้ไปจะมีรายได้เข้ามาอีกมากมายมหาศาล ซึ่งล่าสุด มูลค่าของสโมสรพุ่งขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดจากที่แม่ทัพใหญคิง เพาเวอร์ ไปซื้อมาประมาณ 2,000 ล้านบาท เมื่อช่วงปี 2553 แต่ตอนนี้ตัวเลขสูงถึงกว่า 15,000 ล้านบาท

ด้วยวิสัยทัศน์ เงินทุน และคอนเน็กชั่นที่แนบแน่นในทุกวงการ เป้าหมายและความฝันของผู้ก่อตั้งอาณาจักรคิง เพาเวอร์ คงไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา แม่ทัพใหญ่ คิง เพาเวอร์ เปรยๆ ว่า มีแผนจะเดินหน้าลงทุนในธุรกิจที่ถนัด ด้วยการผนวกเอา 3 ธุรกิจเข้าด้วยกัน ได้แก่ การท่องเที่ยว ดิวตี้ฟรี และกีฬาฟุตบอล เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ในเอเชียและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

ซึ่งในอีกด้านหนึ่งจะเป็ยนการช่วยรัฐบาลสร้างมูลค่าทำให้ประเทศไทยและวิถีชุมชนฐานรากเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว แหล่งผลิตสินค้า ขยายช่องทางการจำหน่าย โฆษณาประชาสัมพันธ์การตลาด ผ่านเครือข่ายดิวตี้ฟรี และการแข่งขันฟุตบอลระดับโลกทุกแมตช์ระหว่างการถ่ายทอดสู่สายตาผู้ชมทั่วโลกหลายร้อยล้านคนจะได้เห็นแบรนด์ประเทศไทย

การขยายอาณาจักรทางธุรกิจจากธุรกิจดิวตี้ฟรี และธุรกิจฟุตบอล มาสู่ธุรกิจสายการบินครั้งนี้ อาจจะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญอีกตัวหนึ่งที่เจัาสัววิชัย จะใช้เป็นบันไดในการก้าวข้ามไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องในอนาคต

เจ้าพ่อ คิง เพาเวอร์ มหาเศรษฐีผู้มากคอนเน็กชั่นคนนี้ คงไม่หยุดเพียงเท่านี้แน่นอน

อีกไม่นาน ภาพของการชินเนอร์ยี ธุรกิจดิวตี้ฟรี ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจฟุตบอล เข้าด้วยกันน่าจะมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image