‘กรมชลฯ’​ ผุด ‘ทุ่นยางดักผักตบ’ หวังช่วยลดสต๊อกยาง คาดปี’63 ระบายได้กว่าหมื่นตัน

‘กรมชลฯ’​ ผุด ‘ทุ่นยางดักผักตบ’ หวังช่วยลดสต๊อกยาง คาดปี’63 ระบายได้กว่า 1.02 หมื่นตัน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 16 ธันวาคม ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จ.บึงกาฬ ภายในงานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 บริเวณเวทีปราชญ์ชาวบ้าน จัดเสวนา “ทุ่นยางพาราดักผักตบชวา” โดยนางกัญญา อินทร์เกลี้ยง วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมชลประทาน กล่าวว่า วัตถุประสงค์การทำทุ่นยางพาราฯเพื่อต้องการสร้างต้นแบบแนวทางการใช้ยางแผ่นรมควันจากเกษตรกร โดยกรมชลฯจะซื้อขายผ่านการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำโดยพัฒนาทุ่นยางจากยางพารา สำหรับการควบคุมวัชพืชน้ำในเขตชลประทาน

นางกัญญากล่าวว่า ในส่วนขั้นตอนการผลิตได้เลือกใช้เป็นยางแผ่นรมควันที่ค้างอยู่ในสต๊อก 1-2 ปี แม้ว่ายางเก่าจะมีมวลความหนาน้อยกว่ายางใหม่ แต่ยืนยันว่าประสิทธิภาพในการใช้งานและความยืดหยุ่นไม่ต่างกัน โดยทุ่นยางพาราเริ่มมีการวิจัยในปี 2562 ตอนนี้เพิ่งผลิตเสร็จ และจะนำไปใช้ในสำนักงานชลประทานที่ 10,11 และ12 โดยจะได้มีการติดตั้งทุ่น 17 ท่อนต่อจุด ทั้งนี้ จะต้องมีการประเมินผลการใช้งานภายใน 2 ปี แต่เมื่อครบ 5 ปี ต้องมีการนำทุ่นมาตรวจสอบและซ่อมแซมต่อไป ซึ่งในปีนี้มีการใช้ยางแผ่นรมควันไปแล้วกว่า 30 ตัน หรือประมาณ 1,000 ทุ่น

Advertisement

“เป้าหมายการดำเนินงานในปี 2563 หลังจากได้ผลวิจัยในปี 2562 แล้ว จะมีการนำข้อมูลมาพัฒนา ก่อนที่จะมีการกระจายทั่วไปติดตั้งในโครงการชลประทาน 200 โครงการ หรือประมาณ 100 จุด คาดว่าจะใช้ทุ่นจำนวน 3.4 แสนทุ่น และคาดว่าจะใช้ปริมาณยางแผ่นรมควันประมาณ 10,200 ตัน ซึ่งจะช่วยให้ลดจำนวนยางที่ค้างสต๊อกให้ลดน้อยลง ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น” นางกัญญากล่าว

นางกัญญากล่าวต่อว่า ปัจจุบันกรมชลประทานอยู่ระหว่างการวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีส่วนผสมของยางพาราเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากทุ่นดังกล่าวเพิ่งเริ่มนำไปใช้งาน ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างศึกษาตัวทุ่นว่าเป็นอันตรายต่อน้ำหรือไม่ เบื้องต้นยังไม่มีรายงานเรื่องผลกระทบ อีกทั้งสามารถป้องกันผักตบไม่ให้ไปขวางทางน้ำได้อย่างดี

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image