เฉลียงไอเดีย : ‘วาริน เตชะวิเชียร’ผู้บริหารวัยใส จับความชอบ ปั้นสร้างธุรกิจแนวๆ หยิบสินค้าพื้นๆใส่เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่า

“จุดเริ่มต้นของธุรกิจมาจากความชอบของผมจริงๆ เพราะเชื่อว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนโลกใบนี้ได้อย่างมากมาย จะไม่ใช่การก้าวอยู่กับที่ เหมือนกับที่ผ่านมาอย่างแน่นอน การสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา แล้วสิ่งนั้นสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตในปัจจุบันของคนทั่วไป ทำให้ชีวิตดีขึ้น เช่น นาฬิกาอัจฉริยะที่สามารถนับก้าวการเดินในแต่ละวันได้ วัดอัตราการเต้นของหัวใจได้ แม้บางคนจะมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ แต่คนส่วนใหญ่ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะหากเราไม่สามารถวัดค่าหรือนับค่าของสิ่งใดได้ เราก็จะไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดทิศทางของสิ่งนั้นๆ ได้ โดยเฉพาะร่างกายของเราเอง การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต ถือว่ามีโอกาสเติบโตสูง โดยเฉพาะในยุคที่อินเตอร์เน็ตเติบโตเร็วมาก และมีประสิทธิภาพมาก”

คำพูดจากคุณบอส หรือ นายวาริน เตชะวิเชียร ประธานบริหาร บริษัท เซส โกลบอล จำกัด และผู้ก่อตั้งแบรนด์เซส (ZACE) ซึ่งมีสินค้าภายใต้แบรนด์ที่ได้รับความนิยมหลากหลาย โดยเฉพาะกำไลสายชาร์จ กำไลข้อมือหนังแท้ที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือได้ด้วย

ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เซสได้เปิดตัวสินค้าตัวใหม่ “เซส วอลเล็ต (Zace Wallet)” กระเป๋าสตางค์ที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือได้ด้วยเช่นกัน แค่กดปุ่มใช้งานและวางสมาร์ทโฟนไว้บนกระเป๋าสตางค์ก็กลายร่างเป็นเพาเวอร์แบงก์ชาร์จแบตเตอรี่มือถือได้เลย

นอกจากนี้ เซส ยังมีสินค้าอื่นๆ ได้แก่ แล็ปเดสก์ (Lapdesk) ซึ่งเป็นขาตั้งแล็ปท็อปพกพาที่สามารถพับได้ ช่วยให้คนยุคใหม่อยู่ในท่านั่งทำงานที่ถูกต้อง ลดอาการปวดหลัง-ปวดคอได้

Advertisement

จะเห็นว่าสินค้าแต่ละชนิดล้วนเป็นสินค้าที่ Adapt จากสินค้าพื้นฐานที่มีอยู่แล้วในตลาด ปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ชีวิตคนปัจจุบันมากขึ้น โดยตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะมีตลาดรองรับเพิ่มอย่างไม่หยุดยั้ง และในอนาคตจะยังเติบโตสูงได้อีก

ไม่ต้องดูอื่นไกล อย่างบริษัท เซส โกลบอล จำกัด มีอายุไม่ถึง 2 ขวบดี แต่มีอัตราการเติบโตดีมาก ทั้งรายได้และกำไร ด้วยทุนตั้งต้นเพียง 1 ล้านบาท มีกำไรเติบโตกว่า 100% ทีเดียว

ซึ่งไม่แปลกใจเลย เมื่อรู้ว่าคุณบอส ที่นอกจากเป็นนักธุรกิจหนุ่มวัยเพียง 24 ปี จึงมีเคมีเข้ากันกับกลุ่ม
มิลเลนเนียลแล้ว ยังได้สั่งสบประสบการณ์การทำธุรกิจของคนรุ่นเก่าแต่ยังเก๋า มาก่อตั้งบริษัทเพื่อผลิตสินค้าเจ๋งๆ แนวๆ ขึ้นมา

Advertisement

คุณบอสเล่าว่าก่อนจะมาเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง ได้เข้าทำงานในบริษัทที่เป็นธุรกิจครอบครัวมาก่อน ซึ่งการได้ทดลองบริหารจัดการพนักงานภายใต้การดูแลหลายร้อยคน ทำให้มีภูมิคุ้มกันในแง่ของการผ่านปัญหาหรืออุปสรรคใหญ่ๆ มามากแล้ว ทำให้การเริ่มต้นทำบริษัทที่เป็นของตัวเองจึงไม่ได้ยากกว่าที่ผ่านมามากนัก โดยความยากที่เจอเป็นเรื่องของการเริ่มต้นจากศูนย์เลยมากกว่า เพราะการเปิดบริษัทใหม่ เท่ากับต้องล้างและทำทุกอย่างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ความท้าทายของธุรกิจที่เริ่มต้นใหม่จึงอยู่ที่การเริ่มต้นจากศูนย์ เพราะหากดูจากการสำรวจจะเห็นว่า หากนับธุรกิจที่เริ่มต้นพร้อมกัน 100 บริษัท จะมีเพียง 10 บริษัทที่อยู่รอด และธุรกิจที่สร้างรายได้จนร่ำรวยก็มีเพียง 1 บริษัทเท่านั้น โดยจะเห็นว่าความยากอยู่ที่การเริ่มต้น เพราะคุณเริ่มมาพร้อมกัน 100 คน แต่มีเพียง 10 คนที่รอด และ 1 คนเท่านั้นที่เติบโตและร่ำรวย ซึ่งหากถามว่าบริษัทจะอยู่รอดและเติบโตได้อย่างนั้น คำตอบง่ายๆ เลยคือ สินค้าดี แบรนด์ดี ทำการตลาดดี ขอแค่มี 3 อย่างนี้เท่านั้น ยังไงก็รอด อย่างไรก็มีคนซื้อแน่นอน

“แม้ว่าตัวผมจะถูกมองว่าอาจจะยังเด็กอยู่ แต่หากได้พูดคุย หรือเจรจาเรื่องงานร่วมกัน ทุกคนจะเปลี่ยนมุมมองว่า เราไม่ได้เด็กแล้ว จากประสบการณ์ที่มี จากความคิดและความรู้ที่เรามีทั้งหมด จะเปลี่ยนแปลงความคิดของคนที่เข้ามาคุยและตั้งคำถามว่า ทำไมเราดูเข้าใจในแง่ของธุรกิจ เข้าใจอะไรหลายๆ เรื่อง จนมองเราเปลี่ยนไปในที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา การเจรจาธุรกิจต่างๆ กับพันธมิตรทั้งหมดที่เคยหารือร่วมกัน ต่างมีความยินดีต้อนรับและไม่ได้มองว่าเราเป็นเด็กหรืออะไร”

คุณวารินเล่าต่อว่า จุดเริ่มต้นทำงานอย่างจริงจังครั้งแรก เริ่มขึ้นในปี 2559 ด้วยตำแหน่งพนักงานขาย เพราะอยากเรียนรู้งานที่เป็นธุรกิจของครอบครัว แต่ครั้งจะไปเริ่มในตำแหน่งผู้บริหารก็คงไม่สามารถทำได้ เพราะตนเองยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเนื้องานเลย จะให้เข้าไปบริหารจัดการพนักงานหลายร้อยชีวิต และธุรกิจทั้งหมดของบริษัทก็คงไม่เหมาะสม จึงเริ่มต้นด้วยการเป็นพนักงานขาย ออกไปพบเจอลูกค้าวันละ 4-5 ราย เริ่มงานแต่เช้ากลับบ้าน 3-4 ทุ่มทุกวัน ซึ่งการเรียนรู้งานในระดับตั้งต้น จนค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหาร ทำให้รู้และเข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง รู้ว่าสิ่งที่ต้องพบเจอในแต่ละวันเป็นอย่างไร จึงสามารถนำประสบการณ์เหล่านั้นมาบริหารพนักงานต่อได้ เพราะเคยเจอและเรียนรู้กับสิ่งเหล่านั้นมาแล้วเช่นเดียวกัน

“จากเดิมที่ทำงานในธุรกิจครอบครัว ก็ทำเต็มที่ตั้งแต่ 08.00-18.00 น. กลับบ้านก็รู้สึกเหนื่อยมากแล้ว แต่พอต้องบริหารบริษัทตัวเอง เราต้องทำมากขึ้น แทบจะเรียกว่าทำงานอยู่ตลอดเวลา มีการพักผ่อนบ้าง แต่ไม่ได้พักมากเหมือนแต่ก่อนแล้ว โดยส่วนตัวมองว่าชีวิตเหมือนการยกเวท (เครื่องมือสร้างกล้ามเนื้อ) ที่หากเรายกในน้ำหนักมากๆ ถึงจุดหนึ่งแล้วจากที่เคยเจ็บ ก็จะไม่เจ็บแล้ว และจะสามารถยกได้มากขึ้น ซึ่งการทำงานเปรียบได้เหมือนกัน เมื่อถึงจุดที่เราเรียนรู้มาก และเข้าใจแล้ว เราก็จะเรียนรู้ได้เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ได้เหนื่อยเท่าเดิม รวมถึงยังมีแนวคิดในเรื่องการประกอบธุรกิจว่า แม้การเริ่มต้นจะไม่รู้ว่าทำไปแล้วจะรอดหรือไม่รอด แต่ทุกการลงมือทำ ก็คือเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นเพิ่มขึ้นแล้ว ทำให้แม้เราทำไปแล้วจะไม่รอด แต่ก็ถือว่าได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากเรื่องที่ไม่รอดนั้น…อยู่ดี”

คุณวารินกล่าวอีกว่า จุดยืนในการทำธุรกิจอีกเรื่องที่ต้องนึกถึง นอกเหนือจากการสร้างรายได้แล้ว ยังต้องทำประโยชน์คืนสู่สังคมด้วย จึงได้ทำโครงการ “ยัวร์ แชร์ ยัวร์ ชอยส์” โครงการแบ่งปันกำไรคืนสู่สังคม โดยในทุกๆ การซื้อกำไลสายชาร์จ ผู้ซื้อคือผู้ให้ ร่วมบริจาคเงิน 2 เหรียญสหรัฐแก่มูลนิธิต่างๆ ทั้งนี้ผู้ซื้อสามารถเลือกมูลนิธิในการบริจาคได้ด้วยตัวเอง เพราะเชื่อว่าความหมายของชีวิตคือการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยเช่นกัน
ซึ่งจุดยืนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของผู้บริหาร ที่นอกจากจะเก่งในแง่ของธุรกิจแล้ว ยังเก่งในเรื่องของการช่วยเหลือสังคม เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของแนวคิดการทำธุรกิจเก่าๆ ที่เน้นสร้างกำไรและรายได้ก่อน ทำให้เป็นโอกาสของประเทศไทย ที่หากมีธุรกิจใหม่ ที่ผู้บริหารมีแนวคิดใหม่และดีด้วยแบบนี้ ก็คงสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้มากกว่าที่ผ่านมา

หากใครยังคิดไม่ออกว่าจะซื้ออะไรเป็นของขวัญส่งความสุขท้ายปีเพื่อต้อนรับปีหนู ผลิตภัณฑ์แบรนด์ ZACE เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี เพราะนอกจากจะเป็นของขวัญแนวๆ ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ผู้ให้และผู้รับยังรู้สึกดีๆ เพราะได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ให้ ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่น่าอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image