เฉลียงไอเดีย : ศุภจี สุธรรมพันธุ์ จากผู้บริหารด้านเทคโนโลยี รับไม้ต่อเปิด‘บ้านดุสิตธานี’ รักษาแบรนด์-ฐานลูกค้า ชูเอกลักษณ์ไทยดังไกลเทียบชั้นระดับโลก

ศุภจี สุธรรมพันธุ์

เมื่อพูดถึง โรงแรมดุสิตธานี ถือเป็นโรงแรมในตำนานสัญชาติไทย ที่มีอายุยืนยาวถึง 49 ปี แต่เมื่อผู้บริหารกลุ่มดุสิตธานี ตัดสินใจรื้อถอนแลนด์มาร์กสำคัญย่านลุมพินีแห่งนี้ออก โดยจะไปสร้างใหม่ในย่านพระราม 4 คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี และคาดว่าจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งประมาณปี 2566 ถึงคิวที่        คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ซีอีโอนอกครอบครัว   คนแรกของกลุ่มดุสิตธานี แถมยังไม่ได้บริหารงานด้านบริการ แต่บริหารงานด้านเทคโนโลยีมายาวนานกว่า 30 ปี ก่อนจะมารับหน้าที่สานต่อความเป็นดุสิตธานี โดยการสร้าง “บ้านดุสิตธานี” ขึ้นมาเพื่อล็อกความสุขและฐานลูกค้าเอาไว้ไม่ให้เลือนหายไป ระหว่างรอยลโฉมใหม่ของโรงแรมดุสิตธานีหลังก่อสร้างเสร็จ

กว่าจะได้ที่ดินแห่งนี้มาเปิดเป็นบ้านดุสิตธานี ได้มีการเชิญเจ้าของที่ดินไปสัมผัสกับการให้บริการของพนักงานของโรงแรมดุสิตธานี ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงที่อยากจะรักษาความเป็นดุสิตธานีไว้ โดยที่บ้านดุสิตธานี ได้นำร้านอาหารของโรงแรมมารวมกันไว้ในที่เดียวเพื่อเป็นการรักษาอัตลักษณ์เอาไว้ ถึงแม้ว่าคุณศุภจีจะไม่ได้เป็นคนในครอบครัวดุสิตธานี และไม่ได้มาจากสายธุรกิจการบริการโดยตรง แต่เมื่อโลกเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคดิสรัปชั่น บริษัทต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจโรงแรม หรือธุรกิจบริการ

สำหรับที่ตั้งของบ้านดุสิตก็คือ บ้านศาลาแดง ซึ่งมีความโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมจากยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยคุณศุภจีได้นำมาปรับแปลงโฉม พร้อมดึงร้านอาหารชั้นนำจากโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ มาให้บริการ ทั้งดุสิตกูร์เมต์ เบญจรงค์ และเธียนดอง

Advertisement

คุณศุภจีได้เล่าความเป็นมาของการทำบ้านดุสิตธานีให้ฟังอย่างเป็นกันเองว่า หลังจากโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ยุติการให้บริการอย่างเป็นทางการ กลุ่มดุสิตธานีจึงสร้างบ้านดุสิตธานี ให้เป็นร้านอาหารแบบ     สแตนอโลนแห่งแรกของกลุ่ม ได้ทำสัญญาเช่าบ้านสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีคุณค่าด้านงานสถาปัตยกรรมที่งดงามรายล้อมไปด้วยพื้นที่สีเขียวกว่า 4.5 ไร่ ตั้งอยู่ในซอยศาลาแดง

ภายในพื้นที่มีบ้านหลังใหญ่ที่ปรับเปลี่ยนเป็นห้องอาหารเบญจรงค์ และบ้านหลังรองเป็นดุสิตกูร์เมต์ ส่วนอาคารเก็บของด้านหลัง ปรับเป็นร้านอาหารเธียนดอง และยังมีศาลาเต้นรำเหมาะสำหรับการจัดงานสังสรรค์ เรียกได้ว่ายังคงความเป็นดุสิตธานี ไว้อย่างชัดเจน เพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าเก่า พร้อมทั้งสร้างความรู้สึกที่ดีแก่ลูกค้าใหม่

Advertisement

บ้านดุสิตธานี เป็นหนึ่งในโครงการมิกซ์ยูส ดุสิต เซ็นทรัลพาร์ค ใช้งบในการก่อสร้างรวมอยู่ในมูลค่าโครงการกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท ที่กลุ่มดุสิตธานียังเดินหน้าสร้างโครงการใหม่ออกมาตอบโจทย์ความต้องการของสังคมยุคใหม่อยู่เสมอ

แต่สำหรับบ้านดุสิตธานี จะมีความพิเศษที่นอกจากจะนำเอกลักษณ์ด้านงานจิตรกรรม และร้านอาหารที่บ่งบอกความเป็นดุสิตธานีแล้ว ยังเป็นการดูแลพนักงานในช่วงที่รอโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่สร้างเสร็จอีกด้วย

“ในช่วงแรกๆ ที่พนักงานทุกคนทราบว่าโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ จะถูกรื้อถอน ดิฉันและพนักงานที่อยู่กับโรงแรมนี้มานานถึงกับกอดกันร้องไห้ รู้สึกใจหาย อยากเก็บความทรงจำดีๆ”

คุณศุภจีย้อนรำลึกถึงวันที่รู้ข่าว และรู้สึกดีที่กลุ่มดุสิตธานีไม่ทอดทิ้งพนักงาน อยู่กันเป็นครอบครัว พร้อมจะช่วยเหลือกัน การเข้าทำงานที่บ้านดุสิตธานีพนักงานมาด้วยความสมัครใจ “จะถามความสมัครใจว่าใครอยากจะมาทำงาน เป็นเรื่องที่กลุ่มดุสิตธานีให้ความใส่ใจ ทำให้พนักงานทุกคนมีความสุขในการทำงาน”

สำหรับคุณศุภจีที่เลือกเข้ามาอยู่ใต้ร่มดุสิตธานี  เธอบอกว่าเพราะหลงรักกับวิสัยทัศน์ของกลุ่มดุสิตธานีที่อยากให้ธุรกิจโรงแรมของไทยเทียบระดับโลก ซึ่งก่อนที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารที่นี่ ได้มีโอกาสไปทำงานที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เกือบ 2 ปีผู้ร่วมงานส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ จึงมีความรู้สึกว่า เราควรกลับมาทำงานอยู่ในบริษัทไทย และพัฒนาบริษัทให้เป็นที่รู้จักของทั่วโลกดีกว่า ซึ่งเป็น      วิสัยทัศน์เดียวกับกลุ่มดุสิตธานีที่ต้องการทำให้ เป็นที่รู้จักในระดับโลก

เมื่อถามถึงก้าวต่อไปของดุสิตธานีหลังจากนี้ คุณศุภจีเล่าว่า อนาคตของดุสิตธานีจะมีความหลากหลายมากขึ้น สามารถตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงในโลกนี้ได้มากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่ทิ้งความเป็นเอกลักษณ์ที่ลูกค้าประทับใจ จะยังคงรักษาตัวตนของดุสิตธานีไว้

ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องดิสรัปชั่นในการบริหารธุรกิจโรงแรม คุณศุภจีบอกว่า ปัจจุบันต้องเน้นเรื่องไลฟ์สไตล์ ดุสิตธานีจึงสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาชื่อว่า “อาศัย” ตั้งใจสร้างเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่ม  มิลเลนเนียล โดยโรงแรมอาศัย จะตั้งอยู่ใจกลางเยาวราช แหล่งรวมวัฒนธรรมและย่านการค้าการลงทุนที่สำคัญของกรุงเทพฯ

การลงทุนธุรกิจโรงแรมอาศัย กรุงเทพฯ ไชน่าทาวน์ ถือเป็นการตอกย้ำแนวคิดการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจของกลุ่มดุสิตธานี ผ่านการกระจายการลงทุนที่จะสร้างโอกาสและศักยภาพในการเติบโตอย่างมีคุณภาพในอนาคต โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ให้เข้ากับสังคมยุคใหม่ต่อไป ทั้งนี้ คุณศุภจียืนยันว่ากลุ่มดุสิตธานีไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้แน่นอน จะมีแบรนด์ใหม่ๆ ตอกย้ำความเป็นดุสิตธานียุคใหม่ที่มีความเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ

นอกจากการพัฒนาธุรกิจโรงแรมแล้ว กลุ่มดุสิตธานียังมีอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญคือ การขยายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องโดยเฉพาะธุรกิจอาหารภายใต้บริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด ล่าสุดได้ร่วมทุนกับเรียลฟู้ด ผู้ผลิตอาหารสุขภาพ โดยมีช่องทางจำหน่ายในเวอร์จิ้น แอ๊กทีฟ ในแอฟริกาใต้ และมีแผนขยายมาภูมิภาคเอเชีย เริ่มจากไทย โดยเริ่มเปิดสาขาแรกแล้วที่วิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน และปีหน้าจะขยายไปสิงคโปร์ จีน รวมถึงตะวันออกกลาง หลังจากที่ผ่านมาบริษัทได้มีการลงทุนในธุรกิจอาหารไปแล้วไม่ว่าจะเป็น บริษัท เอ็นอาร์ เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โพรดิวซ์ จำกัด (เอ็นอาร์ไอพี) ผลิตและส่งออกอาหารพร้อมทาน เครื่องปรุงรส ซอส ล่าสุดอยู่ระหว่างพัฒนาอาหารที่ผลิตจากพืชที่ให้โปรตีนสูง รองรับแนวโน้มผู้บริโภคปัจจุบันที่ไม่ทานเนื้อสัตว์หรือสิ่งมีชีวิต และกลุ่มรักสุขภาพ ซึ่งมีโอกาสทางการตลาดสูง

รวมถึงเตรียมนำเอ็นอาร์ไอพีเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย รวมถึงการเข้าถือหุ้น 70% ในบริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจให้บริการอาหารและเครื่องดื่มแก่โรงเรียนนานาชาติในไทยกว่า 30 โรงเรียน และปีหน้าเตรียมขยายในเวียดนาม ส่วนเป้าหมายรายได้ของบริษัทในปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ 10-15% ในทุกธุรกิจ

โปรเจ็กต์เยอะ งานแยะขนาดนี้ ฟังแล้วหนักใจแทน แต่คุณศุภจียังยิ้มอย่างเบิกบาน เผยเคล็ดให้ฟังว่า        “ในทุกๆ เช้าจะสวดมนต์เพื่อทำสมาธิ เพื่อให้ตนเองมีสติในการคิดวิเคราะห์งานอยู่เสมอ ในยุคปัจจุบันเชื่อว่าผู้บริหารไม่เพียงแต่กลุ่มดุสิตธานีก็มีหมวกหรือหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบอยู่หลากหลายด้านเช่นกันฉะนั้น     ถ้าเรามีสติในแต่ละหน้าที่อยู่เสมอ มันจะสามารถช่วยทำให้เราทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำได้อย่างเต็มที่แน่นนอน”   คุณศุภจีกล่าวทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image