‘สนค.’ เผยเงินเฟ้อธ.ค.พุ่งแตะ 0.87% ปรับตัวสูงสุดในรอบ 5 เดือน

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  เปิดเผย ถึงสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือนธันวาคม และปี 2562 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ หรือ เงินเฟ้อ เดือนธันวาคม 2562 เท่ากับ 102.6 สูงขึ้น 0.87% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หรือเท่ากับ 101.73 และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันสูงสุดในรอบ 5 เดือน หลังจากชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยมีสาเหตุสำคัญจากราคาอาหารสดที่สูงขึ้น ในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่สูงขึ้นร้อยละ 1.73 เช่น ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า เนื้อหมู หอมแดง และการหดตัวของราคาพลังงานที่หดตัวต่ำสุดในรอบ 8 เดือน

ทั้งนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 0.49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 2562 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้น 0.52 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวอยู่ในกรอบ 0.71% โดยอยู่ในกรอบคาดกลางของกระทรวงพาณิชย์ที่ 0.7 -​1% ซึ่ง เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา โดยสนับสนุนให้การบริโภคเพิ่มขึ้นสะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการบริโภคในประเทศขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 รวมถึงทำให้รายได้และความต้องการบริโภคของเกษตรกรเพิ่มขึ้นอีกด้วย

“สนค. ได้ประมาณการณ์อัตราเงินเฟ้อ ปี 2563 โดยคาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเด่นชัด และการใช้จ่ายเงินงบประมาณด้านการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่จะเริ่มเห็นผลในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จะเป็นแรงหนุนให้เงินเฟ้อปี 2563 ขยายตัวในกรอบ 0.4-1.2% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 0.8% ภายใต้สมมุติฐานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ขยายตัว 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 58-68 เหรียญต่อบาร์เรลและมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเลขคาดการณ์​เป็น 60-70 เหรียญต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในเรื่องของค่าบาทยังไม่มีผลกระทบต่อการขยายตัวของอัตรา​เงินเฟ้อ​แต่อย่างใด” นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว

นอกจากนี้ สนค.ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อไตรมาสแรกของปี 2563 จะขยายตัวที่ 0.8% จากราคาพลังงานที่สูงขึ้นและจะค่อย ๆ ลดอิทธิพลลงในช่วงครึ่งปีหลัง ในขณะที่ราคาอาหารสดจะยังขยายตัวต่อเนื่อง ตามแนวโน้มสภาพอากาศที่กระทบต่อผลผลิต ด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และหากสถานการณ์เศรษฐกิจ ความผันผวนของโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น จะสนับสนุนให้การลงทุนของภาคเอกชนและการส่งออกขยายตัวได้ดียิ่งขึ้น ส่วนปัญหาภัยแล้ง สนค.ยอมรับว่าส่งผลให้สินค้าบางชนิด อาทิ ผักสด มีราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด ทั้งนี้ สนค.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image