คิดเห็นแชร์ : ‘ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดีพร้อม (DIProm)’

สวัสดีปีใหม่ 2563 แฟนๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ ในโอกาสวาระขึ้นปีใหม่ ผมขออวยพรให้ทุกท่านมีความสุข ธุรกิจเจริญก้าวหน้า ค้าขายร่ำรวย ตลอดปีหนูทองครับ…และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผมในฐานะอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้แถลงนโยบายและทิศทางในการดำเนินงานภายใต้ปี 2563 ซึ่งผมและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ช่วยกันระดมสมองในการสรรสร้างและวางแนวทางในการพัฒนาพี่น้องผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้บรรลุตามเป้าหมาย จึงเป็นที่มาของนโยบาย “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดีพร้อม (DIProm)” รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ผมขอใช้โอกาสนี้แชร์ให้ทุกท่านได้ทราบครับ

ก่อนอื่นผมขอขยายความที่มาของคำว่า DIProm ซึ่งย่อมาจาก Department of Industrial Promotion หรือชื่อภาษาอังกฤษของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมนั่นเอง สามารถอ่านออกเสียงได้ว่า “ดีพร้อม” (DIProm) โดยในอดีต หลายท่านคงคุ้นหูชื่อย่อของกรม เช่น กสอ. กรมส่งเสริม หรือ DIP ดังนั้น เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น กรมจึงมีแนวคิดที่ใช้คำว่า “ดีพร้อม” เป็นชื่อย่อ ผนวกกับนโยบายที่กรมต้องเร่งดำเนินการ จึงเป็นที่มาของนโยบายการดำเนินงานปี 2563 ที่ชื่อว่า “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดีพร้อม (DIProm)”

โดยเริ่มจากการ “ปั้น” ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ใน 3 มิติ “ก – ส – อ” คือ

มิติที่ 1 (ก) : ปั้นเอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรม โดยพัฒนาจากเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ ที่ใช้การบริหารจัดการ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนเกษตรกรให้เป็นนักธุรกิจเกษตร โดยนำระบบการผลิตและบริหารจัดการในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจเกษตร เช่น Toyota Production System (TPS), Kaizen และนำนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป นอกจากนี้ ยังรวมถึงการปั้นธุรกิจเอสเอ็มอีด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรที่ยังขาดแคลน เช่น เครื่องลดความชื้นข้าวเปลือก ตลอดจนการปั้นเอสเอ็มอีผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรแปลงเล็กแบบครบวงจรในอัตราค่าบริการที่เอื้อมถึงได้ การส่งเสริมการพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) ในทุกภูมิภาค ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิต และการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการต่อยอดธุรกิจ

Advertisement

มิติที่ 2 (ส) : ปั้นเอสเอ็มอีให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญา เชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ จนเกิดเป็นอัตลักษณ์และมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ของชุมชน รวมถึงปั้นระบบการพัฒนาคนรุ่นใหม่ โดยร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อสร้างระบบฝึกงานให้นักศึกษาในภาคการเรียนปกติ หรือที่เรียกว่า “สหกิจ” โดยนักศึกษาจะได้รับหน่วยกิตและผลคะแนนจากการนำความคิดสร้างสรรค์และความรู้ในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้กับการทำงานจริงในสถานประกอบการซึ่งเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์และเสริมสร้างแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ (New Entrepreneur)

มิติที่ 3 (อ): ปั้นเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพ ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะ โดยจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นในการทำธุรกิจ (Business Software & Application) ซึ่งรวบรวมจากฐานข้อมูลของ DEPA ฐานข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และฐานข้อมูลของ กสอ. โดยจะ  คัดเลือกบริษัทผู้ให้บริการซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่น รูปแบบ Cloud-Based ที่มีคุณภาพ ไม่น้อยกว่า 20 บริษัท และเปิดให้ผู้ประกอบการได้ทดลองใช้ฟรี ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ทั้งนี้ กสอ.จะขอให้ผู้ประกอบการใช้งานซอฟต์แวร์ หรือแอพพลิเคชั่นอย่างน้อย 1 โปรแกรม ซึ่งในขณะเดียวกัน นี่จะเป็นการช่วยส่งเสริมผู้ผลิตแอพพลิเคชั่น หรือ สตาร์ตอัพที่มีศักยภาพไปพร้อมๆ กัน

แนวทางต่อมา คือ “ปรุง” ระบบนิเวศในการสนับสนุนเอสเอ็มอี ด้วยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาพันธ์เอสเอ็มอี สภาเกษตรกร และผู้นำพื้นที่ต่างๆ เพื่อช่วยกันปรุงมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมสู่ภูมิภาค ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และแก้ปัญหาของผู้ประกอบการได้อย่างตรงประเด็น โดยเน้นจุดแข็งของกรม คือ เครือข่ายผู้ประกอบการที่มีความหลากหลายในทุกประเภทธุรกิจ ทุกพื้นที่ และทุกระดับ ซึ่งนับเป็นแบบอย่างความสำเร็จ (Success Case) ที่จะช่วยผลักดันและขยายผลให้เกิดผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมากขึ้นโดยเร็ว ทั้งหมดนี้ จึงเปรียบเสมือนการนำข้อดีของแต่ละหน่วยงานมาปรุงเป็นสูตรเด็ด ที่จะช่วยให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีมีความกลมกล่อมยิ่งขึ้น

Advertisement

และแนวทางสุดท้าย คือ “เปลี่ยน” วิธีทำงานเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีในทุกๆ อุตสาหกรรม โดยกรมจะปรับโครงสร้างหน่วยงานภายใน เพื่อมุ่งเน้นการส่งเสริมด้านเกษตรอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับด้านอื่นๆ อย่างเต็มประสิทธิภาพและเปลี่ยนบทบาทศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคให้เน้นพัฒนาผู้ประกอบการด้านเกษตรอุตสาหกรรม รวมถึงปรับเปลี่ยนการให้บริการของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) ให้สะดวก   รวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกัน เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้ปรับระบบการให้บริการในรูปแบบดิจิทัลเซอร์วิส กรมจึงมีนโยบายให้ผู้ประกอบการทุกรายที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ และที่ปรึกษาที่ร่วมงานกับกรมจะต้องลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ i-Industry Big Data ของกระทรวงอุตสาหกรรม

นโยบาย “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดีพร้อม” นั้น มีใจความสำคัญ คือ การปรับกลไกการดำเนินงานและบูรณาการความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ ทุกชุมชน อันเป็นการสร้างเสริมเศรษฐกิจให้แข็งแรงจากฐานรากอย่างยั่งยืนและมั่นคง โดยผมเชื่อว่าผู้ประกอบการทุกรายล้วนมี “ดี” อยู่แล้วทั้งสิ้น และ กสอ. ของเราก็พร้อมที่จะปั้น ปรุง และเปลี่ยนทุกท่านให้ไม่ใช่แค่ “ดี” แต่ต้อง “ดีพร้อม” ไปด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image