ธปท. สั่งแบงก์ลดดอกเบี้ย-ค่าฟี ช่วยรายย่อย.-เอสเอ็มอี

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงค่าธรรมเนียมและการคิดดอกเบี้ยให้เป็นธรรม เพื่อลดภาระของประชาชนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) และปรับปรุงให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น โดยมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (พรีเพย์เม้นต์พรี) สำหรับสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อส่วนบุคคล ให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือจากเดิมที่มีการคิดจากยอดสินเชื่อรวม เช่น เงินกู้ 10 ล้านบาท ผ่อนไปแล้ว 3 ล้านบาท ให้คิดค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนดที่ยอดหนี้ 7 ล้านบาท เป็นต้น รวมทั้งให้กำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอน เช่น หากกู้สินเชื่อยาว 10 ปี อาจจะไม่คิดค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนดในปีที่ 6-10 เป็นต้น โดยค่าปรับที่ไม่สูงจะช่วยให้ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกผู้ประกอบการที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุดและช่วยเพิ่มการแข่งขันในระบบ รวมทั้งทำให้ตลาดรีไฟแนนซ์เกิดขึ้นในประเทศไทยมากขึ้น

นายวิรไท กล่าวว่า 2.ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อส่วนบุคคล ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวดที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้นจากเดิมที่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของเงินต้นคงเหลือ เช่น การกู้ซื้อบ้าน 5 ล้านบาท ผ่อน 20 ปี ดอกเบี้ยกู้ 8% ผ่อนปีละ 42,000 บาท เป็นเงินต้น 10,000 บาท ดอกเบี้ย 32,000 บาท หากผิดนัดชำระหนี้ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ยอดเงินต้นของค่างวดที่ผิดนัด 10,000 บาท ทั้งนี้ หากผู้ให้บริการมีลูกหนี้เดิมที่อยู่ระหว่างการเรียกเก็บดอกเบี้ยตามวิธีเดิม ขอให้ผู้ให้บริการพิจารณาปรับลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยตามสมควร ทั้งนี้ กำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (grace period) ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด และให้แจงรายละเอียดของยอดหนี้ค้างชำระ เช่น ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ให้ลูกหนี้ทราบอย่างชัดเจน เพื่อจะช่วยลดโอกาสที่ลูกหนี้จะไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ และ 3.ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการโดยไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการร้องขอ และกรณีต้องออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน เดิมจะเรียกเก็บทุกกรณี เกณฑ์ใหม่ให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน แต่หากกรณีที่ออกบัตรหรือรหัสทดแทนมีต้นทุนสูงอาจพิจารณาจัดเก็บได้ตามความเหมาะสม

“ธปท.ขอให้ผู้ให้บริการนำหลักการคิดดอกเบี้ยและเรียกเก็บค่าธรรมเนียม มาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ ด้วย โดยต้องคำนึงถึง 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ต้องสะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ 2.ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควรและคำนึงถึงความสามารถในการชำระของผู้ใช้บริการ 3.ต้องไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และ 4.ต้องเปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ธปท. จะจัดให้มีการเปรียบเทียบข้อมูลอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของผู้ให้บริการแต่ละรายเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้บริการและเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เหมาะสมมากขึ้นด้วย โดยการปรับปรุงคิดดอกเบี้ยและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอาจจะกระทบกับรายได้ของผู้ประกอบการทั้งธนาคารพาณิชย์บ้าง แต่เป็นเรื่องที่ต้องปรับตัว ซึ่งที่สำคัญต้องให้ผู้ใช้บริการได้รับความเป็นธรรม จะช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการต่อระบบการเงินของไทยและสนับสนุนให้ผู้ให้บริการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว” นายวิรไท กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image