คิดเห็นแชร์ : การออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) (ตอน 4)

ความเดิมเมื่อตอนที่ 3 นั้น ผมเคยบอกว่าอยากให้ทุกท่านลองมาจินตนาการกับผมนะครับว่าหากประเทศไทยมีต้นแบบในการจัดทำเมือง Smart Cites ได้จริงๆ นั้น การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทยจะต้องมีการพัฒนา และดำเนินการเป็นไปในทิศทางใด

1.การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อก้าวสู่ Smart Thailand
โดยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ ด้วยแนวคิดการพัฒนา Green Digital Society (GDS) ตามกระแสหลักสากลในบริบทประเทศไทย พร้อมด้วยการปรับระบบคิดให้ทันต่อพัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้เต็มที่ในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน ควบคู่กับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระดับท้องถิ่นในรูปแบบ Smart Province การพัฒนาเพื่อก้าวสู่สังคมอุดมปัญญา หรือ Smart Thailand มีแนวคิดการนำมาใช้และแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการพัฒนาประเทศ

2.แนวคิดในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการพัฒนาประเทศ
คือการพัฒนาประเทศเพื่อมุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา หรือ Smart Thailand ภายใต้ตัวอย่างแนวคิดการพัฒนา “CISEE” ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย

1.ด้านการสื่อสาร (C : Communication) การบูรณาการระบบการสื่อสารภาครัฐให้เป็นเอกภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดงบประมาณ ในการบูรณาการระบบการสื่อสารดังกล่าวจำเป็นต้องมีโครงข่ายโทรคมนาคมและการสื่อสารที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และในส่วนของโครงข่ายรองจนถึง last mile ควรเป็นการดำเนินการโดยร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชน และวิสาหกิจชุมชน

Advertisement

2.ด้านสารสนเทศ (I : Information) การบูรณาการระบบสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ การวางแผนแก้ไขปัญหา การบริการประชาชน การสื่อสารระหว่างภาครัฐกับประชาชน ตลอดจนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านระบบบริการ Cloud เพื่อการพัฒนาเป็นระบบสารสนเทศกลางของประเทศ

3.ด้านการให้บริการประชาชน (S : Service) การบูรณาการระบบบริการภาครัฐ ให้สามารถบริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์บัตรเดียว

4.ด้านการศึกษา (E : Education) การสร้างระบบการเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบที่มีการจัดเก็บองค์ความรู้โดยเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลองค์ความรู้กลาง และการสร้างระบบการเรียนรู้ออนไลน์ (Cyber Education Center) เพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้ให้ทั่วถึงและเท่าเทียม

Advertisement

5.ด้านเศรษฐกิจ (E : Economy) มุ่งเน้นการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ที่ขับเคลื่อนผ่านระบบสหกรณ์ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการขยายตลาด โดยการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและการกระจายสินค้าและบริการแบบครบบวงจร

3.การถอดบทเรียนการดำเนินการด้านเมืองอัจฉริยะที่ผ่านมา เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบในอนาคต
โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 เป็นต้นมา สมาร์ทซิตี้ (Smart City) หรือเมืองอัจฉริยะ เป็นโครงการที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงพลังงานร่วมผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ด้วยเป้าหมายที่จะพัฒนาคนให้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนดิจิทัลที่สำคัญของประเทศ โดยการกำหนดแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ทั้งหมด และคัดเลือกจังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรีและขอนแก่น ในการดำเนินการ รัฐบาลต้องการจะสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อทำให้เมืองภูเก็ตมุ่งไปสู่ “5 E” ได้แก่ e-Society, e-Learning, e-Citizen, e-Education และ e-Commerce

วันนี้จะขอเกริ่นแค่ 2 เมืองนะครับ

3.1 ภูเก็ต สมาร์ทซิตี้
ด้วยขนาดพื้นที่ของจังหวัดที่ไม่ใหญ่จนเกินไป และโครงสร้างประชากรในพื้นที่ที่มีอยู่เพียง 378,364 คน แต่มีนักท่องเที่ยวสูงถึง 11,855,000 คน หรือคิดเป็น 3 เท่าของประชากรในพื้นที่ และในจำนวนนักท่องเที่ยวนี้เป็นชาวต่างชาติถึงร้อยละ 70 ดังจะเห็นได้ว่ากิจการส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติแทบทั้งสิ้น จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการดึงชาวต่างชาติที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้ามาจัดตั้งบริษัทหรือสาขาที่ภูเก็ต ซึ่งจะผลักดันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัล (Digital Hub)

ในระหว่างการดำเนินการในช่วงแรก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีส่วนส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการสร้างกำลังคน ศูนย์ถ่ายทอดที่ทันสมัย ศูนย์นวัตกรรม ศูนย์บ่มเพาะ และการเสริมแรงจูงใจทางภาษี การแก้ไขกฎหมาย การทำวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานได้สะดวกคล่องตัว รวมทั้งการเจรจากับบริษัท IT ระดับโลกเพื่อให้มีการจัดตั้งสำนักงานระดับอาเซียนในภูเก็ต

3.2 ขอนแก่น ไมซ์ซิตี้
ได้มีการชูให้จังหวัดขอนแก่นเป็นไมซ์ซิตี้ (MICE City) ตามแนวทางการส่งเสริมของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) (Thailand Convention & Exhibition Bureau – TCEB) ที่มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาการจัดงานกิจกรรมทางธุรกิจในประเทศไทย MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions (Conferencing), Exhibitions (Events) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่มีความแตกต่างจากนักท่องเที่ยวหรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วไปตรงที่นักท่องเที่ยวมีวัตถุประสงค์ในการเดินทางที่ชัดเจน รวมทั้งการเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ องค์ประกอบทั้งหมดของไมซ์ซิตี้นี้ จำเป็นที่จะต้องมีความพร้อมเช่นเดียวกับการยกระดับเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยขอนแก่นมีความโดดเด่นคือจะเน้นการพัฒนาเมืองด้วยระบบราง และใช้คอนเซ็ปต์ ToD (Transit Oriented Development) หรือการสร้างเมืองรอบๆ สถานีรถไฟและรถไฟฟ้า (จะทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น…

เอาเป็นว่าหากท่านผู้อ่านท่านใดอยากจะไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับเมืองต้นแบบ เช่น ภูเก็ต หรือขอนแก่น ก็ลองไปติดต่อสอบถามกับเทศบาลจังหวัด หรือสำนักงานพลังงานจังหวัด ภูเก็ต และขอนแก่น เพื่อสอบถามข้อมูลเบื้องต้นกันก่อนได้นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image