แบงก์ชาติยันดูแลค่าบาทใกล้ชิด ย้ำรัฐ-เอกชนต้องช่วยกัน ไม่สนตั้งกองทุนมั่งคั่ง

เมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ธปท. กังวลสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าและได้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด โดยพร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมหากเห็นว่าจำเป็น อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นช่วงที่ผ่านมาเหตุผลหลักมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากการที่ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวสูงกว่ารายจ่ายจากการนำเข้า 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการเข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่ได้เป็นผลจากการเก็งกำไรระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้สะท้อนจากตัวเลขการลงทุนของต่างชาติสุทธิที่เป็นการไหลออกสุทธิ 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง ธปท. ได้มีการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป ผ่านการเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐและขายเงินบาท ส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเงินทุนสำรองฯ เพิ่มขึ้นเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากการค้าขายสินค้าและบริการกับต่างประเทศ โดยหาก ธปท. ไม่ได้เข้าไปดูแลเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เห็นในปัจจุบัน โดยตั้งแต่ต้นปี 2563 ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เทียบจากปี 2562 ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าราว 8% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

นายเมธี กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นเพียงแค่อาการของปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ คือ การเกินดุลการค้าต่อเนื่อง และการออกไปลงทุนในต่างประเทศที่ยังมีน้อย ดังนั้น การเข้าไปดูแลค่าเงิน รวมถึงนโยบายการคลังอื่น ๆ ในระยะสั้น ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่จำเป็นในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้น ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ไขโดยทุกภาคส่วน โดยสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเพิ่มการนำเข้าเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือลงทุนเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงการผลิต ซึ่งจะมีข้อได้เปรียบในช่วงที่เงินบาทมีการแข็งค่า การลดแรงซื้อบาทจากภาคส่งออก เช่น การเก็บรายได้ไว้ในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (เอฟซีดี) และการเพิ่มการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศของนักลงทุนสถาบันที่ยังมีสัดส่วนน้อยอยู่

“เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนถ้ามีการประสานความร่วมมือกันทั้งแบงก์ชาติ ภาครัฐและเอกชนจะช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้ดีกว่านี้ ปัจจุบันแบงก์ชาติก็มีความกังวล ภาครัฐก็กังวล และเอกชนก็กังวล เมื่อ 3 ฝ่ายกังวลเหมือนกันต้องช่วยกัน ถ้าบอกให้แบงก์ชาติดูแลค่าเงินบาทคนเดียวยังมีมาตรการอื่นที่ทำได้แต่จะเป็นมาตรการที่รุนแรง เพราะต้องใช้ยาแรงถึงจะเอาอยู่ แต่ถ้ามาร่วมมือกันจะเป็นมาตรการที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เหมือนกับเป็นโรคก็มีหลายวิธีรักษา คนป่วยเป็นโรคมะเร็ง ถ้าไปรักษาด้วยคีโมก็จะเป็นวิธีที่รุนแรงซึ่งร่างกายผู้ป่วยก็จะรับไม่ไหว แต่ถ้าใช้ธรรมชาติบำบัด ค่อย ๆ รักษาจะดีขึ้นและร่างกายรับได้ก็จะดีกว่า เช่นเดียวกับค่าเงินบาทที่ต้องร่วมมือกันในการแก้ไข” นายเมธี กล่าว

นายเมธี กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติเพื่อแก้ไขเรื่องค่าเงินบาท ถือว่าไม่ตอบโจทย์ เพราะเป็นการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ปัจจุบัน ธปท. มีการลงทุนในต่างประเทศอยู่แล้วไปเปลี่ยนประเภทการลงทุนเท่านั้น ไม่มีเงินไหลเข้าออกจริง ทั้งนี้ หากต้องการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงความเสี่ยงก็จะสูงเช่นกัน และปัจจุบันมูลค่าสินทรัพย์ส่วนใหญ่ปรับเพิ่มสูงขึ้นมากแล้วอาจจะเป็นการไปซื้อของแพงเกินไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image