ม.หอค้าไทย เผยปัจจัยเสี่ยงกระทบส่งออกแยะ คาดปี’63 สูญกว่า 6.4 หมื่นล้าน ชี้ทางรอดพึ่งพาลงทุนรัฐ-เอกชน

ม.หอค้าไทย เผยปัจจัยเสี่ยงกระทบส่งออกแยะ คาดปี’63 สูญกว่า 6.4 หมื่นล้านบาท ชี้ทางรอด ศก.ไทยต้องพึ่งพาลงทุนรัฐและเอกชน

เมื่อวันที่ 14 มกราคม นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลวิเคราะห์และคาดการณ์ส่งออกไทย 2563 และปัจจัยรุมเร้า ว่า ปัจจัยเสี่ยงกระทบต่อการส่งออกไทยปี 2563 ยังมีมาก คาดว่าอยู่ในกรอบบวก 0.5 % ถึงลบ 2.4% โดยโอกาสสูงสุด 40% คาดว่าติดลบ 0.9% หรือมูลค่า 2.44 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จากปีที่ผ่านมาติดลบ 2.6% คิดเป็นมูลค่า 2,158 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 64,740 ล้านบาท ซึ่งกระทบต่อจีดีพีไทยหายไป 0.5% โดยรวมถือว่าการส่งออกไทยดีขึ้นเพราะอัตราติดลบลดลง แต่ยังไม่ถึงกับฟื้นตัว

นายอัทธ์กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกไทยปีนี้ ในระดับเสี่ยงสูง 4 เรื่องคือ เรื่อง 3 สงคราม ทั้งด้านการค้า เทคโนโลยี และค่าเงิน เรื่องค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า 29-30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งบาทแข็งค่าขึ้น 1% มูลค่าส่งออกลดลง 0.11% เรื่องวิกฤติสหรัฐ-อิหร่าน และเรื่องเศรษฐกิจโลกทรงตัวและขยายตัว 2.7-3.2% ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงระดับปานกลางคือ เรื่องเศรษฐกิจสหรัฐ จีน ญี่ปุ่นชะลอตัว ซึ่งเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของการส่งออกรวม ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นเฉลี่ย 60-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของโลกรุนแรงขึ้นจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและต้นทุนสูงขึ้น ปัญหาภัยแล้งที่ไทยอาจกระทบมากกว่าประเทศในกลุ่มอาเซียน ผลผลิตหายไป 30-40% มีผลต่อราคาพืชสูง 25-30% ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่ำคือสหรัฐตัดจีเอสพีไทย การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปีนี้อีก 1.8% ซึ่งค่าจ้างเปลี่ยนไป 1% ส่งผลให้ส่งออกลดลง 0.06% และความตกลงที่สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าจากยุโรป (USMCA)

นายอัทธ์กล่าวว่า ขณะเดียวกันยังมีประเด็นต้องติดตามคือ ความก้าวหน้าของความตกลงเปิดเสรีในกรอบอาร์เซ็ปที่ได้มีการลงนามระดับผู้นำไปแล้ว ความไม่ชัดเจนของสถานการณ์เบร็กซิทที่อังกฤษอยู่ในขั้นตอนเปลี่ยนถ่ายหลังออกจากสหภาพยุโรป และการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนของสหรัฐอีก 25% จะเริ่มมีผลกระทบในปี2564

Advertisement

นายอัทธ์กล่าวต่อว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2563 ประเมินว่าจะขยายตัว 2.6-2.7% ใกล้เคียงปีที่ผ่านมา เพราะการส่งออกที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังไม่ดีนัก การบริโภคยังไม่ฟื้นตัวเพราะปัญหารายได้ต่ำ ค่าครองชีพสูง หนี้ครัวเรือนสูง

“ปีนี้คาดหวังการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ที่การลงทุนของภาครัฐ และแรงกระตุ้นการลงทุนในภาคเอกชน โดยเฉพาะการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น เมื่องบประมาณผ่านสภาแล้วอยากให้รัฐเร่งเบิกจ่ายภายในเดือนกุมภาพันธ์ เร่งจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้เงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจเร็วที่สุด เมื่อเหลือการลงทุนเป็นหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำให้ประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้โตเท่าปีก่อน 2.6% ยกเว้นรัฐเร่งกระตุ้นการส่งออก เร่งสร้างภาพลักษณ์สินค้า ใช้ประโยชน์จากออนไลน์เต็มที่ และกำหนดราคาส่งออกให้ใกล้เคียงประเทศในอาเซียน ซึ่งตอนนี้บาทไทยยังแข็งค่าถึง 5% รวมถึงต้นทุนแรงงานไทยสูงสุดเทียบอาเซียน ทำให้เวียดนามแซงหน้าในตลาดส่งออกมากขึ้น” นายอัทธ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image