สกู๊ป หน้า 1 เอ็นโซโก้ กรณีท้าทาย’อี-คอมเมิร์ซ’

เรื่องที่กลายเป็นกระแสฮือฮาบนโลกออนไลน์ ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ไม่แพ้เรื่องฝนถล่มกรุง ก็คือการที่เว็บไซต์ขายดีคูปองสินค้า และบริการต่างๆ อย่าง เอ็นโซโก้ (http://www.ensogo.co.th/) ได้ยุติการประกอบกิจการในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ชนิดที่มีการปิดบริษัทหายเงียบไปอย่างรวดเร็ว

การปิดตัวลงอย่างกะทันหันของเอ็นโซโก้ได้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่มีการซื้อดีลคูปองไปแล้วแต่ไม่สามารถใช้งานได้จำนวนมาก เนื่องจากทางร้านค้าได้งดการรับคูปองของเอ็นโซโก้ เพราะไม่สามารถขึ้นนำคูปองดังกล่าวไปขึ้นเงินกับทางเอ็นโซโก้ได้ ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลบนเฟซบุ๊กในเพจ “รวมผู้ได้รับผลกระทบ ensogo” พบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่ในระดับหลักร้อยเรื่อยไปจนถึงในระดับหลักหมื่น ซึ่งส่วนมากเป็นการซื้อดีลคูปองที่เป็นการจองในระยะยาว เช่น ที่พัก ร้านอาหาร และบริการต่างๆ

จนถึงขณะนี้การชี้แจงอย่างเป็นทางการของเอ็นโซโก้ที่มีออกมา ก็มีเพียงแค่ที่ระบุว่า “เนื่องจากผู้ถือหุ้นออสเตรเลียได้หยุดการสนับสนุนเงินอย่างกะทันหัน ขณะนี้เอ็นโซโก้กำลังรีบดำเนินการเพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม และข้อสรุปที่ดีที่สุดให้กับท่านอย่างสุดความสามารถ”

ขณะเดียวกันเว็บไซต์ยังคงมีการเปิดให้ใช้งานหรือซื้อดีลต่างๆ จากผู้บริโภคได้ตามปกติ แม้ร้านค้าส่วนใหญ่ปฏิเสธการรับคูปองแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม
จากกรณีที่เกิดขึ้นกับเอ็นโซโก้ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันแม้จะเป็นผู้ประกอบการเพียงรายใหญ่รายเดียว ที่เน้นเรื่องการขายดีลผ่านคูปองเป็นหลัก แต่หากนับถึงการซื้อสินค้า บริการ การเดินทาง หรือจองที่พักล่วงหน้า ที่มีการดีลส่วนลดหากจองผ่านเว็บไซต์นั้นๆ ก็ถือได้มีเว็บไซต์ในลักษณะดังกล่าวที่ใกล้เคียงกับเอ็นโซโก้เกิดขึ้นมามากมายทั้งรายเล็กรายใหญ่ ทั้งของไทยหรือต่างประเทศเอง มากมายชนิดนับกันไม่หวั่นไม่ไหว

Advertisement

การเกิดของเว็บไซต์ในลักษณะเช่นนี้ ถือเป็นการเกิดขึ้นตามกระแสของโลกที่อาศัยการเข้าถึงประชาชนผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตที่ปัจจุบันประชาชนทุกคนสามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งรัฐบาลไทยในเวลานี้เองยังได้มีการเดินหน้าสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล ที่ออกมาสนับสนุนการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) กันมากขึ้น โดยให้ทางผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มช่องทางขายของตน ส่วนผู้ค้าก็สามารถมั่นใจได้ในการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ ฉะนั้นในกรณีของเอ็นโซโก้จึงถือเป็นกรณีศึกษาอย่างดีถึงการก้าวไปพร้อมกับเทคโนโลยีและนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาลไทย

ด้าน นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ โฆษกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ในด้านการแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับเอ็นโซโก้ในอนาคต แม้ที่ผ่านมาทางภาครัฐมีการให้ผู้ประกอบการที่ต้องการทำการค้าผ่านระบบออนไลน์ต้องมีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าและลูกค้าของตนเอง แต่ที่ผ่านมาการรับจดทะเบียนไม่สามารถคัดกรองความน่าเชื่อถือได้ 100% ว่าบริษัทนั้นๆ จะมีธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจหรือไม่

“เพราะใครจะรู้ว่าเอ็นโซโก้ที่ถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของออสเตรเลีย ที่ถือมีความน่าเชื่อถือในระดับที่สูงยังปิดบริษัทหนีได้”

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประชาชนก็ยังสามารถร้องปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ผ่านทางศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ เบอร์ 1212 ซึ่งทางไอซีทีจะส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) หรือ สพธอ. กล่าวว่า เบื้องต้นทางกระทรวงได้แจ้งไปยังผู้ประกอบการร้านค้าและบริการต่างๆ ว่าธุรกรรมที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางของเอ็นโซโก้จึงถือว่าเป็นธุรกรรมระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภคโดยตรง ฉะนั้นผู้ประกอบการที่ลงโฆษณาผ่านช่องทางของเอ็นโซโก้ จะออกมาปฏิเสธการไม่รับใช้คูปองของเอ็นโซโก้ ภายหลังจากที่เอ็นโซโก้ปิดตัวลงไม่ได้

สำหรับผู้บริโภคในตัวกฎหมายได้ระบุชัดอยู่แล้วว่าผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในการใช้คูปองหรือดีล ที่ตนเองซื้อมาผ่านช่องทางของเอ็นโซโก้ ตามโฆษณา หากเจ้าของสินค้าและบริการรายใดปฏิเสธการให้สินค้าหรือบริการผู้บริโภคสามารถร้องเรียนเรื่องดังกล่าวไปยังเบอร์ 1212 ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการดูแลเรื่องนี้ หรือสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค โทร 1166 แต่หากผู้บริโภคไม่ประสงค์ที่จะรับสินค้าและบริการ ที่ได้มีการเสียเงินซื้อไปแล้วนั้น ผู้บริโภคย่อมมีสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2556 ในการขอยกเลิกการซื้อสินค้าหรือขอรับบริการภายใน 45 วันนับแต่วันที่ซื้อหรือขอรับบริการ

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า เอ็นโซโก้เป็นเว็บไซต์ขายตรงที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งเมื่อประกาศปิดกิจการกะทันหัน ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากได้รับความเสียหาย หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง สคบ.ก็ควรออกมาทำหน้าที่ดูแลคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค รวมทั้งการที่เว็บไซต์ดังกล่าวต้องการจะปิดกิจการเพราะรู้ว่าบริษัทขาดทุนอยู่แล้ว แต่ยังเสนอขายคูปองส่วนลดหรือบริการต่างๆ ให้ผู้บริโภค อาจเข้าข่ายเจตนาหลอกลวงหรือฉ้อโกงผู้บริโภค ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 ซึ่งผู้บริโภคสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เอ็นโซโก้ได้จดทะเบียนนิติบุคคลกับทางกรมแต่ยังไม่ได้แจ้งการยกเลิกบริษัทแต่อย่างใด ดังนั้นกรมจะเร่งทำหมายเหตุหน้าหนังสือรับรองของบริษัทดังกล่าว โดยข้อความของหมายเหตุจะเป็นลักษณะของการเตือนให้ใช้ความระมัดระวังในการทำธุรกรรมใดๆ กับบริษัทดังกล่าว เนื่องจากได้ยุติกิจการด้านการค้าออนไลน์ไป ซึ่งเป็นกิจการเดียวที่บริษัทได้จดทะเบียนไว้ และบริษัทจะต้องแจ้งยกเลิกกิจการค้าออนไลน์มายังกรมภายใน 30 วัน นับจากที่ได้ประกาศปิดให้บริการ และดำเนินการยกเลิกบริษัทจดทะเบียนภายใน 30 วัน และชำระบัญชีตามกฎหมายภายใน 3 เดือน หากฝ่าฝืนปรับขั้นตอนละ 2 พันบาท

กรณีของเอ็นโซโก้ถือเป็นกรณีศึกษาที่ท้าทายนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาลที่จะตามทันความรวดเร็วของโลกโซเชียลมีเดียหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image