บีโอไอเร่งออกมาตรการส่งเสริมลงทุนใหม่ใน6เดือน หนุนเอกชนพัฒนาบุคลากร ปลื้มคำขอปี62ทะลุเป้า

 

เมื่อเวลา 10.47 น. วันที่ 15 มกราคม 2563 ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในงานสัมมนา 2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย ที่จัดโดยเครือมติชน ภายใต้หัวข้อ ลงทุนไทย 2020 สู่บริบทใหม่ ว่า จากกรณีที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้นโยบายแก่บีโอไอ ดำเนินการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน หรือ แพคเกจส่งเสริมเพิ่มเติม ภายใน 6 เดือนจากนี้ เพราะมองว่ามาตรการส่งเสริมการลงทุนที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ ประกอบกับเงินงบประมาณปี 2563 ที่ยังอยู่ในกระบวนการทำให้เกิดความล่าช้า ต้องรออนุมัติในเร็วๆนี้ การกระตุ้นการลงทุนนับจากนี้จึงมีความจำเป็นต่อประเทศไทย โดยขณะนี้บีโอไอจึงระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อออกมาตรการที่ครอบคลุมทั้งผู้ที่ลงทุนอยู่แล้ว และยังไม่ลงทุน หรืออยู่ระหว่างตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย

นางสาวดวงใจ กล่าวว่า ปี 2562 ตัวเลขยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ พบว่า เกินเป้าหมายที่ตั้งเป้า 750,000 ล้านบาท โดยมียอดขอรับอยู่ที่ 756,100 ล้านบาท ซึ่งโจทย์หลังจากนี้คือ จะทำยังไงให้คำขอดังกล่าวเกิดการลงทุนจริง ซึ่งการลงทุนต้องขึ้นอยู่กับสภาพตลาด ปี 2562 โดยปัจจัยสนับสนุนคำขอลงทุนในปีที่ผ่านมา มาจากมาตรการส่งเสริมการลงทุน ไทยแลนด์ พลัส สำหรับโครงการ 1,000 ล้านบาท กำหนดเกณฑ์ต้องลงทุนภายใน 2 ปี
ซึ่งมาตรการนี้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 5 ปี

Advertisement

นางสาวดวงใจ กล่าวว่า สำหรับการลงทุนในอาเซียน มีส่วนแบ่งการลงทุนของไทยเฉลี่ย 8.5% อันดับ 4 ไม่แย่นัก แต่อันดับตกลงมาเล็กน้อย จากปกติอยู่ที่อันดับ 3 แต่การลงทุนของไทยกำลังมุ่งเน้นเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น ดังนั้นหลังจากนี้เชื่อว่าอันดับการลงทุนในอาเซียนจะดีขึ้น

นางสาวดวงใจ กล่าวว่า ส่วนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ปกติมีสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว แต่ล่าสุดได้กำหนดมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมกราคม 2563 โดยมาตรการมีเป้าหมายต้องการกระตุ้นให้บริษัทเกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากร ไม่ใช่แค่ลงทุนตั้งโรงงานอย่างเดียว หากบริษัทมีการรับนักศึกษาฝึกงาน ฝึกอาชีพ เพื่อป้อนตลาดแรงงาน จะสิทธิประโยชน์สูงสุด คือ สามารถยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 12 ปี เกณฑ์นี้
จะให้ทุกบริษัทที่ลงทุนในอีอีซี แม้ไม่ได้ลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หรือพื้นที่พิเศษ

Advertisement

นางสาวดวงใจ กล่าวว่า นอกจากการพัฒนาคน หากอยู่นอกอีอีซี พื้นใดก็ได้ จะได้วงเงินในการยกเว้นภาษีเงินได้ หรือหากส่งพนักงานอบรมในหลักสูตรก็ได้สิทธิประโยชน์เช่นกัน เพราะการส่งเสริมการลงทุนยุคใหม่ บีโอไอผลักดันการส่งเสริมการลงทุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ควบคู่กับลงทุนอัพเกรดเครื่องจักร เพื่อให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีก้าวสู่อุตสาหกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มได้จริง ส่วนมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ขณะนี้อยู่ระหว่างหามาตรการส่งเสริม โดยจะคุยกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ในการสนับสนุน โดยใช้เครือข่ายจากเอกชนที่มีอยู่ในการช่วยเหลือ

นางสาวดวงใจ กล่าวว่า ตอนนี้ทรัพยากรไทยมีจำกัด จะไม่เกิดประโยชน์สูงสุดถ้าไม่รู้จักใช้ อย่างการลงทุน5จี คงไม่ใช่แค่ความเร็ว แต่ต้องการสร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ ขณะที่แนวทางการทรานฟอร์เมชั่นนั้น ในส่วนของบีโอไอเองมีการออกมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ในอดีตเรียกมาตรการลดผลกระทบจากเงินบาทแข็ง ปัจจุบันยอมรับว่ายังไม่มียอดคำขอลงทุนมากนัก ไม่ถึง 100-200 โครงการ และจำนวนนี้สัดส่วนเพียง 20% ที่ขอลงทุนในมาตรการปรับปรุงการผลิต และ 80% กลับเป็นการติดตั้งโซลาร์เซลล์ หรือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หลังจากนี้จะต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการว่าสามารถเข้ามายื่นขอลงทุนในกิจการประเภทนี้ได้ เพื่อให้การลงทุนมุ่งสู่การพัฒนาเทคโนโลยี ยกระดับการลงทุนไทยในระยะยาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image