“ไทยพาณิชย์” เชื่อมั่นรัฐปีแห่งการลงทุนแต่ย้ำต้องเกิดจริง ชง3แนวทางปรับเปลี่ยนศก.ไทย พร้อมทุ่ม2หมื่นล้านร่วมทุนพาร์ทเนอร์ดิจิทัล

 

เมื่อเวลา 11.10 น. วันที่ 15 มกราคม 2563 ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ เอสซีบี กล่าวในงานสัมมนา 2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย ที่จัดโดยเครือมติชน ภายใต้หัวข้อ ลงทุนไทย 2020 สู่บริบทใหม่ ว่า ธุรกิจธนาคารมีความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจไทย หากเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้รับผลกระทบธุรกิจธนาคารก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งทั้งธุรกิจธนาคารและเศรษฐกิจของประเทศ มีลักษณะที่คล้ายกัน คือ มีความเป็นเลกาซี่ เก่าแก่และโครงสร้างมีขนาดใหญ่ การจะปรับเปลี่ยนหรือการเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนกับธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีขนาดเล็กและเริ่มต้นด้วยโจทย์ใหม่ ขณะที่การบริหารธุรกิจขนาดใหญ่ หรือการบริหารเศรษฐกิจประเทศ มีโจทย์เก่าที่ต้องคิด อย่างการบริหารเศรษฐกิจประเทศ ต้องมีพื้นฐานอยู่บนภาคเกษตร ภาคการผลิต และการใช้ทรัพยากรของประเทศที่ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ที่มีอยู่จำกัดไปทุ่มในเรื่องที่เรื่องเก่า ๆ แต่เหลือทรัพยากน้อยที่เหลือสำหรับการขับเคลื่อนประเทศไปในระยะข้างหน้า ทั้ง ธุรกิจ 5จี การพัมนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) รวมทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) ที่มีการพูดถึงกัน

นายอาทิตย์กล่าวว่า ทั้งนี้ โจทย์ที่ท้าทายเศรษฐกิจ คือ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่แข็งแรงคือธุรกิจขนาดใหญ่ แต่เราจะเห็นการบ่นคนที่มีรายได้น้อยว่าได้ผลกระทบ อย่างไรก็ตามตัวเลจขอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ยังขยายตัวดี เพราะว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่แข็งแรงเพิ่มขึ้นและยิ่งไปขยายตัวธุรกิจในทางที่ตัวเองชำนาญ ซึ่งเป็นแนวทางทิศทางที่ธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ดำเนินการไปได้เพื่อสร้างรยได้และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ถือหุ้น ขณะที่หากการจะไปขยายการลงทุนในเรื่องใหม่ ยังไม่มีความพร้อมของแรงงานรองรับ ยังไม่มีความพร้อมด้านประสบการณ์ และไม่มีเงินทุนที่จะสนับสนุน

“หากไปดูการขอสินเชื่อทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) และธุรกิจขนาดใหญ่ มีการขอสินเชื่อเพื่อการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาไปสู่เรื่องใหม่ ๆ น้อยมาก ซึ่งแบงก์ในฐานะที่เป็นผู้ให้เงินทุนและต้องรับความเสี่ยง แบงก์ไม่เคยบอกว่ามีคำขอการลงทุนเพื่อพัฒนาขีดศักยภาพแล้วจะปฏิเสธ แต่คำขอสินเชื่อที่เข้ามาน้อยมาก ปีนี้เป็นปีที่การลงทุนเป็นทางออกประเทศ เรามองเห็นและเชื่อเช่นนั้น แต่ทำอย่างไรที่จะทำให้การลงทุนเกิดขึ้นจริงได้ เพราะยังมีข้อจำกัดด้านองค์ความรู้ การขาดแคลนทรัพยากรเป็นปัญหาโครงสร้างสำคัญที่สุด การส่งเสริมการสร้างทรัพยากรมนุษย์ อยากให้สนับสนุนการสร้างโรงเรียนหรือที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสากรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้น อยากเห็นกระบวนการการสร้างปรับทักษะและการเพิ่มทักษะแรงงาน เพิ่มโอกาสกับคนที่จะไม่มีงานหรือคนที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เข้าไปสู่ทักษะใหม่ที่ภาครัฐพูดถึง ในภาคธนาคารเอง ได้พยายามชักชวนผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนในอีอีซี ต้องนำองค์ความรู้เข้ามาและมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้วยซึ่งการลงทุนแบบนี้ควรเร่งการส่งเสริม” นายอาทิตย์ กล่าว

Advertisement

นายอาทิตย์ กล่าวว่า ข้อเสนอเพื่อปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย มี 3 แนวทาง คือ ข้อแรก จากเดิมที่อุตสาหกรรมต่างๆของเราถูกกำหนดทิศทางด้วยบริษัทต่างชาติเป็นหลักต้องเปลี่ยน ต้องมีการออกแบบอนาคตประเทศและมีความเข้าใจแลนด์สเคปนอนาคต มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับเปลี่ยนห่วงโซุการผลิตใหม่ ข้อสอง สนับสนุนธุรกิจที่มีองค์ความรู้ทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) และการลงทุนของธุรกิจในประเทศ และข้อสาม จากเดิมที่เน้นการอุดหนุนและการชดเชย ควรเน้นการสร้างแรงจูงใจให้กับธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำเพื่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพให้สามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้ ในส่วนของธนาคารที่ผ่านมามีการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจกว่า 4 หมื่นล้านบาท โดย 10% เน้นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ สำหรับปีนี้จะมีการลงทุนอีก 2 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดตั้งบริษัทย่อยทำธุรกิจร่วมกับเพื่อเป็นพาร์ทเนอร์กับที่มีความรู้และเพื่ออัพเกรดด้านดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งในอนาคตยิ่งมี 5จี เข้ามาอาจจะส่งผลกระทบกับธุรกิจธนาคารอย่างรุนแรงได้ จึงต้องทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์และต้องนำมาใช้กับธุรกิจธนาคาร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image