‘กรมชลฯ’ เผย 100 วันก่อนสิ้นฤดูแล้ง ใช้น้ำได้ไม่เกิน 1.8 พันล้านลบ.ม.เท่านั้น

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) เปิดเผยว่า ในโค้งสุดท้าย 100 วันของฤดูแล้งที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายนนี้ มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขตลุ่มเจ้าพระยา ที่มาจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพียง 3,931 ล้านลูกบากศ์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 22% ของปริมาณน้ำใช้การได้ ดังนั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกันไว้เพื่อการบริโภคอุปโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ซึ่งตามแผนของกรมฯ จะระบายน้ำใน 100 วัน ก่อนสิ้นสุดฤดูแล้งรวมประมาณ 1,800 ล้าน ลบ.ม. หรือวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. โดยจะระบายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพื่อไล่น้ำเค็มในวันที่ 24-26 มกราคม 2563 แต่จะอยู่ในปริมาณที่ไม่เกินจากแผน กรณีที่การไล่น้ำเค็มต้องการใช้น้ำมากกว่านี้ กรมฯจะผันน้ำจากแม่กลอง ที่ขอไว้ในปีนี้รวม 850 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ไปแล้ว 350 ล้านลบ.ม.

นายสัญญา กล่าวต่อว่า ดังนั้น การทำนาปรังในเขตชลประทาน ลุ่มเจ้าพระยา ที่มีอยู่ 1.75 ล้านไร่ จึงจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากปริมาณน้ำดังกล่าว และเพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรนำน้ำไปใช้ กรมฯ จะงดนำน้ำเข้าระบบ ส่วนผู้ใช้น้ำเพื่อการประปา จะกำหนดให้สูบเป็นบางช่วงเวลาเท่านั้น รวมทั้งได้ขอความร่วมมือกับส่วนปกครองท้องถิ่นให้เพิ่มความเข้มงวดของการขโมยสูบน้ำด้วย ขณะที่ แผนดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลให้ยังมีปริมาณน้ำเหลือเพื่อสำรองไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝน ตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาการณ์ว่าฝนจะมีน้อยและตกล่าช้า หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนดังกล่าว เขตลุ่มเจ้าพระยาจะมีน้ำอุปโภคบริโภคและระบบนิเวศ ยาวไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 แน่นอน

สำหรับ แผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 หรือระหว่าง 1 พฤษศจิกายน 2562 – 30 เมษายน 2563 เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทาน มีปริมาณน้ำจัดสรรจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 17,699 ล้าน ลบ.ม.น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 7,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำจัดสรรรวมทั้งสิ้น 4,000 ล้าน ลบ.ม.น้อยกว่าปีที่แล้ว 3,700 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบันมีการระบายน้ำตามแผนฯ ไปแล้วจำนวน 7,234 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 41% ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการระบายน้ำตามแผนฯไปแล้วจำนวน 2,134 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 53% ของแผนจัดสรรน้ำฯ

“สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำดิบในการผลิตประปาในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรานั้น กรมฯ ได้ร่วมหารือกับการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อวางมาตรการในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำดิบผลิตประปา โดยเบื้องต้นจะเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นจะเพิ่มการรับน้ำเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสักผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์ พร้อมกับเพิ่มปริมาณน้ำ ผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ เพื่อลำเลียงน้ำลงสู่ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง” นายสัญญากล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ ยังจะพิจารณาเพิ่มการระบายน้ำ ผ่านคลอง 29 ไปลงคลองระบายน้ำที่ 15 คลองระบายน้ำที่ 13 คลองบึงฝรั่ง และคลองพระองค์ไชยานุชิต ตามลำดับ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับผลิตประปาในเขตพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากประชาชนที่อาศัย อยู่ตามแนวคลองส่งน้ำต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ให้งดการใช้น้ำในระยะนี้ ยกเว้นการใช้น้ำเพื่อผลิตประปาตามรอบเวรที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะดำเนินการบริหารจัดการน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ต่อการอุปโภคบริโภค การผลิตประปา และรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image