คิดเห็นแชร์ : ลงทุนอย่างไรใน 10 ปีหน้า เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนดีไปแล้ว

“คนส่วนใหญ่ มักเชื่อว่าเหรียญมีสองด้าน ไม่เอนเอียง”

เมื่อเหตุการณ์ออกข้างใดข้างหนึ่งบ่อยๆ ก็ต้องกังวลว่าทุกอย่างจะกลับทิศในไม่ช้า

เรื่องราวเช่นนี้ ไม่ต่างกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดการเงิน

เพราะช่วงสิบปีที่ผ่านมา แทบทุกสินทรัพย์ให้ผลตอบแทนสวยหรู ทำให้เกิดเสียงเตือนก้องไปทั้งตลาด ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวติดต่อกันยาวนานมากแล้ว บอนด์ยีลด์หลายประเทศที่เกินไป หนี้ต่อจีดีพีทั่วโลกที่สูงจนเสี่ยงถูกเบี้ยว ไปจนถึงความผันผวนของหุ้นที่ต่ำนานจนน่าสงสัย

Advertisement

ทำให้มองอนาคตหลังช่วงผลตอบแทนดี จะน่ากลัวจนหลายคนไม่กล้าเสี่ยง

ที่จริง การประมาณผลตอบแทนในอนาคตนั้นไม่ควรคิดเทียบแต่กับอดีต เพราะบางมุมตลาดทุนก็เหมือนเหรียญที่การทอยออกหัวติดกันอาจไม่ได้แปลว่าเหรียญนี้ไม่มีก้อยก็จริง แต่การออกหัวในครั้งก่อนหน้าก็อาจไม่ได้เพิ่มโอกาสของการออกก้อยในครั้งถัดไปเช่นกัน

แทนที่จะคิดว่าผลตอบแทนขึ้นแล้วต้องลง เราจึงควรมองให้ขาดว่าสิ่งที่เกิดในอดีตนั้น “เกี่ยวหรือไม่เกี่ยว” กับผลตอบแทนของสินทรัพย์จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งผมขอถือโอกาสเริ่มทศวรรษใหม่ วิเคราะห์และแชร์    มุมมองส่วนตัวให้ทุกคนได้คิดไปพร้อมกัน

Advertisement

ประเด็นแรก ผมเชื่อว่า เศรษฐกิจที่เติบโตติดต่อกันนาน “ไม่เกี่ยว” กับการหดตัวในอนาคต แต่การขยายตัวที่ต่ำจะทำให้ทุนไปกระจุกตัวที่สินทรัพย์เติบโตสูง

เพราะกลไกของเศรษฐกิจและตลาดทุนประกอบด้วยหลายวัฏจักรซ้อนทับกันอยู่ ทั้งการบริโภค การเงิน และเทคโนโลยี

ตัวแปรที่เด่นที่สุดในยุคนี้ คือการว่างงานที่แม้จะต่ำลงกว่าช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจแล้วก็ยังต่ำลงได้อีก หรือแม้จะกู้ไปเต็มที่แล้ว แต่แรงงานในปัจจุบันก็สามารถเพิ่มรายได้และผลผลิตได้จากการพัฒนาของเทคโนโลยี

จุดอ่อนแท้จริงของเศรษฐกิจในอนาคตจึงไม่น่าจะเกิดจากแค่ความยาวนานของวัฏจักรการบริโภค แต่อยู่ที่เทคโนโลยีจะถูกหยุดตรงไหน

เมื่อแปลเป็นมุมมองการลงทุน เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้ความสามารถในการขยายตัวของแต่ละหน่วยเศรษฐกิจยิ่งต่างกันไปอีก ถ้าอยากไปต่อ ก็ต้องเสี่ยงกับกลุ่มเติบโตสูง (Growth) ซึ่งจะทำได้ดีกว่ากลุ่มมูลค่า (Value) เช่นเดียวกับในทศวรรษที่ผ่านมา

ประเด็นที่สอง คือ ทศวรรษนี้เริ่มต้นด้วยราคาสินทรัพย์หลักที่แพงพร้อมกันก็จริง แต่แค่ความแพงมัก        “ไม่เกี่ยว” กับการเกิดวิกฤตหรือราคาต้องปรับตัวลงโดยตรง

ในทางทฤษฎี ผลตอบแทนจากการลงทุนจะเกิดจากตัวแปรหลักสามอย่าง คือ การเปลี่ยนแปลงของระดับราคา (Multiple) ยีลด์ที่ได้จากการถือสินทรัพย์ (Carry) และการเพิ่มขึ้นของรายได้ (Earning)

แม้ช่วงที่ Multiple สูง สินทรัพย์จะดูแพงเมื่อเทียบกับอดีต แต่ถ้ารายได้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ที่จริงก็บอกได้เพียงว่าเป็นช่วงที่ทุกคนมักมีงานทำ ผู้บริโภคจึงมีความมั่นใจ กล้าซื้อขายที่ระดับราคานี้

เช่นเดียวกับการที่ Carry อยู่ในระดับต่ำ ปัจจุบันก็บอกได้เพียงว่าเป็นช่วงที่ธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดอยู่เท่านั้น

และเมื่อย้อนดูในอดีต จะพบว่าวิกฤตมักเกิดขึ้นจากสงคราม นโยบายการเงินที่เข้มงวด เงินเฟ้อที่สูงขึ้น      ฉับพลัน หรือความผิดปกติบางอย่างของตลาดการเงิน ซึ่งเรื่องเหล่านี้มักกระทบกับ Earning โดยตรง

ในมุมการลงทุนจึงบอกได้เพียงว่าระดับราคาที่แพงเป็นเพียงมาตรวัดอย่างหนึ่ง ที่เตือนเราว่าไม่ควรหวังกับผลตอบแทนที่สูงเกินไปในช่วงที่ Carry ต่ำขณะที่ Multiple ก็สูงอยู่แล้ว

ประเด็นสุดท้าย คือ ผลตอบแทนจากหุ้นหรือบอนด์ในประเทศอาจ “ไม่เกี่ยว” กับความสำเร็จของการลงทุนในทศวรรษนี้อีกต่อไป

แม้ในอดีต การลงทุนแค่ในหุ้นและบอนด์ไทย 60/40 จะให้ผลตอบแทนสูงอันดับต้นของโลก

แต่ผมเชื่อว่าหลายอย่างในตลาดเปลี่ยนไปแล้ว เห็นได้จากผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยปีล่าสุดที่รั้งท้าย ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาท และยีลด์ในประเทศที่ต่ำเป็นประวัติศาสตร์ ก็ควรเป็นสัญญาณให้นักลงทุนไทยเปิดใจและกระจายการลงทุนไปต่างประเทศมากขึ้น

เพราะถ้าเชื่อว่าโลกการเงินในอนาคต “เกี่ยว” กับเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า หุ้นในตลาดพัฒนาแล้ว (DM) ก็จะได้รับประโยชน์มากที่สุด

หรือถ้าเชื่อว่าเงินเฟ้อระดับต่ำและสภาพคล่องระดับสูง “เกี่ยว” กับทิศทางของบอนด์ยีลด์ ก็มีพันธบัตรประเทศกำลังพัฒนา (EM) อีกหลายประเทศที่ยีลด์สูงคุ้มความเสี่ยงกว่าไทย

ผลตอบแทนของการลงทุนทั่วโลกที่ดีในช่วงที่ผ่านมาอาจเป็นเหมือนเหรียญที่ออกแต่หัวก็จริง แต่ผมเชื่อว่าทั้งหมดไม่ได้เกิดจากแค่โชคช่วย เพียงแต่เราต้องตั้งความหวังกับการลงทุนให้เหมาะสม ขยายฐานการลงทุนให้มีความหลากหลาย

จำไว้เสมอ ว่าการลงทุนต่างกับการเสี่ยงดวง ตรงที่เราสามารถเลือกเหตุการณ์ที่มีโอกาสชนะมากกว่าได้

และไม่ว่าเหรียญการลงทุนนี้จะเอนเอียงหรือเที่ยงตรง มีหน้าเดียวหรือสองหน้า

การเลือกลงทุนให้ถูกกับสถานการณ์ และมีหลายเหรียญให้เลือกทอย ก็คงจะดีกว่าเหรียญเดียวเดิมๆ แน่นอน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image