เยือนถิ่นแอฟริกาใต้กับ‘เคทีซี’ มีดีมากกว่าสถานที่ท่องเที่ยวหลากสีสัน แต่ช่วยกระตุ้นจิตสำนึกอยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล

“Time and tide wait for no man” สุภาษิตอังกฤษที่มีความหมายเหมือนสุภาษิตไทย แปลความได้ว่า “เวลาและวารีไม่คอยใคร” เป็นสัจธรรม เผลอแผล็บเดียว เข้าสัปดาห์สุดท้ายเดือนมกราคม 2563 แล้ว    ทั้งๆ ที่ยังรู้สึกว่าเพิ่งจะนับถอยหลังบ๊ายบายปีหมู ต้อนรับปีหนูเมื่อไม่นานนี้

ว่าแล้วรีบรายงานการเดินทางเยือนประเทศแอฟริกาใต้กับคณะผู้บริหารเคทีซี หรือชื่อทางการ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นำทีมโดยซีอีโอแห่งปีจากงาน “SET Awards 2019” ระเฑียร ศรีมงคล ส่งท้ายปี 2562

ทริปนี้ เคทีซีจัดกิจกรรมให้คณะสื่อมวลชนไทยที่ร่วมเดินทางได้ตื่นตาตื่นใจกับการตามล่าหา “Big Five”    5 สัตว์ป่าผู้ยิ่งใหญ่แห่งแอฟริกา นั่นคือ ช้างป่า, แรด, ควายป่า, เสือดาว และ สิงโต

ดังนั้นเป้าหมายแรกของทริป นอกจากคณะผู้บริหารที่มีคุณระเฑียรแล้ว ยังมี คุณพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจบัตรเครดิต คุณพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้อำนวยการ-ธุรกิจสินเชื่อบุคคล     คุณปิยศักดิ์ เตชะเสน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส-ช่องทางจัดจำหน่ายและธุรกิจร้านค้า และ        คุณชุติเดช ชยุติ ซีเอฟโอ ร่วมแถลงแผนธุรกิจ เคทีซี ปี 2020 ที่คุณระเฑียรประกาศว่าจะไม่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่จะมุ่งเรื่อง Sustainability หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของสังคม แล้วกิจกรรม Game Drive ตามหา Big Five คือเป้าหมายแรก

Advertisement

ทันทีที่เครื่องบินของสายการบินกาตาร์ ทะยานสู่ท้องฟ้าจากสนามบินสุวรรณภูมิ มุ่งตรงสู่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก และต่อเครื่องบินภายในประเทศไปยัง อุทยานแห่งชาติครูเกอร์ (Kruger National Park) จุดที่นายพราน แอฟริกันจะพาคณะเคทีซีกว่า 70 ชีวิต ตามหา Big Five โดยรถขับเคลื่อน 4 ล้อแบบเปิดโล่ง แต่ละคันจุ       ผู้โดยสารได้ 9 คน และพราน หรือ Ranger เป็นผู้ขับ

อุทยานแห่งชาติครูเกอร์ เดิมชื่อว่า เขตสงวนล่าสัตว์ ซาบี (Sabi Game Reserve) ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบันเพื่อเป็นเกียรติแก่ พอล ครูเกอร์ ประธานาธิบดีคนที่ 5 ของแอฟริกาใต้ แห่งสาธารณรัฐทรานส์เวล ถือเป็นอุทยานแห่งแรกที่มีกฎหมายคุ้มครองในแอฟริกาใต้ ก่อตั้งขึ้นปี ค.ศ.1926 หรือ พ.ศ.2469 อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแอฟริกาใต้ มีพื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางกิโลเมตร และยังคงมีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศแบบทุ่งหญ้าสะวันนา องค์การยูเนสโกจึงประกาศให้เป็น 1 ในมรดกโลกทางธรรมชาติ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก เช่น ช้างมีมากกว่า 13,000 ตัว สิงโต 1,600 ตัว แรดขาวสายพันธุ์ใต้กว่า 10,000 ตัว ฯลฯ

Advertisement

น่าเสียดาย รถคันที่ผู้เขียนนั่งโชคไม่เข้าข้าง ได้เห็นสัตว์ใหญ่แบบจะๆ คือช้าง และควายป่า ส่วนเสือดาวได้เห็นแบบลางๆ (ผสมกับการจินตนาการว่าใช่ แหะๆๆ) หากไม่นับ Big Five อุทยานแห่งนี้มีสัตว์หลากชนิด  ทั้งไฮยีน่า, ฮิปโปโปเตมัส, ยีราฟ, ม้าลาย, นก, โดยเฉพาะอิมพาลา และกวาง เห็นอยู่ดาษดื่น

แม้จะไม่เห็นสัตว์ใหญ่ครบทั้ง 5 ชนิด แต่สิ่งหนึ่งที่รู้สึกประทับใจคือคนและสัตว์แอฟริกันอยู่ด้วยกันอย่างเข้าใจ ดั่งเนื้อเพลง “ชีวิตสัมพันธ์” ของวงคาราบาว ท่อนหนึ่งว่า “คนหากิน…สัตว์ก็หากิน เราไม่เบียดเบียนกันและกัน ต้นไม้งาม…คนงดงาม ชุบชีวิต…ทุกฝ่ายเบิกบาน มีคน…มีต้นไม้…มีสัตว์ป่า” เพราะขณะที่รถกำลังเคลื่อนอยู่บนถนนในอุทยานเพื่อส่องดูสัตว์ต่างๆ สัตว์เหล่านี้ไม่มีท่าทีตื่นกลัว นั่นเพราะทางอุทยานฯได้ตั้งกฎ-กติกา-มารยาท จะบรีฟให้นักท่องเที่ยวรู้ก่อนเข้าพื้นที่ คือ ห้ามส่งเสียงร้อง เสียงกรี๊ด ห้ามบีบแตรรถ  ห้ามลงหรือยื่นอวัยวะส่วนใดๆ ออกนอกรถ เพราะการส่งเสียงที่ไม่ใช่เสียงตามธรรมชาติจะทำให้สัตว์ตื่นกลัว ส่วนการลงจากรถหรือยื่นแขน-ขาออกนอกรถจะเป็นอันตรายต่อตัวคนคนนั้น เนื่องจากประสาทสัมผัสของสัตว์จะเห็นเพียงสิ่งบางสิ่งที่เคลื่อนไหวซึ่งอาจเป็นอันตราย สัตว์จะเข้าโจมตีก่อนด้วยสัญชาตญาณ

จึงไม่เห็นภาพช้างไล่กระทืบรถยนต์แบบที่เขาใหญ่!

จบทริปส่องสัตว์ จุดต่อไปอีกหนึ่งไฮไลต์ของการเดินทางครั้งนี้ คือ Table Mountain คณะแพคกระเป๋ามุ่งตรงสู่เมืองเคปทาวน์ โดยสายการบินในประเทศที่สนามบินสกูกูซ่า ใช้เวลาเดินทาง 30 นาที

Table Mountain ถือเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโลก ได้รับการยกย่องให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติของแอฟริกาใต้ ชื่อว่า “Table Mountain National Park” อยู่ทางตอนเหนือของเมืองเคปทาวน์ ความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร สูง 1,086 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ชื่อ Table Mountain เพราะความโดดเด่นของยอดภูเขาที่มีลักษณะตัดตรงเหมือนโต๊ะ ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยประมาณกว่า 280 ล้านปีเกิดกระบวนการทางธรณีวิทยาทำให้ภูมิประเทศแถบนี้ถูกยกตัวขึ้น เกิดกระบวนการผุพังและถูกกัดกร่อนโดยลมและฝน จนภูเขาที่มีลักษณะยอดตัด (Mesa) มีสัณฐานคล้ายโต๊ะนั่นเอง

เมื่อขึ้นมาถึงยอดเขา จะโดย Cable Car หรือกระเช้าไฟฟ้า ที่หมุนรอบตัวเอง 360 องศาเพื่อชมวิวมุมสูง หรือจะเดินขึ้นเขาเองก็ได้ จะพบกับพรรณพืชกว่า 1,470 ชนิด และสัตว์ตัวเล็ก เรียกว่า Dassie หรือ Rock Rabbit (กระต่ายหิน) มีลักษณะกึ่งผสมระหว่างกระรอกกับกระต่าย รูปร่างคล้ายหนูตัวใหญ่ หางสั้น ขนหนาสีน้ำตาล (ตามที่ไกด์บรรยาย เพราะโชคร้ายอีกแล้ว ไม่เห็นตัวเป็นๆ แงๆๆ) และอีกสิ่งที่เห็นบนภูเขาแห่งนี้คือ “หมอก” หนาพวยพุ่งขึ้นสู่ฟ้าตลอดเวลา หากมอง Table Mountain บนพื้นราบในยามเช้าจะเห็นหมอกลอยเหนือภูเขา เหมือนโต๊ะที่เสิร์ฟอาหารมีดรายไอซ์ ดูสวยงามและแปลกตายิ่ง

หากไม่มีโปรแกรมไปเที่ยวไหนต่อ คงได้ปักหลักอยู่บนเขาแห่งนี้ตลอดวัน ด้วยขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ และวิวที่สุดยอด หามุมถ่ายเซลฟี่ขึ้นไอจีได้เป็นอัลบั้ม กับการเดินชมทิวทัศน์สบายๆ จึงไม่แปลกที่จะเห็นฝรั่งกลุ่มหนึ่งหอบผ้าผืนใหญ่และสแน็คมาปิกนิก ปักหลักนั่งกินดื่มชื่นชมธรรมชาติ ท่ามกลางอากาศเย็นสบาย ประมาณ 20 องศาเซลเซียส

แต่ไฮไลต์ของทริปนี้ยังไม่สิ้นสุด…ที่ครูเกอร์ได้ทำกิจกรรม Game Drive ส่องสัตว์หา Big Five มาเคปทาวน์ เมืองที่มีที่ตั้งปลายสุดของแอฟริกาใต้ จะได้ชมแมวน้ำและนกเพนกวิน

คณะมีนัดหมายชมฝูงแมวน้ำเคปเฟอร์ซีล โดยนั่งเรือที่มีชั้นดาดฟ้าจากท่าเรือฮูทเบย์ล่องทะเลฝ่าคลื่นไปยัง เกาะดุยเกอร์ หรือ เกาะแมวน้ำ (Duiker Island-Seal Island) ซึ่งไม่ผิดหวัง เจอฝูงแมวน้ำเกาะกลุ่มกันอยู่บนเกาะเล็กๆ จำนวนมาก คณะที่ไปกดชัตเตอร์รัวๆๆ กันเลย

พอขึ้นจากท่าเรือไปต่อกันเลยจ้า เดินทางต่อไปเมืองไซมอนส์ทาวน์ สู่หาดโบว์เดอร์ส อาณาจักรของ ฝูงเพนกวินแอฟริกัน หรือ เพนกวินเท้าดำ หรือ Jackass Penguin (เพนกวินลา) เพราะมีเสียงร้องคล้ายเสียงของลา

บอกได้เลยว่าการเดินทางชมสัตว์ป่าที่ครูเกอร์กับแมวน้ำและเพนกวินที่เคปทาวน์ ให้ความรู้สึกต่างขั้ว          ที่ครูเกอร์อุณหภูมิในวันไปส่องสัตว์ 42 องศาเซลเซียส ส่วนการดูแมวน้ำและเพนกวิน อุณหภูมิ 20 องศา  โดยประมาณ (ไม่นับลมหนาวที่มาปะทะ อุณหภูมิอาจลดลงอีก) แต่ให้ความรู้สึกตื่นตาตื่นใจเหมือนกัน

ต่อไฮไลต์สุดท้ายของทริป ถ้าไม่ไปถือว่ามาไม่ถึงแอฟริกาใต้ เขตอนุรักษ์ธรรมชาติแหลมกู๊ดโฮป (Cape Of Good Hope Nature Reserve) แหลมแห่งความหวังที่มีสตอรี่เป็นประวัติศาสตร์ต้องจารึก หลังมีการค้นพบเส้นทางการค้าจากโลกตะวันตกสู่โลกตะวันออก แต่บริเวณนี้มีกระแสคลื่นและลมรุนแรงตลอดปี จำนวนเรือหายสาบสูญจึงเกิดขึ้นมาก กลายเป็นเรื่องเล่าลือ “เรือผีสิง Flying Dutchman” ต้องคำสาปให้เดินทางในมหาสมุทรชั่วกัลปาวสาน

แหลมกู๊ดโฮปถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปลายสุดของทวีปแอฟริกา แต่ในความเป็นจริงคือ แหลมอะกะลัส (Cape Agulhas) อยู่ห่างจากแหลมกู๊ดโฮปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 150 กิโลเมตร แต่ ณ ปัจจุบัน แหลมกู๊ดโฮปยังคงเป็นจุดเช็กอินที่นักท่องเที่ยวต้องมาถ่ายรูป ซึ่งลมแรงจริง ยืนแทบไม่อยู่ แต่เพื่อภาพถ่ายสวยๆ ทุกคน  สู้ตาย ยืนท้าลมกับแอ๊กชั่นสวย-หล่อ

เสร็จภารกิจถ่ายภาพ ก็นั่งรถราง “Flying Dutchman Funicular” ขึ้นไปยังจุดชมวิวด้านบน Cape Point และเป็นที่ตั้งประภาคารที่อยู่บนจุดสูงสุด มองเห็นมหาสมุทรอินเดียบรรจบกับมหาสมุทรแอตแลนติก

จบทริปนี้..ไม่เพียงได้เปิดโลกกว้าง แต่ยังได้แง่คิดดีๆ ของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์แบบไม่เบียดเบียนกัน เรื่องการประหยัดการใช้ธรรมชาติ โดยเฉพาะ “น้ำ” ที่แอฟริกาใต้เคยประสบปัญหาขาดแคลน ทุกที่รณรงค์ให้ช่วยกันใช้อย่างจำเป็น อย่างโรงแรมที่คณะเข้าพัก จะรณรงค์การใช้น้ำ ภายในห้องน้ำจะติดข้อความบนผนัง และออกแบบให้ส่วนเปียกที่ใช้อาบน้ำยกพื้นสูงกว่าพื้นส่วนรวมในห้องน้ำ   โดยมีการลาดเอียงของพื้นส่วนอาบน้ำไว้ระดับหนึ่ง พร้อมติดนาฬิกาทรายจิ๋วไว้บอกให้รู้ว่าหากเปิดน้ำทิ้งไว้นานเกิน 4 นาที น้ำจะล้นไหลท่วมห้องน้ำ พร้อมวลีทิ้งท้าย “WATER IS LIFE. SAVE WATER. SAVE LIVES.”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image