ยานยนต์ : ‘โตโยต้า’ยันใช้ไทยฐานผลิต สู้บาทแข็ง-เตรียมลุยรถไฟฟ้า

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท โตโยต้า ประเทศไทย ได้เปิดแถลงข่าวตลาดรถยนต์ ปี 2562 และทิศทางยอดขายปี 2563

มร.มิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์รวมในประเทศไทยปี 2562 มียอดขายอยู่ที่ 1,007,552 คัน ลดลง 3.3% เมื่อเทียบกับปี 2561 แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 398,386 คัน ลดลง 0.3% รถเพื่อการพาณิชย์ 609,166 คัน ลดลง 5.1% รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 492,129 คัน ลดลง 3.8%

รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 431,677 คัน ลดลง 3.4% แต่อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ยังถือได้ว่าเป็นครั้งที่สี่ในประวัติศาสตร์ของตลาดรถยนต์ไทยที่มียอดขายถึงระดับหนึ่งล้านคัน ถึงแม้ว่าตลาดรถยนต์มีการหดตัวอย่างเห็นได้ชัดในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่เดือนกันยายนผ่านมา สำหรับปีนี้นับเป็นปีที่ท้าทายอีกปีหนึ่งสำหรับตลาดรถยนต์ไทย เนื่องจากตลาดรถยนต์ยังคงเผชิญกับหลายปัจจัย จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโลกไม่แน่นอน และมาตรการควบคุมสินเชื่อรถยนต์ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ดังนั้น เราจึงคาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์รวมในประเทศจะอยู่ที่ 940,000 คัน ลดลงประมาณ 6.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 358,500 คัน ลดลง 10.0% รถเพื่อการพาณิชย์ 581,500 คัน ลดลง 4.5%

มร.ซึงาตะกล่าวว่า สำหรับยอดขายโตโยต้าในปี 2562 สามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นสวนทางกับสถานการณ์ตลาดที่หดตัวลง โตโยต้ามียอดขายอยู่ที่ 332,380 คัน เพิ่มขึ้นประมาณ 6% ครองส่วนแบ่งการตลาด 33.0% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2.8 จุด แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง 117,708 คัน เพิ่ม 4.7% ส่วนแบ่งตลาด 29.5% เพิ่มขึ้น 1.4 จุด รถเพื่อการพาณิชย์ 214,672 คัน เพิ่มขึ้น 5.9% ส่วนแบ่งตลาด 35.2% เพิ่มขึ้น 3.6 จุด รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 191,669 คัน เพิ่ม 8.3% ส่วนแบ่งตลาด 38.9% เพิ่มขึ้น 4.3 จุด

Advertisement

รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 165,452 คัน เพิ่มขึ้น 9.6% ส่วนแบ่งตลาด 38.3% เพิ่ม 4.5 จุด ปัจจัยหลักมาจากการตอบรับที่ดีของลูกค้าและจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และรุ่นปรับปรุงใหม่ของรถยนต์นั่งอย่าง คัมรี ใหม่ และโคโรลลา อัลติส ใหม่ รวมไปถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายของยาริส และเอทีฟ ตลอดจนรถเพื่อการพาณิชย์ อย่าง ไฮลักซ์ รีโว่ แซด อีดิชั่น, คอมมิวเตอร์ และมาเจสตี้

 

มร.มิจิโนบุ ซึงาตะ

มร.ซึงาตะกล่าวว่า เป้าหมายการขายของโตโยต้าในปี 2563 อยู่ที่ 310,000 คัน ส่วนแบ่งการตลาดที่ 33.0% ลดลงประมาณ 6.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 103,000 คัน ลดลง 12.5% ส่วนแบ่งตลาด 28.7% รถเพื่อการพาณิชย์ 207,000 คัน ลดลง 3.6% ส่วนแบ่งตลาด 35.6% ด้านการส่งออกในปี 2562 โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวน 264,775 คัน ลดลง 10% ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตสำหรับการขายภายในประเทศและการส่งออกมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 570,850 คัน ลดลง 3% สืบเนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยในหลายภูมิภาค เช่น โอเชียเนีย อเมริกากลางและอเมริกาใต้ สำหรับเป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของโตโยต้าในปีนี้คาดการณ์ไว้ว่าปริมาณการส่งออกจะอยู่ที่ 263,000 คัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 1% อันเนื่องมาจากสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศคู่ค้ายังไม่คลี่คลาย โดยโตโยต้าส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเอเชีย และโอเชียเนีย เป็นหลัก รองลงมาคือตะวันออกกลาง สำหรับแผนการผลิตสำหรับการขายภายในประเทศและการส่งออกจะอยู่ที่ 556,000 คัน ลดลง 3%

Advertisement

“ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูปในรอบศตวรรษ โดยโตโยต้ามุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรจากเดิมที่เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สู่การเป็น องค์กรแห่งการขับเคลื่อน” (Mobility Company) หมายความว่าเราจะมุ่งเดินหน้าพัฒนาการบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ” มร.ซึงาตะกล่าว

มร.ซึงาตะกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็ง มีผลกระทบต่อการทำกำไรในด้านส่งออกรถยนต์ของโตโยต้า แม้ว่าการส่งออกของโตโยต้าจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่การแข็งค่าของเงินบาทก็ต้องสะท้อนผลกระทบในโครงสร้างราคา ขณะเดียวกันการผลิตรถยนต์ของโตโยต้าใช้ชิ้นส่วนในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น การแข็งค่าของเงินบาทโตโยต้าจึงไม่ได้ประโยชน์ใดๆ เมื่อคำนวณถึงความสมดุลของการนำเข้าและส่งออกของโตโยต้าแล้ว พบว่าได้รับผลเสียมากกว่าผลดี โตโยต้าได้ปรับลดต้นทุนการผลิต และการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ให้อยู่ในระดับความเหมาะสมและยั่งยืน อย่างไรก็ตาม เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงปี 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง โตโยต้าพยายามอย่างมากในการรับมือและนำพาองค์กรผ่านวิกฤตดังกล่าวมาได้ และเช่นเดียวกันในครั้งนี้ โตโยต้ายังคงยืนยันว่าประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตและส่งออกสำคัญของโตโยต้าอย่างแน่นอน

 

“ความสามารถด้านการแข่งขันด้านการส่งออกรถยนต์ในปีนี้ คาดว่าจะตกต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อน โตโยต้าจะต้องใช้ความพยายามมากกว่าเดิมในการรักษาฐานการผลิตและส่งออกสำคัญของโตโยต้าในประเทศไทย แม้ว่าจะปรับลดต้นทุนการผลิต และการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตแล้ว แต่ผลกระทบของค่าเงินบาทยังรุนแรงเกินกว่าที่เราลงมือทำ และการแข็งตัวของค่าเงินบาทก็ยังคงไม่สามารถประเมินความผันผวนได้” มร.ซึงาตะกล่าว

นายสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงกรณีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พยายามกระตุ้นให้ค่ายรถยนต์ลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่ม จากที่ผ่านมามีการลงทุนเฉพาะรถยนต์ไฮบริดว่า รัฐบาลพยายามส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้ามาประมาณ 2 ปีแล้ว ค่ายรถยนต์ให้การตอบรับมาระดับหนึ่ง ขณะนี้หลายค่ายพยายามผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ เช่น ไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด หรือรถยนต์ไฟฟ้าอีวี สำหรับโตโยต้าคงต้องใช้เวลาอีกเล็กน้อย ภายหลังโตโยต้าได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และปลั๊ก-อิน ไฮบริด ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2563 หลังจากนี้ยังมีขั้นตอนทางราชการอีกอย่างน้อย 5 เดือน เมื่อขั้นตอนดังกล่าวแล้วเสร็จภายใน 3 ปี จากนี้จะได้เห็นการเปิดตัวรถยนต์ภายใต้โครงการดังกล่าว หรือจะมีการเปิดตัวในช่วงปี 2566 ปลายปี โตโยต้ามองว่าการส่งเสริมให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเกิดขึ้นได้ จะต้องมาจากความร่วมมืออย่างบูรณาการของทั้ง ภาครัฐ, เอกชน และสถาบันการศึกษา ที่สำคัญระบบโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันที่มีประมาณ 500 แห่งทั่วประเทศ ยังไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการ อัตราส่วนระหว่างรถยนต์ไฟฟ้าต่อสถานีชาร์จไฟฟ้าในต่างประเทศอยู่ที่ระดับ 1:5 ถึง 1:6 แต่ประเทศไทยยังไปไม่ได้ในระดับนั้น ต้องรอการสนับสนุนจากภาครัฐในการช่วยผลักดัน คาดว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบในประเทศไทยอาจจะต้องอีกอย่างน้อย 10 ปี จะต้องเกิดจากการบูรณาการของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลและความชัดเจนในการดำเนินการของมาตรการ

นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2563 จะเกิดการล่าช้านั้นอาจไม่ส่งผลดีในช่วงครึ่งปีแรก แค่คาดหวังว่าจะส่งผลดีในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image