เฉลียงไอเดีย : เปิดวิธีคิด‘ศรศักดิ์ สมวัฒนา’ ซีอีโอ‘เนอวานา ไดอิ’ ใส่ใจรายละเอียด…สร้างบ้านเหมือนอยู่เอง โดย เกษมณี นันทรัตนพงศ์

มีโอกาสได้สัมภาษณ์อีกหนึ่งผู้บริหารคนเก่ง คุณพี-ศรศักดิ์ สมวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนอวานา ไดอิ จำกัด (มหาชน) หรือ NVD ในจังหวะที่กฎหมายภาษีที่ดินใหม่มีผลบังคับใช้ต้นปีนี้พอดี

คุณพีบอกให้ได้คิดว่าแต่ละมาตรการที่ภาครัฐทำด้วยเจตนาต้องการแก้ไขบางเรื่อง อาจส่งผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจ อย่างมาตรการแอลทีวี หรือภาษีที่ดินใหม่ อาจส่งผลกระทบในเชิงสังคม ที่แน่ๆ คือมีผลด้านจิตวิทยา ไม่เกี่ยวกับกระเป๋าเงินของผู้ซื้อแต่เกี่ยวกับ Sentiment ที่สุดอาจเป็นมาตรการที่แก้ปลายเหตุแทนที่จะแก้ที่ต้นเหตุ ยกตัวอย่างเช่น คุณแม่วัย 70 กว่าปี จะซื้อคอนโดอยู่แต่กู้ไม่ได้เพราะอายุมาก เลยใช้ชื่อลูกแทน กลายเป็นลูกมีบ้าน 2 หลัง ต้องเสียภาษีแพง ทำให้การจะซื้อบ้านต้องวางแผนให้ดี ฉะนั้น ตลาดลงทุนกับที่ดินหรืออสังหาฯจะกระทบ ดังนั้น รัฐบาลอาจจะได้ในสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจ คือแรงเทขาย เพราะไม่อยากเสียภาษีแพง ซึ่งอาจตอบโจทย์นักพัฒนาที่ดิน ที่ในอดีตปัจจัยเสี่ยงสูงสุดคือที่ดินหายากและมีราคา

สำหรับ “เนอวานา” คุณพีบอกว่าไม่ค่อยได้รับผลกระทบ เพราะจัดอยู่ในกลุ่มไฮเอนด์ ไม่แข่งขันด้านราคา นอกจากนี้ ยังเปิดทางเลือกให้เจ้าของที่ดิน ซึ่งเนอวานาทำโปรเจ็กต์นี้ออกมาก่อนที่จะเกิดภาษีที่ดินใหม่ นั่นคือดึงเจ้าของที่ดินมาเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมพัฒนาโครงการ เรียกว่า “Turnkey Solution for Partnership Development” ถือเป็นสิ่งที่ Win-Win ทั้งเจ้าของที่ดิน เนอวานา และผู้บริโภค “เจ้าของที่ดินบางคนยังไม่อยากได้เงินก้อน เพราะผลตอบแทนจากเงินออมยังต่ำ ก็มาร่วมกับเราจัดสรรที่ โดยโครงการที่อยู่ระหว่างจัดสรรจะไม่โดนภาษี เป็นต้น” คุณพีกล่าว และว่า มาตรการรัฐที่ออกมาสุดท้ายแล้วคนที่ไม่มีที่ดินคือคนจ่ายภาษี เพราะภาระภาษีจะผลักให้ผู้ซื้อเป็นผู้จ่ายนั่นเอง!

สำหรับแผนธุรกิจของ เนอวานา ในภาวะปัจจุบัน คุณพีบอกว่า Positioning ของแบรนด์ชัดเจน จับกลุ่มตลาดบน “เพราะบ้านเป็นสินค้าคงทน ไม่ใช่ซุปเปอร์คาร์ ถ้าถามใครสักคนต้องการซื้อบ้านเป็นสมบัติตั้งต้นให้ลูก จะเลือกซื้อแบบไหน เลือกซื้อทำเลและบ้านที่ดี ผมเปรียบการซื้อบ้านเหมือนดูการศึกษาให้ลูก ซึ่งนี่คือเหตุผลของคนช่างคิด นั่นคือลูกค้าของเนอวานา”

Advertisement

คุณพีเสริมอีกว่า เนอวานายังคงทำบ้านไลฟ์สไตล์ เป็นฐานหลัก แต่ยังมีอีกธุรกิจหนึ่งที่กำลังเติบโตมาก หลังร่วมทุนกับบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2558 และเข้าร่วมกับบริษัท ไดอิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านและจำหน่าย Home Product ในปีถัดมา คือการรับจ้างผลิตวัสดุก่อสร้างและรับสร้าง เพราะการได้ไดอิมาร่วม ได้โรงงาน Precast(พรีแคส) ของไดอิด้วย นอกจากรองรับโครงการของเนอวานาแล้ว ยังรับสร้างให้ที่อื่นๆ ได้ ตอนนี้มีการสร้างปั๊มให้ ปตท. มีขายรั้ว Fenzer (เฟนเซอร์) รั้วสำเร็จรูป และยังสร้างวิลล่าที่มัลดีฟส์มาแล้ว และล่าสุดได้งานจากโครงการบ้านพฤกษา และยังมีอีก 5-6 แห่งที่ติดต่อมา

หากไม่นับธุรกิจใหม่ แบรนด์ เนอวานา ถือว่าเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งมาก โครงการเปิดใหม่รอบพรีเซลล์มักจะเห็นลูกค้าต่อแถวแวะชมและจองซื้อบ้าน ในบางโครงการถูกจองเกลี้ยงเฟสแรกภายในวันเดียว และขายหมดทั้งโครงการในเวลาเพียง 3 เดือน แต่ถ้าไม่ใช่คนในแวดวง น้อยคนนักจะรู้ว่าคุณพีโตมาด้านการเงิน ระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จบคณะบริหารธุรกิจ วิชาเอกการเงิน และระดับปริญญาโทก็ด้านการเงิน Master of Science in Finance from University of Colorado at Denver แถมเริ่มทำงานจริงจังก็ด้านการเงินที่ธนาคาร
กรุงเทพ

ทั้งนี้ เจ้าตัวบอกว่า ระหว่างที่ยังเรียนหนังสือในวัย 19 ปี ได้เข้าฝึกงานที่บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) มาก่อน และถือเป็นนักการขายรุ่นแรกที่นี่ ส่วนงานแบงก์-ไฟแนนซ์ก็ชอบทำงานมานาน 9 ปี แต่ถึงจุดหนึ่งก็อิ่มตัว “รู้สึกว่าไม่ได้ลงสนามจริง เราแนะนำคนอื่นเก่งไปหมด เลยอยากมาทำเอง อยากรู้ว่าตัวเองจะเก่งไหม ซึ่งผมรู้สึกว่าการเปิดแบงก์มันยาก การทำหมู่บ้านง่ายกว่า”

Advertisement

และวันหนึ่งก็ได้เป็นเจ้าของธุรกิจ จุดเริ่มต้นมาจากมีที่ดินผืนหนึ่งเจ้าของมีความจำเป็นจะขาย อยู่แถวเลียบด่วนเอกมัย-รามอินทรา “สมัยนั้นเปลี่ยวมาก แต่เป็นที่ที่สวยมาก และผมเป็นคนแถวนั้นจึงมองออกว่าเส้นลาดพร้าวเป็นเส้นที่รถติดมาก ต่อไปเลียบด่วนจะมีรถวิ่งผ่านเพราะเป็นเส้นตัดเข้าเมือง เป็นทำเลมีศักยภาพ ปัจจุบันคนที่ซื้อโครงการเนอวานาขายได้ราคาขึ้นอีกเท่าตัว”

“จากที่มีฐานด้านไฟแนนซ์และบังเอิญเป็นผู้ดูแลเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจอสังหาฯที่เป็นลูกค้าแบงก์ ได้ทำงานด้านกองทุนอสังหาฯ เลยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาฯ ซึ่งโอกาสดีที่สุดคือการดูแลปรับปรุงโครงสร้างหนี้รายย่อย ได้เรียนรู้จากนักพัฒนาที่ดินว่าเจอปัญหาอะไร ได้รู้ว่าการทำให้บูมไม่ยาก แต่ทำยังไงไม่เจ๊ง ยากกว่า ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากคนอื่นว่าธุรกิจที่ล้มเหลวจากไหน”

จึงเป็นที่มาของการเลือกทำบ้านสั่งสร้างตั้งแต่แรก เพราะบ้านสร้างเสร็จโอกาสพลาดมี เพราะอำนาจอยูที่แบงก์เกือบหมด อย่างปี 2540 ธุรกิจอสังหาฯบางรายไม่ใช่ขายโครงการไม่ได้ แต่แบงก์ไม่ปล่อยกู้ให้ แบงก์ปิดตัว โครงการก็สร้างต่อไม่ได้ ทำให้รู้ว่าการทำธุรกิจต้องลดการพึ่งพาแบงก์ ปัจจุบันกลายเป็นจุดเด่นของเนอวานา สร้างความมั่นใจให้ลูกค้าว่าได้บ้านแน่นอน

ถามถึงจุดเด่นของแบรนด์ เนอวานา หลายคนอาจมองเรื่องดีไซน์ แต่คุณพีบอกว่า เด่นจริงไม่ใช่สไตล์บ้าน แต่คือ ทำเล “ข้อดีของผมคือเริ่มต้นจากที่ไม่ได้เป็นแลนด์ลอร์ด เราจึงเลือกลูกค้าก่อน นี่คือ Key Success เพราะช่วงเริ่มธุรกิจประมาณปี 2545 คนไทยเพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตปี 2540 จึงคิดว่ากลุ่ม Young Executive คือกลุ่มลูกค้าของเนอวานาเพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง แพงไม่ว่า ทำเลต้องไม่ไกล ผมคิดว่าเลือกกลุ่มลูกค้าไว้ก่อน ธุรกิจเป็นตายอยู่ที่ลูกค้า ถ้าลูกค้ารอด โครงการก็รอด ถ้าลูกค้าเดี้ยง นักพัฒนาที่ดินเก่งแค่ไหน ก็เดี้ยง นี่คืออีก Key ที่เราได้เรียนรู้”

และอีกสิ่งที่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ให้ผลลัพธ์เกินคาด นั่นคือการเปิดใจรับฟังความเห็นของลูกบ้าน คุณพีได้ขอคำแนะนำจากเพื่อนระดับซีอีโอถึงการทำหมู่บ้าน ได้คำแนะนำที่นึกไม่ถึงคือควรมีที่เติมลมในหมู่บ้าน เพราะบ้านระดับใช้ซุปเปอร์คาร์อย่าง ลัมโบร์กีนี ปอร์เช่ จะไปเติมลมที่ไหน และอีกข้อของคนเล่นรถจะเติมลมก่อนลมจะร้อน ดังนั้น จะวิ่งไกลไม่ได้หากไม่เติมลมก่อน “ผมจึงให้ความสำคัญกับการอยู่อาศัยของลูกบ้านต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบสนองได้จริง จึงย้ำกับพนักงานขายทุกคนต้องไปดูบ้านจริง ไปเจอกับลูกค้าเพื่อรับฟังสิ่งที่เขาต้องการ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องทัศนคติ เป็นเรื่องการใส่ใจลูกบ้าน ดังนั้นทุกโครงการของเนอวานา นอกจากมีที่เติมลมแล้ว ยังมีการเดินไฟเบอร์ออปติกทั้งหมู่บ้าน มีฟรีไวไฟ”

ถามถึงการทำธุรกิจอสังหาฯจากจุดเริ่มต้นถึงปัจจุบัน ต่างกันไหม คุณพีบอกว่าทุกอย่างมีเปลี่ยน เป็นเราที่ต้องปรับตัวเรียนรู้อยู่กับปัจจุบัน แต่ขอ Keep เคล็ดลับบางไว้ นั่นคือความใส่ใจทุกรายละเอียด เพราะถือว่าคนคนหนึ่งนำคนที่เขารักที่สุดมาอยู่กับเรา “ทุกวันนี้ผมจะเลือกดูทำเลเองทุกแปลง ดูเช้า-เย็น และกลางคืน ให้รู้ว่าแต่ละช่วงเวลาสภาพโดยรอบเป็นอย่างไร ช่วงกลางคืนการเดินทางกลับบ้าน โดยเฉพาะลูกสาวจะเป็นอย่างไร จะเปลี่ยนหรือไม่ ผมทำ เนอวานา เสมือนบ้านอยู่เอง เพราะบ้านคือ 1 ในปัจจัย 4 ผมเปรียบกับข้าวที่แม่ทำอร่อยฉันใดเพราะความเอาใจใส่มันมากกว่ากัน”

ถามถึงเรื่องที่ประเทศไทยจะมีระบบ 5จี ในปีนี้ คุณพีบอกว่า เนอวานา ทำบ้านรองรับ 5จี มานานแล้ว วางระบบไว้พร้อมทุกโครงการ ถ้า 5จี เกิด เนอวานาจะมีลูกเล่นให้ลูกบ้านเยอะขึ้น และวันนี้กำลังทำหมู่บ้านให้มีคัสเตอร์ออฟฟิศ เป็นพื้นที่นั่งทำงานของลูกบ้าน อีกหน่อยไม่ต้องเดินทางไปออฟฟิศ แต่สามารถนั่งทำงานในละแวกหมู่บ้านได้แทน โดยจะเริ่มพัฒนาในโครงการกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ ที่จะมีพื้นที่ทำงานที่มีคุณภาพ มีที่สีเขียวพื้นหญ้าให้ผ่อนคลาย ซึ่งเรากำลังทำแคมปัส ออฟฟิศ คล้ายออฟฟิศแบบกูเกิล และอีกโปรเจ็กต์ที่กำลังคุยกับพาร์ตเนอร์ คือทำมอลล์ คอมเมอร์เชียลหน้าหมู่บ้าน รวมถึงจะมีเมดิคอล พลาซ่า กำลังคุยกับคุณหมอ รองรับสังคมสูงวัย ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก แต่ไม่ใช่การทำบ้านเพื่อผู้สูงอายุในวันนี้ แต่จะขายบ้านสำหรับผู้จะสูงอายุ หรือกลุ่มเจนเอ็กซ์รุ่นแรกๆ

สุดท้ายคุณพีกล่าวย้ำอีกครั้งก่อนจบการสนทนา “ผมไม่ได้ทำเพราะ เมคมอร์มันนี่ เพียงอย่างเดียว แต่ตั้งใจทำเพื่อให้บ้าน…อยู่แล้วติดใจ”

เป็นวิธีคิดที่ทำให้ลูกบ้าน “เนอวานา” ซื้อเพื่ออยู่อย่างแท้จริง

เกษมณี นันทรัตนพงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image