‘จุรินทร์’ควง 80 นักธุรกิจเยือนอินเดีย ตะลุยการค้า‘เบงกาลูรู-ไฮเดอราบัด’

‘จุรินทร์’ควง 80 นักธุรกิจเยือนอินเดีย ตะลุยการค้า‘เบงกาลูรู-ไฮเดอราบัด’

‘จุรินทร์’ควง 80 นักธุรกิจเยือนอินเดีย ตะลุยการค้า‘เบงกาลูรู-ไฮเดอราบัด’

อินเดีย เป็นหนึ่งในแผนงานบุกตลาดส่งออกของไทยในปี 2563 ที่จะจัดคณะเยือน 18 ประเทศ 16 ทริป ตามนโยบาย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหวังให้อินเดียเป็นตลาดใหม่ที่อนาคตผลักดันให้มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากไทยไม่ด้อยกว่าการนำเข้าของจีน ด้วยเป็นประเทศที่มีจำนวนประชาชนนับเป็นพันล้านคน มีกลุ่มรายได้สูงถึงปานกลาง และเศรษฐกิจขยายตัวในระดับสูงไม่ต่างจากจีน

ทั้งให้สอดคล้องพอดีกับสินค้าพืชเป้าหมายที่ไทยจะนำไปเสนออินเดียมีผลผลิตเพียงพอ คือ แป้งมันสำปะหลังและยางพารา รวมถึงผลไม้หน้าร้อนที่กำลังออกสู่ตลาดใน 1-2 เดือนจากนี้ อินเดียจึงถูกหยิบเป็นทริปแรกของปี โดยครั้งนี้ นายจุรินทร์นำคณะภาครัฐและธุรกิจเอกชนกว่า 80 รายไปเปิดเจรจาการค้าที่ เมืองเบงกาลูรู (ชื่อเดิมบังกาลอร์) และ เมืองไฮเดอราบัด ช่วงวันที่ 16-20 มกราคมที่ผ่านมา

จากการบอกเล่าของ สมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า การเดินทางเยือนเมืองบังกาลอร์และไฮเดอราบัดครั้งนี้ เป็นการเจาะตลาดอินเดียเพิ่มเติมในรัฐกรณาฏกะและรัฐเตลังคานา ต่อจากเดือนกันยายนปีก่อนนำคณะไปเยือนเมืองมุมไบ รัฐมหาราษฏระ และเมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑู ซึ่งเป็นการดำเนินการขยายตลาดอินเดียเชิงรุกตามนโยบายของรองนายกฯ (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ที่มุ่งเจาะตลาดเป็นรายรัฐของอินเดีย รวม 8 รัฐเป้าหมาย ได้แก่ รัฐมหาราษฏระ รัฐทมิฬนาฑู รัฐกรณาฏกะ รัฐเตลังคานา รัฐคุชราต นิวเดลี รัฐเบงกอลตะวันตก และรัฐเจ็ดสาวน้อยหรือรัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

Advertisement

“การตอกย้ำความเชื่อมั่นว่าอินเดียจะเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ของไทยที่มีศักยภาพอย่างยิ่งในอนาคตต่อไป และเปิดประตูแห่งโอกาสทางการค้าบานใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่มองข้ามไม่ได้ กรมเน้นเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคอินเดียที่มีกำลังซื้อหรือคนฐานะปานกลางขึ้นไปจนถึงร่ำรวยในอินเดีย ที่มีถึง 200-300 ล้านคน ผ่านช่องทางการค้าสมัยใหม่ รวมถึงเน้นขยายตลาดสินค้าไทยผ่านร้านค้าออนไลน์ TOPTHAI Store บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของอินเดีย (Bigbasket.com) สอดคล้องตามแนวโน้มการค้าของโลกยุคดิจิทัลที่ผู้บริโภคอินเดียนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งหากเทียบกับจำนวนประชากรอินเดียทั้งประเทศ แม้ว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงนัก แต่ถือว่าเป็นจำนวนมหาศาลมากกว่าประชากรไทยทั้งประเทศกว่า 4 เท่า”

สำหรับเมืองบังกาลอร์หรือชื่อทางการว่าเมืองเบงกาลูรู อยู่ในรัฐกรณาฏกะ เป็นเมืองได้รับการขนานนามว่า “ซิลลิคอนวัลเลย์แห่งอินเดีย” เพราะเป็นศูนย์กลางหรือฮับด้านไอทีของอินเดีย มีบริษัทชั้นนำทั้งของอินเดียและต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจตั้งสาขาในเมืองนี้จำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานโดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น และทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ขยายตัวตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัย โรงแรม ห้างสรรพสินค้า การท่องเที่ยว เป็นต้น ทำให้มีความต้องการสินค้าและบริการต่างๆ หลากหลาย
ประเภทเพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนเมือง รวมถึงความต้องการของนักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดวัสดุก่อสร้างและวัสดุตกแต่ง ซึ่งเป็นโอกาสของสินค้าและบริการของไทยที่จะเข้ามาเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคอินเดียได้แทบจะทุกประเภท เล็งเห็นว่าโอกาสการขยายธุรกิจของไทยในกลุ่มธุรกิจก่อสร้างและวัสดุตกแต่งในอินเดียยังมีอยู่อีกมาก ที่ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคเพื่อรองรับนโยบาย Make in India และ Smart Cities เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

Advertisement

ขณะที่เมืองไฮเดอราบัดตั้งอยู่ในรัฐเตลังคานา เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยา ไอที และเทคโนโลยีชีวภาพของอินเดีย ผู้บริโภคเป็นกลุ่มซุปเปอร์ริชและมุสลิม สินค้าและบริการเป้าหมายของไทยที่มีศักยภาพในรัฐนี้ ได้แก่ อาหารฮาลาล วีแกน เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรบริโภคอาหารมังสวิรัติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไม้ยางพารา เนื่องจากรัฐเตลังคานากำลังมีนโยบายเฟอร์นิเจอร์ปาร์ค แป้งมันสำปะหลังเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยา รวมถึงบริการรับจัดงานแต่งงานเนื่องจากคนอินเดียนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวและจัดงานแต่งงานที่ไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เป็นต้น

ในแผนการขยายตลาดอินเดียจากนี้จะเริ่มจากกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าอาหารและผลไม้ไทย (Thai Food and Fruits Fiesta) ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตรีไลแอนซ์ 25 สาขาในรัฐเตลังคานา รัฐทมิฬนาฑู และรัฐอานธรประเทศ เป็นเวลา 1 เดือน นับจากเยือนเมืองไฮเดอราบัด รัฐเตลังคานา รวมถึงมีแผนจัดงานแสดงสินค้า Top Thai Brands2020 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าประจำทุกปีที่มีการคัดเลือกสินค้าแบรนด์ไทยที่มีศักยภาพไปเจรจาการค้าจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าอินเดีย รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภครายย่อย เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาสินค้าและบริการ โดยปีนี้จะจัดใน 3 เมืองสำคัญ คือ เมืองจัณฑิครห์ รัฐปัญจาบและหรยาณา ระหว่างวันที่ 12-15 มีนาคม เมืองปูเน่ รัฐมหาราษฏระ ระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคม และเมืองเจนไน ระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม ทั้งมีแผนจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจในเมืองสุรัต รัฐคุชราต และเมืองอินดอร์ รัฐมัธยประเทศ พร้อมเชิญผู้แทนการค้าอินเดียเดินทางเยือนงานแสดงสินค้านานาชาติของไทย อาทิ งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ช่วงวันที่ 25-29 กุมภาพันธ์ งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม Thaifex-Anuga ช่วงวันที่ 26-30 พฤษภาคม เป็นต้น

วันสุดท้ายของการเยือน นายจุรินทร์เผยถึงผลการเยือนอินเดียครั้งนี้ “ถือว่าประสบความสำเร็จ ภาคเอกชนสามารถตกลงซื้อขายสินค้าได้รวม 2,785 ล้านบาท อาทิ ไม้ยางพารา 12,280 ลูกบาศก์เมตร แป้งมันสำปะหลัง 4,500 ตัน กาวผง 1,200 ตัน และสินค้าอื่นๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ อาหาร เคมีภัณฑ์ เสื้อผ้า ทีวี LCD 1,280 เครื่อง รวมถึงเปิดตัวสินค้าไทยบนเว็บไซต์ Bigbasket.com ของอินเดีย และเปิดตลาดอาหารและผลไม้ไทย อาทิ ทุเรียน มังคุด ลำไย สับปะรด มะม่วง เงาะ ฝรั่ง มะพร้าวน้ำหอม มะขามหวานและลิ้นจี่ รวมถึงเครื่องปรุงอาหารในห้างรีไลแอนซ์ค้าปลีกรายใหญ่ในอินเดียมีสาขาทั่วประเทศกว่าหมื่นสาขา

หากดูสถิติการค้าปี 2561 อินเดียเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 10 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียใต้ มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 12,493 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.45% จากปี 2560 โดยไทยได้ดุลการค้า 2,763 ล้านเหรียญสหรัฐ ย้อนไปดูการค้าเฉลี่ยปี 2557-61 พบว่าเกือบหมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แม้ในปี 2562 เศรษฐกิจโลกจะมีปัญหาแต่การค้ากับอินเดียยังโตได้ดีและสูงกว่าประเทศอย่างจีนและสหรัฐ

ประกอบกับการเยือนครั้งนี้ได้เห็นถึงการพัฒนาประเทศผ่านโครงการก่อสร้าง และพฤติกรรมคนอินเดีย เปิดกว้างรับกระแสเทคโนโลยี และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก”

ไม่แปลกใจที่ปีนี้กระทรวงพาณิชย์วางเป้าหมายการส่งออกสู่ตลาดอินเดียขยายตัว 3% สูงกว่าตัวเลขเป้าหมายส่งออกโดยรวม

นวลนิตย์ บัวด้วง

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image