ตลาดวาเลนไทน์ ฝ่าเศรษฐกิจซบเซา

14กุมภาฯ วาเลนไทน์เป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่คนไทยมีความทรงจำดีๆ มีกิจกรรมที่ทำขึ้นมากมายในหลายพื้นที่ เป็นเทศกาลที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากที่สุดเทศกาลหนึ่ง ซื้อหาของขวัญเป็นสื่อรักแทนใจ แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ไม่สู้ดีนัก ทั้งวิกฤตการณ์จากการแพร่กระจายของโรคไวรัสโคโรนา จนถึงสารมลพิษทางอากาศที่ตรวจพบฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินมาตรฐาน จึงส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยในแต่ละเทศกาล รวมถึงวันวาเลนไทน์

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพิ่งจะเปิดเผยผลสำรวจทัศนคติ พฤติกรรมและการใช้จ่ายช่วงวาเลนไทน์ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,234 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 27 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 57.1 ไม่วางแผนฉลองวาเลนไทน์ เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจแย่ลง ราคาสินค้าแพงขึ้น ประกอบกับมีไวรัสโคโรนาและปัญหาฝุ่น PM2.5 สร้างความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย แต่บางส่วนยังคงวางแผนไปทานข้าวร่วมกับคนรัก ซื้อของขวัญ ซื้อดอกไม้รวมถึงเดินห้าง ทำให้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในปีนี้อยู่ที่คนละ 1,814 บาท ลดลงจากค่าใช้จ่ายโดยรวมของปีก่อนหน้า ทำให้มูลค่าเงินสะพัดในช่วงวันวาเลนไทน์ปีนี้อยู่ที่ 3,246 ล้านบาท ขยายตัวติดลบ 1.23% เป็นการขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สะท้อนความไม่คึกคักของเศรษฐกิจและการจับจ่ายของประชาชนในช่วงวันวาเลนไทน์ที่ลดลง

ลองมาฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนกันบ้าง เมื่อสะท้อนกับสถานการณ์ที่ประดังเข้ามาเวลานี้

“บุญทา ชัยเลิศ” รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฝ่ายอาเซียนสัมพันธ์ ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวแม่แตง เผยสถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลแห่งความรักหรือวาเลนไทน์ ว่า ภาพรวมตลาดท่องเที่ยวภาคเหนือค่อนข้างซบเซา จากผลกระทบแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา ฝุ่นละออง PM2.5 เศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะค่าเงินบาทแข็ง นักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ จีน ยุโรป อเมริกา หายไปกว่า 90% เทศกาลวาเลนไทน์ปีนี้เชื่อว่าซบเซามากที่สุด เพราะนักท่องเที่ยวขาดความเชื่อมั่น ด้านความปลอดภัย และมาตรการป้องกันที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากที่สุด และยังส่งผลการท่องเที่ยวที่เกิดภาวะซบเซา ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน คาดสูญเสียรายได้นับหมื่นล้านบาท

Advertisement

“ช่วงแพร่ระบาดไวรัสดังกล่าว 1 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลยังไม่มีมาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่น และสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวมากนัก โดยเฉพาะงานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับที่ผ่านมา กิจกรรมจัดงานไม่มีอะไรแปลกใหม่ นักท่องเที่ยวบางตา ยอดจองห้องพักเพียง 40-50% เท่านั้น ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันฟื้นฟูจัดกิจกรรมหรือแคมเปญใหม่ อาทิ พัก 2 คืน แถม 1 คืน และลดราคาบริการ 30-50% เพื่อดึงดูดและจูงใจนักท่องเที่ยวมากขึ้น พร้อมใช้โอกาสดังกล่าวปรับปรุงมาตรฐาน คุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการ ให้ดีกว่าเดิม”

“บุญทา” ยังกล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะตลาดท่องเที่ยวเท่านั้น ยังส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเกษตร พืชผักผลไม้ อาจมีผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยเฉพาะตลาดดอกไม้สด ช่วงวาเลนไทน์ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะกำลังซื้อลดลง ประกอบกับมีการส่งข้อความวันแห่งความรักผ่านไลน์ และโซเชียลมีเดีย แทนการมอบดอกไม้ หากผ่านพ้นช่วงวิกฤต 6 เดือนแล้ว เชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวดีขึ้น มั่นใจว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาอีกครั้ง ทำให้สถานการณ์ท่องเที่ยวเข้าสู่ภาวะปกติต่อไป

ขณะที่บรรยากาศตลาดดอกไม้ภายในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ปกติเมื่อเข้าถึงช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ จะมีความคึกคักต่อเนื่อง แต่ในวันนี้ร้านจำหน่ายดอกไม้เงียบเหงาไม่คึกคักอย่างที่เคย

Advertisement

“วัฒนา โนนทิง” เจ้าของร้านดอกไม้สด ถนนชวนชื่น ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ร้านดอกไม้เริ่มมีความเสี่ยงและต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไปในแต่ละปี บางปีดอกไม้ประเภทนี้ขายดี บางปีขายไม่ได้เลย เราไม่สามารถคาดคะเนอะไรได้ ทุกวันนี้เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้ถูกใจลูกค้า เราก็จะไม่ได้ซ้ำกัน ทางร้านมีการปรับเปลี่ยน พยายามหาแบบใหม่ๆ ปีนี้ลองทำแล้วไปได้ดี เราก็จะลองต่อไป และทำตามคำแนะนำของลูกค้าเป็นสำคัญ

“นี่ใกล้เข้าวันแห่งความรักแล้ว ยังไม่มีลูกค้ามาสั่งจัดดอกไม้เลย คงเหมือนปีที่แล้วจะมีลูกค้ามาสั่งวันที่ 14 กุมภาพันธ์เลย ไม่มีมาสั่งจัดให้ก่อน ถือเป็นความเสี่ยงและกังวลอย่างมาก เมื่อก่อนจะสั่งจองล่วงหน้าจัดเป็นช่อทั้งเล็กและใหญ่ ออเดอร์มาก่อนล่วงหน้า 3-5 วัน ตอนนี้ลูกค้าปรับเปลี่ยนซื้อเพียงดอกเดียวตามกำลังของผู้ซื้อ ดอกกุหลาบส่วนใหญ่ทางร้านจะสั่งตรงจากเชียงใหม่และจีน แต่ที่เป็นที่นิยมของลูกค้าก็จะเป็นดอกกุหลาบจากเชียงใหม่ เพราะราคาถูกกว่า ปกติจะสั่งดอกกุหลาบเชียงใหม่อาทิตย์ละ 2 ลัง แต่ช่วงเทศกาลวันแห่งความรักต้องเพิ่มเป็น 4-5 ลัง โดยต่อ 1 ลัง จะมีดอกกุหลาบ 400 ดอก ราคาต่อลังอยู่ที่ 11,100 บาท ส่วนดอกกุหลาบของจีน 1 ลัง จะมีอยู่ 300 ดอก ราคาอยู่ที่ 11,100 บาท เช่นกัน ทางร้านจะขายดอกกุหลาบของเชียงใหม่ ดอกละ 50-100 บาท แล้วแต่ขนาดของดอก ส่วนกุหลาบเมืองจีนจะเริ่มที่ดอกละ 80 บาทขึ้นไป สำหรับที่จัดเป็นช่อก็จะเริ่มที่ช่อละ 200 บาทขึ้นไป ตามขนาดและความต้องการของลูกค้า ดอกกุหลาบของเชียงใหม่นั้นมีดอกใหญ่และสวย แต่อยู่ได้นานไม่เกิน 1 สัปดาห์ แต่ดอกกุหลาบของจีนมีดอกที่ใหญ่เหมือนของเชียงใหม่ แต่เก็บได้นานถึง 1 เดือน”

เจ้าของร้านดอกไม้สดยังกล่าวอีกว่า วัยรุ่นก็ยังให้ความสำคัญกับวันแห่งความรัก แต่ปรับเปลี่ยนมามอบสิ่งของที่เก็บไว้ได้นานมากกว่า ไม่ค่อยเน้นดอกกุหลาบเหมือนเมื่อก่อน แต่ดอกกุหลาบก็ยังมีมอบให้บ้างประปราย จะไม่เน้นเป็นช่อ ให้ครั้งละ 1 ดอกแทน ตอนนี้ร้านดอกไม้นั้นขายยากไม่เพียงดอกกุหลาบ ดอกไม้บูชายอดขายก็ลดจากเดิมมากกว่าครึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจที่ซบเซาลง เศรษฐกิจนั้นเกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับทางร้านมาก ลูกค้ามีงบจำกัด งบน้อยลง ทำให้ลูกค้าน้อยลงไปด้วย

ด้าน “พิชัย มะนะสุทธิ์” ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง กล่าวถึงการจัดกิจกรรมพิธีวิวาห์ใต้สมุทร 2020 ครั้งที่ 24 (The 24 th Trang Underwater Wedding Ceremony) ของจังหวัดตรังที่จะจัดขึ้นวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2563 โดยในปีนี้เป็นปีที่ 24 มีคู่บ่าวสาวร่วมงานจำนวน 20 คู่ เป็นชาวไทย 15 คู่ และชาวต่างชาติ 5 คู่ คือ มาเลเซีย ไทย-แคนาดา ไทย-สวีเดน ไทย-จีน และไทย-เยอรมนี ว่า การจัดงานวิวาห์ใต้สมุทรจังหวัดตรัง เป็นการตอกย้ำและแสดงให้เห็นว่าจังหวัดตรังมีความมั่นใจต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ มลภาวะอากาศที่เป็นพิษ ฝุ่น PM2.5 หรือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้จังหวัดตรังท้อถอย ในทางกลับกันต้องสู้ ยิ่งเศรษฐกิจแย่ก็ต้องยิ่งต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว จังหวัดตรังที่เป็นเมืองรองด้านการท่องเที่ยว ตรังโชคดีที่มีสภาพภูมิประเทศและอากาศที่ดี ทั้งทะเล ภูเขา ความเงียบสงบ ล่าสุดตรังถูกจัดให้อยู่ใน 1 ใน 5 อากาศดีในเอเชีย เป็นจุดขายให้กับจังหวัดตรังด้วย

“ส่วนการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ดูแลอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว ที่สำคัญ ในปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยมาเที่ยวงานประมาณ 80% ที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคาดว่าจะมีเงินสะพัดในช่วงวิวาห์ใต้สมุทรกว่า 10 ล้านบาท” ประธานหอการค้าจังหวัดตรังกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image