เข้มโรงไฟฟ้าชุมชน สกัดจุดมืดในแสงสว่าง ‘นายทุนฮุบ’

ภายหลัง สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกาศนโยบายผลักดันนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน มุ่งหวังให้นโยบายนี้เป็นกลไกหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มรายได้ประชาชน ให้เกษตรกรมีรายรับที่่มั่นคง ภายใต้กรอบแนวคิด 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1.โรงไฟฟ้าชุมชนจะใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 2.โรงไฟฟ้าชุมชนจะมุ่งช่วยเหลือดูแลด้านสิ่งแวดล้อม และใช้ประโยชน์จากของเสียจากการเกษตร อาทิ ชานอ้อย แกลบ ซังข้าวโพด 3.โรงไฟฟ้าชุมชนจะผลักดันให้ยุทธศาสตร์องค์กร ผ่านแนวทางกิจการเพื่อสังคม และ 4.โรงไฟฟ้าชุมชนจะเพิ่มศักยภาพชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างอาชีพในพื้นที่ชุมชน และสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนอยากทำงานในพื้นที่บ้านเกิด

โครงสร้างการลงทุน ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ภาครัฐ ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของเอกชนและชุมชนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกรอบนโยบาย และติดตามตรวจสอบข้อมูล เพื่อบริหารจัดการระบบไฟฟ้าของประเทศ ภาคชุมชน จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพิสูจน์ทราบด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม และทำหน้าที่จัดหาเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าตลอดอายุ 20 ปี และภาคเอกชน จะทำหน้าที่เร่งกระบวนการทำงานและบริหารจัดการโรงไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และทำหน้าที่สรรหาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดกับการดำเนินงาน
ยกตัวอย่าง หากมีชุมชนใดชุมชนหนึ่ง มีโรงไฟฟ้าชุมชน เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ ขนาด 1 เมกะวัตต์ ระยะเวลาดำเนินงาน 20 ปี จะสามารถสร้างเงินหมุนเวียนเข้าระบบเศรษฐกิจชุมชนตลอดอายุโครงการ ประมาณ 280 ล้านบาท

แบ่งเป็น เงินหมุนเวียนจากพืชพลังงานใช้เป็นเชื้อเพลิง มูลค่า 10 ล้านบาทต่อปี เกิดกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า มูลค่า 8 หมื่นบาทต่อปี สนับสนุนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่อีกมูลค่า 2.4 ล้านบาทต่อปี และยังมีรายได้จากเงินปันผลจากโรงไฟฟ้าอีกมูลค่า 2 ล้านบาทต่อปี และประเมินว่าหากเกษตรกรสามารถปลูกพืชพลังงาน และได้ผลิตมากกว่าคาดการณ์ จะสามารถสร้างรายได้จากการผลผลิตดังกล่าวเพิ่มอีก 5 ล้านบาทต่อปี รวมมูลค่าตลอดอายุโครงการโรงไฟฟ้า จะอยู่ที่ 100 ล้านบาท

ช่วงปลายปี 2562 ตามคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เป็นสัญญาประเภทไม่เสถียร หรือนอน-เฟิร์ม สามารถใช้ระบบกักเก็บพลังงานร่วมด้วยได้ และห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงเริ่มต้นเดินเครื่อง ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2563-2565 จะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเกิดการลงทุนประมาณ 70,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปีจากนี้

Advertisement

กพช.ยังมอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปออกหลักเกณฑ์การรับซื้อและให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นเจ้าภาพในการดำเนินงาน พร้อมตั้งคณะกรรมการบริหารรับซื้อไฟ ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานในการกำกับดูแล นอกจากนี้ ยังกำหนดรูปแบบโรงไฟฟ้า เป็นรูปแบบโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก หรือวีเอสพีพี ขนาดกำลังผลิต ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าหมายจะเปิดรับซื้อไฟได้ประมาณ มีนาคม-เมษายน 2563 จากมติยังกำหนดให้เดินหน้าผลิตจริงและจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ แบ่งออกเป็น 2 โครงการ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้า ควิกวิน เป็นโครงการที่ให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563

สำหรับโรงไฟฟ้าควิกวิน จะเป็นให้โรงไฟฟ้าก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จ เข้ามาร่วมโครงการนำร่องของภาครัฐและตามด้วยเอกชนที่มีความพร้อม และกลุ่มต่อมาคือโครงการก่อสร้างใหม่ทั่วไป จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เป็นต้นไป

รูปแบบร่วมทุน ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) สัดส่วนประมาณ 60-90% 2.กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) สัดส่วนประมาณ 10-40% (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่า 10% และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกรวมแล้วไม่เกิน 40%) มีส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นให้กับกองทุนหมู่บ้านในพื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นของโรงไฟฟ้านั้นๆ มีอัตราส่วนแบ่งรายได้ 1.สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่ต่ำกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย 2.สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ผสมผสาน หรือไฮบริด ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย

Advertisement

สำหรับรูปแบบโรงไฟฟ้ามี 4 โมเดล ได้แก่ 1.ชีวมวล 2.ชีวภาพ (น้ำเสีย-ของเสีย) 3.ชีวภาพ (พืชพลังงาน) และ 4.ไฮบริดหรือผสมผสาน คือ 1+2+3 รวมกับพลังงานแสงอาทิตย์ ราคารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบตามต้นทุนผลิตที่แท้จริง หรือฟีด อิน ทารีฟ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ 2.90 บาทต่อหน่วย เชื้อเพลิงชีวมวลที่กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 เมกะวัตต์ ในอัตรา 4.8482 บาทต่อหน่วย ชีวมวลกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ ในอัตรา 4.2636 บาท ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ในอัตรา 3.76 บาทต่อหน่วย ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน 100%) ในอัตรา 5.3725 บาทต่อหน่วย ก๊าซชีวภาพพืชพลังงานผสมน้ำเสีย/ของเสีย ในอัตรา 4.7269 บาทต่อหน่วย รวมทั้งกำหนดราคารับซื้อฟีด อิน ทารีฟ พรีเมียมให้กับพื้นที่พิเศษที่อยู่ในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพิ่มอีก 0.50 บาทต่อหน่วย ในทุกชนิดเชื้อเพลิง

ล่าสุด มีข้อมูลว่า นอกจากแผนโรงไฟฟ้าชุมชนระยะแรก 700 เมกะวัตต์ ช่วงปี 2563-2565 แล้ว กระทรวงพลังงานจะกำหนดโควต้ารวมของโรงไฟฟ้าชุมชนอยู่ที่ 1,900 เมกะวัตต์ ตลอด 20 ปีล้อไปกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) จึงมีการประเมินเบื้องต้นว่าค่าไฟฟ้าจากนโยบายนี้อาจเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10 สตางค์ต่อหน่วย
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กล่าวถึงความคืบหน้าโรงไฟฟ้าชุมชน ว่า วันที่ 17 กุมภาพันธ์ จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเพื่อพิจารณารายละเอียดร่างหลักเกณฑ์ (ทีโออาร์) โรงไฟฟ้าชุมชนที่โดยเฉพาะโครงการรูปแบบเร่งรัดหรือกลุ่มควิกวิน (ควิก วิน) จะเร่งรัดการเปิดประมูลเพื่อให้โรงไฟฟ้าจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) ได้ภายในปีนี้ และจากนั้นจะเป็นโรงไฟฟ้าส่วนที่เหลือ (โรงไฟฟ้าทั่วไป) จะก่อสร้างและจ่ายไฟได้ในสิ้นปี 2564

แต่ยังไม่ทันไร เริ่มมีกระแสข่าวเกี่ยวกับการวิ่งเต้นโรงไฟฟ้าผ่านเจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมืองในพื้นที่ จนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต้องออกมาตอกย้ำถึงความโปร่งใสอย่างต่อเนื่อง ประเด็นนี้ ปลัดกระทรวงพลังงานระบุว่า เกณฑ์ที่หารือต้องดูว่าชุมชนจะได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างไร เกณฑ์พิจารณาด้านผลตอบแทนชุมชนเบื้องต้นอาจอยู่ที่ 60% ต้องดูว่ามีสายส่งรองรับหรือไม่ เมื่อเชื้อเพลิงมีแล้วเกิดปัญหาภัยแล้งจะซื้อมาจากที่อื่นได้หรือไม่ เหล่านี้จะกำหนดให้ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาความไม่โปร่งใสตามที่มีข่าวเกี่ยวกับการวิ่งเต้น ถือเป็นเรื่องดีเมื่อมีกระแสข่าวเช่นนี้ก็จะได้วางหลักเกณฑ์ รายละเอียดให้เข้มงวด รอบคอบ ชัดเจนขึ้น เพื่อให้ตลอด 3 ปี (2563-2565) จะต้องผลิตไฟฟ้ารวม 700 เมกะวัตต์ ตามเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานวางไว้
ปลัดกระทรวงพลังงานยังให้ข้อมูลว่า ขณะนี้กระทรวงได้กำหนดให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนต้นแบบ 4 แห่ง เป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวภาพที่ทับสะแก 1 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลที่แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ขนาด 1 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 2 แห่งเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เชื้อเพลิงชีวมวลผสมหลายชนิด ที่บันนังสตา จ.ยะลา และที่แม่ลาน จ.ปัตตานี ทั้งหมดจะก่อสร้างเสร็จและจ่ายไฟสิ้นปีนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image